แห่ชม “ซูเปอร์ฟูลมูน” กว่า 1,000 คน ปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี!

เมื่อวันที่ 18 ต.ค.67 เพจเฟซบุ๊ก “NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” โพสต์รูป พร้อมข้อความระบุว่า  “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” คืนออกพรรษา 17 ตุลาคม 2567  พร้อมบรรยากาศชมซูเปอร์ฟูลมูนในธีมฮาโลวีน 

“ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ “ซูเปอร์ฟูลมูน” (Super Full Moon) ในวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ตรงกับวันออกพรรษา ดวงจันทร์มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,358 กิโลเมตร ส่งผลให้คืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เมื่อนำภาพถ่ายมาเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงช่วงใกล้-ไกลโลกที่สุดในรอบปี จะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าประมาณร้อยละ 14 เห็นความแตกต่างได้อย่างชัดเจน 

บรรยากาศการชมซูเปอร์ฟูลมูนคืนวันออกพรรษา 17 ตุลาคม 2567 ภายในอุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ. แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นไปอย่างคึกคัก มีชาวเชียงใหม่และใกล้เคียง รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่าพันคน ร่วมดูดาวชมจันทร์เต็มดวงผ่านกล้องโทรทรรศน์ ถ่ายภาพกับดวงจันทร์ยักษ์ ฟังเสียงเพลงขับกล่อม เพลิดเพลินกับ Special Talk “เรื่องเร้นลับของดวงจันทร์” พร้อมเล่นเกมตอบคำถาม สร้างความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นอย่างมาก ในงานดังกล่าวยังเชิญชวนแต่งกายในธีมฮาโลวีน อีกด้วย

สำหรับกิจกรรมชมซูเปอร์ฟูลมูน ณ จุดสังเกตการณ์หลักอื่น ๆ ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ขอนแก่น และสงขลา ฟ้าใสเป็นใจมีประชาชนในพื้นที่และใกล้เคียงเดินทางเข้าร่วมชมจันทร์ในคืนใกล้โลกที่สุดในรอบปี อย่างล้นหลามเช่นกัน

นอกจากไฮไลท์ของงานที่มีดวงจันทร์เต็มดวงปรากฏสว่างเด่นน่าตื่นตาแล้ว ช่วงหัวค่ำวันดังกล่าวยังสามารถสังเกตการณ์ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS) ปรากฏทางทิศตะวันตก นอกจากนี้ยังสามารถรับชมวัตถุท้องฟ้าอื่น ๆ ที่น่าสนใจผ่านกล้องโทรทรรศน์ อาทิ ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ และดาวพฤหัสบดี ฯลฯ 

ปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” ในปีถัดไปตรงกับวันที่ 5 พฤศจิกายน 2568 ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลปรากฎการณ์ดาราศาสตร์ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ 

About Author