ศิริราช เปิดตัวเทคโนโลยีการเรียนการสอนด้าน Facial Anatomy – การทำหัตถการบนใบหน้า ด้วย VR
ศิริราชเปิดตัวเทคโนโลยีการเรียนการสอนด้าน Facial Anatomy และการทำหัตถการบนใบหน้า ด้วย Virtual Reality (VR)
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เป็นประธานงานแถลงข่าว “Advancing Education with 3D Anatomy Software and Virtual Reality for Facial Injections” between Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University, Thailand and SurgiMind INC, South Korea” โดยมี ศ. ดร. พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา หัวหน้าภาควิชา ตจวิทยาและหัวหน้าศูนย์เลเซอร์ผิวหนังศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล พร้อมด้วย ผศ. นพ.ณปกรณ์ แสงฉาย หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ผศ. พญ.ธัญญา เดชะพิเชฐวณิช ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล และ Mr. Kim IL CEO บริษัท Surgical Mind พร้อมทั้งร่วมลงนาม MOU เพื่อร่วมพัฒนาเทคโนโลยีการเรียนการสอนแพทย์ในการทำหัตถการบนใบหน้าของผู้ป่วย ณ อาคารศูนย์วิจัยทางการแพทย์ (SIMR) ชั้น 1 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
ศ. นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงการสนับสนุนของคณะฯ ในการให้ความสำคัญของการเรียนการสอนแพทย์ว่า “หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล คือด้านการเรียนการสอน เรามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างองค์ความรู้และบริการอันเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพระดับโลก เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ด้านสุขภาพ ตลอดจนผลิตบัณฑิต บุคลากรด้านสุขภาพ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ตอบสนองต่อความต้องการในอนาคตให้มีคุณภาพ คุณธรรม ทันสมัย ได้มาตรฐานสากล ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์ ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่สิ้นเปลืองทรัพยากร ในอดีต เราใช้ร่างอาจารย์ใหญ่เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษาเรียนรู้และฝึกการทำหัตถการกับผู้ป่วย ก่อนที่จะไปทำหัตถการกับคนไข้จริง ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยทักษะและความเชี่ยวชาญในการทำหัตถการ ดังนั้น เราจึงหาวิธีที่จะให้นักศึกษาฝึกทักษะเหล่านี้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อลดการใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
ศ. ดร. พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา หัวหน้าภาควิชาตจวิทยา และหัวหน้าศูนย์เลเซอร์ผิวหนังศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงความจำเป็นในด้านเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน Facial Anatomy ในแพทย์ที่ทำหัตถการบนใบหน้าว่า “แต่เดิมนั้น นักศึกษาแพทย์จะลองฝึกหัตถการบนเปลือกผลไม้ ด้วยการฝึกการใช้มีดลอกเปลือกมะเขือเทศเป็นชั้นๆ โดยที่ผลเนื้อในยังคงความสวยงาม ไม่เป็นรอยช้ำ ซึ่งถือเป็นสื่อการเรียนการสอนที่เรียกว่า Fruit lab จากนั้นก็เริ่มฝึกทักษะฉีดยากับหุ่นจำลองทางการแพทย์ ซึ่งหุ่นจำลองดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากสถานเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ในการผลิตขึ้น โดยมีการจำลองผิวหนังเทียมเสมือนกับผิวหนังของร่างกายคน ก่อนที่จะฝึกการทำหัตถการบนร่างอาจารย์ใหญ่
ซึ่งในแต่ละเดือนจะใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ เพื่อหัตถการด้านเสริมความงามด้วย Botulinum Toxin และสารเติมเต็มมากกว่าเดือนละครั้ง และในการทำหัตถการแต่ละครั้งจะใช้เพียงเฉพาะใบหน้าเท่านั้น ทำให้เป็นการสิ้นเปลืองร่างอาจารย์ใหญ่ ส่วนตัวจึงมีความเห็นว่าเราควรใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ในการฝึกหัตถการอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุด มากกว่าการทำหัตถการเพื่อความสวยงาม
เราพยายามคิดค้นหาวิธีพัฒนาขีดความสามารถวงการแพทย์สู่อนาคตด้วยเทคโนโลยีที่จะมาช่วยลดการใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.2562 ได้มีโอกาสรู้จักกับบริษัท Surgical Mind เป็นบริษัทผลิตเกมส์จากประเทศเกาหลีและต้องการสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ มาร่วมกันออกแบบโปรแกรมนี้”
Mr. Kim IL CEO บริษัท Surgical Mind กล่าวว่า “เราร่วมออกแบบโปรแกรม Anatomy 2D-3D เพื่อการเรียนการสอน Anatomy และฝึกฝนการทำหัตถการ โดยเริ่มจากการทำโปรแกรม Anatomy ในระบบ 2D และพัฒนามาเป็นแบบ 3D มองเห็นรอบทิศทาง 360 องศา แสดงผลสาธิตแยกชิ้นส่วนของใบหน้าเป็นชั้น ๆ แบบเดียวกับการ Dissection ร่างอาจารย์ใหญ่ ทำให้การเรียนการสอนง่ายขึ้น โดยไม่สิ้นเปลืองร่างอาจารย์ใหญ่ ล่าสุดได้มีการพัฒนาโปรแกรมด้วยการนำเทคโนโลยี Mixed Reality (MR) โดยนำจุดเด่นของเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) รวมเข้าด้วยกัน ผู้เรียนสามารถฝึกทักษะหัตถการเสมือนจริง โดยใช้อุปกรณ์แว่นตา Hologram เป็นสื่อกลางที่จะช่วยมองเห็นวัตถุเสมือน ที่แสดงผลแบบ 3 มิติ ได้ในพื้นที่จริงคล้ายกับภาพ Hologram ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้เสมือนจริง นอกจากนี้ยังนำไปสู่การพัฒนาหุ่นจำลองในการทำหัตถการบนใบหน้าของผู้ป่วย ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาคาดว่าจะนำมาใช้ได้ภายในระยะเวลา 1-2 ปี ข้างหน้า”
อย่างไรก็ตามโปรแกรมดังกล่าวเป็นโปรแกรมออนไลน์จึงจะผลักดันให้เกิดการต่อยอดขยายองค์ความรู้ไปสู่ระดับสากล และนำมาใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ให้นักศึกษา ม.มหิดลสามารถใช้เรียนรู้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังวางแผนพัฒนาไปสู่รูปแบบของเกมออนไลน์ ให้นักศึกษาได้รับความสนุกไปพร้อมการเรียนรู้อีกด้วย
โปรเจคต์นี้จะเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์สมัยใหม่และเป็นโอกาสในการพัฒนาผลงานวิจัยที่มีคุณค่าที่มากกว่าการให้บริการทางการแพทย์ ตลอดจนพัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้ก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งมีส่วนช่วยขับเคลื่อนพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ทั้งด้านการเรียนการสอน การวิจัยและนวัตกรรม และการบริการทางการแพทย์ ผลิตบัณฑิต บุคลากรทางการแพทย์สู่สังคมและเป็นสถาบันการแพทย์ของแผ่นดิน ที่สร้างองค์ความรู้และบริการอันเป็นประโยชน์ต่อระบบสุขภาพระดับโลก