ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 6 ลงพื้นที่ ตรวจเข้มเตรียมพร้อมรับมือ อุทกภัยลุ่มน้ำชี

ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม และร้อยเอ็ดตรวจเข้มเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัยลุ่มน้ำชีสั่งทุกโครงการชลประทานพร้อมตั้งรับ 24 ชั่วโมง
นายไพฑูรย์ ศรีมุก ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 เปิดเผยหลังจากลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด ว่า สถานการณ์น้ำปัจจุบัน (24 ส.ค. 67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางในลุ่มน้ำชี มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 2,607 ล้าน ลบ.ม. (43.6 % ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 3,350 ล้าน ลบ.ม.(55.9%)
ด้านสถานการณ์น้ำแม่น้ำชีตอนกลางที่เขื่อนชนบท จังหวัดขอนแก่น เขื่อนมหาสารคามจังหวัดมหาสารคาม มีปริมาณน้ำเฉลี่ยประมาณ 20.3 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50.7% ของความจุเก็บกัก ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 6-7 เมตร ปริมาณน้ำในแม่น้ำชียังอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันอีกกว่า 55 ล้าน ลบ. และแม่น้ำชีที่เขื่อนวังยางและเขื่อนร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด มีปริมาณน้ำเฉลี่ย 32.3 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65% ของความจุเก็บกัก ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 4-5 เมตร ปริมาณน้ำในแม่น้ำชียังอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถรองรับปริมาณน้ำได้รวมกันอีกกว่า 55 ล้าน ลบ. แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ฝน โดยได้ทำการเปิดบานประตูระบายน้ำในแม่น้ำชีทุกแห่ง เพื่อเร่งระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานกาณ์ตามช่วงเวลา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องซัพเมิร์ส 2 เครื่อง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักเครื่องจักรกล กรมชลประทาน และไฮโดรโฟ 3 เครื่อง ของสำนักงานชลประทานที่ 6 บริเวณ ประตูระบายน้ำท่าสองคอน อ.เมือง จ.มหาสารคาม เพื่อเพิ่มอัตราการสูบน้ำให้มากขึ้น ติดตั้งเพิ่มจากสถานีสูบน้ำท่าสองคอนที่มีเครื่องสูบน้ำประจำ 4 เครื่อง เร่งสูบระบายน้ำจากเขตเศรษฐกิจเมืองมหาสารคามลงแม่น้ำชี หากระดับแม่น้ำชีหนุนสูง ต้องปิดบานประตูระบายน้ำท่าสองคอน และเดินเครื่องสูบน้ำเร่งระบายแทน นอกจากนี้ยังได้ตรวจความมั่นคงแข็งแรงของพนังกั้นน้ำชีเก่า ที่โครงการชลประทานมหาสารคามได้เสริมคันดินเพิ่มความมั่นคงแซ็งแรง เพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ฝนที่จะมาถึงในระยะต่อไป
ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกโครงการชลประทานติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ กระสอบทราย ถุงบิ๊กแบ๊ค พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่อยู่ประจำพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด




