“อุตุฯ”เตือนพายุ ”นางิ” จ่อถล่มไทย กรมศิลป์ป้องน้ำท่วมโบราณสถาน
จับตาพายุลูกใหม่พายุโซนร้อนนางิ “กรมศิลป์” เกาะติดสถานการณ์น้ำหน้าวัดไชยฯ พร้อมเตรียมแผนเฝ้าระวัง 5 จุดยุทธศาสตร์ “กรมอุตุฯ” เตือน ฝนตกหนัก 2-7 ก.ย.นี้ “กทม.-ปริมณฑล” ไม่รอดหนักสุดถึง 80% ของพื้นที่
เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา อัพเดตผลการพยากรณ์ฝนสะสมรายวันทุก ๆ 24 ชม. โดยช่วงวันที่ 2 – 7 ก.ย.67 จะมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมฝน) ที่พัดปกคลุม ทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ร่องมรสุมได้เลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคอีสานตอนล่าง รวมทั้ง ยังมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคอีสานตอนล่างภายใต้ร่องมรสุม จึงทำให้มีการกระจายของฝนเพิ่มขึ้น ในบริเวณใกล้ร่องมรสุม และด้านรับมรสุม โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอันดามันและภาคตะวันออก ต้องเฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก คลื่นลมแรง
ทั้งนี้ ในช่วงวันที่ 8-11 ก.ย.67 แนวโน้มของฝนบริเวณประเทศไทยจะน้อยลงบ้าง แต่ยังคงมีฝนบางระยะ ล่าสุดในขณะนี้ทางด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ ได้เกิดพายุดีชันได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็น พายุโซนร้อน”ยางิ” (YAGI)” แล้ว กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือไปทางหัวเกาะลูซอน และจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งประเทศจีนตอนใต้ต่อไป ซึ่งจะช่วยดึงให้มรสุมที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงต่อเนื่อง ส่วนฝนที่จะตกเพิ่มขึ้นจากนี้ไปยังมาจากมรสุม ร่องมรสุมและหย่อมความกดอากาศต่ำ โดยกรุงเทพและปริมณฑล จะมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนัก ถึงหนักมากบางแห่ง
ด้าน นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง(กอปภ.ก.)ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง พบว่าในช่วงวันที่ 3 – 7 ก.ย. พบร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยในช่วงวันที่ 4 – 7 ก.ย. ทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2 – 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อีกทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้มีประกาศฉบับที่ 13/2567 ลงวันที่ 1 ก.ย. ให้เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 44 จังหวัด โดยมีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์ระหว่างวันที่ 3 – 9 ก.ย.67
วันเดียวกัน นายภัทรพงษ์ เก่าเงิน ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา กรมศิลปากร เปิดเผยว่า ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ เพื่อเตรียมพร้อมในการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่ยังโบราณสถานที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะการปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา รวมถึงการประกาศแจ้งเตือนฝนตกหนักต่อเนื่องในสัปดาห์นี้จากกรมอุตุนิยมวิทยา โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบโบราณวัดไชยวัฒนาราม และวัดธรรมาราม ที่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่า ระดับน้ำยังอยู่ต่ำกว่าแนวสันเขื่อนประมาณ 90 เซนติเมตร ซึ่งทั้ง 2 จุด ได้ติดตั้งแนวแผงกั้นน้ำแบบพับเก็บได้รองรับได้น้ำได้สูงจากบริเวณสันเขื่อนได้ถึง 2.40 เมตร แต่ยังต้องติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เนื่องจากน้ำเหนือในปีนี้มาเร็ว และยังมีฝนตกชุกต่อเนื่องผ่านศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า(ชั่วคราว) คาดว่าหากยังมีฝนตกหนักต่อเนื่องจะมีการเรียกประชุมประเมินสถานการณ์และวางแผนรับมือบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างทันท่วงที
“นอกจากนี้ยังมีแผนในการติดตั้งแผงป้องกันน้ำท่วมแบบพับเก็บได้เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่บริเวณวัดกษัตราธิราชวรวิหาร วัดเชิงท่า โบราณสถานบ้านฮอลันดา-โปรตุเกสรวมถึงการตั้งแนวกระสอบทรายโบราณสถานป้อมเพชรที่เป็นจุดที่แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก บรรจบกันโดยบูรณาการกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”