สวนสุนันทา ผนึกกำลัง สสส. ร่วมภาคีเครือข่ายสุขภาวะทางปัญญา “ดูแลใจนักศึกษาให้รักตัวเอง”

วันที่ 2 ตุลาคม 2567 เวลา 08.30 – 17.00 น. ณ อาคารศูนย์สุขภาพและกีฬาสวนสุนันทา ชั้น 4 และ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โดย กองพัฒนานักศึกษา ฝ่ายวินัยและพัฒนานักศึกษา และฝ่ายกิจกรรมนักศึกษาและกิจการศิษย์เก่า ร่วมกับ สํานักระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สํานัก 11) สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นางสาวรัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย (แพท วงเคลีย) ศิลปินนักร้อง และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาวะทางปัญญา จัดกิจกรรม Soul Connect Fest at SSRU ภายใต้ โครงการสร้างเสริมสุขภาวะมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผ่านกิจกรรมจำนวน 5 กิจกรรม ได้แก่

1) พบเพื่อนใจ
2) Board game of Happiness
3) The Dream Scheme
4) Empathy Space – วงแห่งมิตรภาพและความเข้าใจ
5) และ 5.กลับสู่บ้านของหัวใจ “Come Back Home to Your Heart”

โดยในแต่ละกิจกรรม จะเป็นกิจกรรมที่ฝึกทักษะการเชื่อมตัวกับใจเข้าด้วยกัน และรับฟังเสียงจากภายใน ที่เป็นเพื่อนแท้ของ ตัวเราเอง โดยใช้ “การ์ดใจ” ซึ่งมีข้อความชวนคิด ให้มุมมองต่อชีวิตเป็น เครื่องมือชวนสนทนากลุ่มย่อย และกลุ่มใหญ่ ในบรรยากาศปลอดภัย ผ่อนคลาย และเป็นมิตร

ทั้งยังเป็นการค้นพบความสุขอย่างยั่งยืน ผ่านการสำรวจความทุกข์อย่างเข้าใจ ผ่านกิจกรรม หยิบการ์ด ระบายสี ล้อมวงสนทนา ในบรรยากาศผ่อนคลาย เพื่อเปิดใจให้ได้กลับมาใคร่ครวญถึงความสุข และความทุกข์ที่พร้อมจะเป็นทรัพยากรให้ผู้เข้าร่วมได้เปิดใจเรียนรู้ด้วยวิธีการเรียนรู้ในหลากหลายรูปแบบ เพื่อเชื่อมโยงกับตนเองและผู้อื่นโดยไม่มีเงื่อนไข รับรู้สภาวะอารมณ์ เสริมสร้างความเห็นอกเห็นใจ ต่อตนเองและผู้อื่น ปลดปล่อยอารมณ์หรือความรู้สึกเชิงลบ และสร้างแรงบันดาลใจ ระบุความฝัน และเป้าหมายของตนเอง

และฝึกทักษะแห่งความเข้าใจ บนพื้นฐานของ Nonviolent Communication (NVC) เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนและคนรอบข้าง สร้างความเข้าอกเข้าใจกัน สำรวจความรู้สึก รับรู้ความต้องการของกัน และกัน เรียนรู้วิธีรับมือและแปรเปลี่ยนความขัดแย้ง ให้กลายเป็นความเข้าใจในบรรยากาศชิล ๆ ของมิตรภาพและกำลังใจ

และสุดท้าย จะนำพาทุกคนกลับเข้าสู่บ้านแห่งหัวใจของตัวเอง พาไปสำรวจจิตใจพบความแข็งแกร่งภายใน เพื่อโอบกอดตัวเองอย่างเข้าใจและไม่ตัดสิน เติมพลังจิตใจ เสริมพลังชีวิต และเคลียร์พลังงานลบออกจากร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ในระดับลึก ผ่านสภาวะการเข้าสมาธิแบบนอน (Total Relaxation) ด้วย Alchemy Crystal Singing Bowls : Sound Healing Session เพื่อจะได้ค้นพบว่า ร่างกายของเราทุกคนคือ สิ่งมหัศจรรย์ที่ สามารถรักษาเยียวยาตัวเองได้ในทุกรูปแบบ และจิตใจ จิตวิญญาณของเราคือพลังงานอันยิ่งใหญ่ โดยเราสามารถเข้าถึงสภาวะนี้ได้เสมอ

เหล่านี้เพื่อให้นักศึกษาสร้างความตระหนักรู้ถึงความสําคัญของการดูแลจิตใจ เสริมสร้างภูมิคุ้มกันใจ โดยเฉพาะการกลับมาสํารวจสภาวะภายในของตนเอง ดูแลชีวิตจิตใจของตนเอง และรักตัวเองให้มากขึ้นโดยนำเครื่องมือพัฒนาสุขภาวะทางปัญญานำไปปรับใช้ในชีวิตประจําวัน เป็นการส่งเสริมมหาวิทยาลัยแห่งความสุข(Happy University) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 3) ทั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธุวธิดา สุวรรณรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นายนิพนธ์ ชัยพฤกษทล ผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา และบุคลากรในสังกัด และนักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมี นางสาวรัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย (แพท วงเคลีย) ศิลปินนักร้อง ร่วมเป็นวิทยากรในการให้ความรู้ในครั้งนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธุวธิดา กล่าวใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีนโยบายเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในการสร้างหลักประกันว่าบุคลากรและนักศึกษาทุกคนจะต้องมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพทุกคนในทุกวัย เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่อย่างจริงจัง ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสาธารณสุข การดูแลและรักษาสุขภาพกายและใจ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อความเจ็บป่วย โดยมหาวิทยาลัยจัดให้มีบริการสิ่งอำนวยความสะดวกทางด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสุขภาพทางเพศ เพื่อให้นักศึกษาและบุคลากร และประชาชนโดยรอบมหาวิทยาลัยสามารถเข้าถึงการรับบริการด้านสุขภาพ มีการดำเนินกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันสุขภาพ ในการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ของนักเรียน นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป”

“มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ขอขอบคุณสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาคีเครือข่ายด้านสุขภาวะทางปัญญา Happy growth We oneness สมาคมสื่อสารอย่างสันติ ธนาคารจิตอาสา มูลนิธิร่มเย็น รัณนภันต์ ยั่งยืนพูนชัย (แพท วงเคลียร์) กลุ่ม Sol Shanti (โซล ชานติ) ทีมงาน Crystal Bowl ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ปวะบุตร และนักศึกษาสาขาวิชาดนตรี คณะศิลปกรรมศาสตร์ ที่ร่วมให้ความรู้และมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม Soul Connect Fest on Campus ในครั้งนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของกิจกรรม” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธุวธิดา กล่าวท้ายที่สุด

About Author