รู้หรือไม่ “ถุงลมนิรภัย” ไม่ทำงาน ใครต้องรับผิดบ้าง!

สำนักงานศาลยุติธรรม ไขข้อสงสัยหากเกิดอุบัติเหตุแล้วถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ผู้ผลิต  ผู้ขาย  ผู้บริโภค … ใครต้องรับผิด

เมื่อวันที่ 22 ส.ค.67 กองสารนิเทศและประชาสัมพันธ์ สำนักงานศาลยุติธรรม  โพสต์คลิป  ฎีกา InTrend Ep.184 ถุงลมนิรภัยไม่ทำงาน ใครต้องรับผิดบ้าง ผ่านยูทูบช่อง COJ CHANNEL พร้อมระบุข้อความว่า สินค้าที่เราซื้อหามาใช้หรืออุปโภคในชีวิตประจำวันมีมากมายหลายประเภท บางครั้งสินค้าเหล่านี้อาจก่อให้เกิดปัญหาที่เป็นอันตรายแก่ผู้ใช้หรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องได้ เมื่อปัญหาและอันตรายเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำให้เกิดข้อที่ต้องคิดกันต่อไปว่าถ้าเช่นนั้นแล้วใครจะต้องรับผิดชอบกับอันตรายที่เกิดขึ้นบ้าง ปัญหาที่จะนำมากล่าวถึงในตอนนี้จะเป็นกรณีที่ซื้อรถยนต์มาใช้แล้วเกิดอุบัติเหตุแต่ถุงลมนิรภัยไม่ทำงานจนได้รับบาดเจ็บ ใครจะต้องรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นบ้าง นางจันทร์ กับนายอังคาร เป็นสามีภริยากัน ทั้งคู่ต้องการซื้อรถใหม่มาใช้งานแทนคันเก่าที่เริ่มเสื่อมสภาพ และมีปัญหาต้องซ่อมแซมอยู่บ่อย ๆ ทั้งคู่จึงได้ไปชมรถยนต์ที่โชว์รูมแห่งหนึ่งของบริษัท ก. แล้วชอบใจคุณสมบัติและราคาของรถรุ่นหนึ่ง ซึ่งพนักงานขายได้บรรยายสรรพคุณต่าง ๆ นานา และให้ดูแผ่นพับของรถรุ่นนั้นเพื่อแสดงให้เห็นสมรรถนะด้านต่าง ๆ

โดยคุณสมบัติส่วนหนึ่งที่แผ่นพับได้ระบุไว้คือ รถรุ่นนี้มีความปลอดภัยสูง มีถุงลมนิรภัยป้องกันการกระแทก ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารปลอดภัย นางจันทร์จึงตกลงจองซื้อรถรุ่นดังกล่าว และได้มีการทำสัญญาเช่าซื้อกับบริษัท ก. ต่อมานางจันทร์ได้ขับรถยนต์ที่ซื้อมาไปเที่ยวพัทยา แต่ระหว่างทาง ปรากฏว่ามีรถยนต์ที่นายพุธขับมาด้วยความไม่ระมัดระวังขับล้ำเส้นเข้าไปในช่องทางเดินรถที่นางจันทร์ขับอยู่ แล้วชนกับรถของนางจันทร์ โดยประทะฝั่งคนขับที่นางจันทร์ขับอยู่ เป็นเหตุให้เกิดแรงกระแทกอย่างแรง ปรากฎว่าถุงลมนิรภัยของรถยนต์ที่นางจันทร์ขับออกมาด้วยผลของแรงประทะ แต่ออกมาเพียงเล็กน้อย ทำให้ไม่สามารถลดแรงประทะของอุบัติเหตุได้อย่างที่ควรจะเป็น ผลจากอุบัติเหตุ ทำให้ทั้งนางจันทร์ และนายอังคารที่เป็นนั่งอีกฝั่งหนึ่งได้รับบาดเจ็บ นางจันทร์บาดเจ็บลำไส้ทะลุ ต้องเข้ารับการผ่าตัด กระดูกแขนท่อนปลายข้างซ้ายหัก และกระดูกเชิงกรานหัก ต้องได้รับการจัดกระดูกและใส่เฝือก ส่วนนายอังคาร กระดูกแขนขวาหัก ต้องเข้ารับการผ่าตัดดามกระดูกแขน นางจันทร์จึงมาฟ้องบริษัท ก. ที่ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ตน บริษัท ข. ที่เป็นผู้จำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อดังกล่าวให้แก่ผู้ผลิตและเป็นผู้ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่บริษัท ข. และบริษัท ค. ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ยี่ห้องดังกล่าว

ในกรณีที่เกิดขึ้นทำนองนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ แต่ละฉบับก็มีหลักการที่แตกต่างกัน ความรับผิดของผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายแต่ละฉบับเหล่านั้นกำหนดไว้ด้วย กฎหมายที่สำคัญฉบับหนึ่งในกรณีที่สินค้าที่มีการขายในท้องตลาดก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นคือ พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ตามกฎหมายดังกล่าว หากสินค้าที่มีการขายให้แก่ผู้บริโภคแล้วเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และทำให้เกิด “ความเสียหาย” ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ อนามัย จิตใจ หรือทรัพย์สิน ผู้เสียหายอาจเรียกร้องให้ “ผู้ประกอบการ” ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ “ผู้ประกอบการ” ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย ประกอบด้วย (๑) ผู้ผลิต หรือผู้ว่าจ้างให้ผลิต (๒) ผู้นำเข้า (๓) ผู้ขายสินค้าที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือผู้นำเข้าได้ (๔) ผู้ซึ่งใช้ชื่อ ชื่อทางการค้า เครื่องหมายการค้า เครื่องหมาย ข้อความหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ อันมีลักษณะที่จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่าเป็นผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิตหรือผู้นำเข้า

ในกรณีของนางจันทร์นี้ นางจันทร์ฟ้องเรียกร้องให้บริษัท ก. ซึ่งตนซื้อรถยนต์มา บริษัท ข. ที่ขายรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่บริษัท ก. และบริษัท ค. ซึ่งเป็นผู้ผลิตให้ร่วมกันรับผิด แต่ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 ผู้ประกอบการที่เป็น “ผู้ขายสินค้า” จะต้องรับผิดตามกฎหมายนี้ต่อเมื่อ “ไม่สามารถระบุตัวผู้ผลิต ผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือผู้นำเข้าได้” เท่านั้น แต่ในกรณีนี้เมื่อปรากฎว่าผู้ผลิตรถยนต์คันนี้คือ “บริษัท ค.” จึงเป็นกรณีที่สามารถระบุตัวผู้ผลิตได้ บริษัท ก. และบริษัท ข. จึงไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายฉบับนี้ กรณีทำนองนี้จะเห็นได้ว่า ความจริงแล้วนางจันทร์ไม่ได้ทำสัญญาซื้อขายโดยตรงกับบริษัท ค. ที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ แต่ความรับผิดกรณีนี้กฎหมายถือว่าเมื่อบริษัท ค. เป็นผู้ผลิตสินค้าออกสู่ท้องตลาดแล้ว บริษัท ค. ย่อมต้องมีความรับผิดชอบหากปรากฏว่าสินค้าที่ตนผลิตเป็น “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย” ซึ่งหมายถึงสินค้าที่มีความชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใด ซึ่งในกรณีนี้อาจเกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าคือรถยนต์คันนี้ที่อาจมีความผิดพลาดบางประการขึ้น จนเป็นเหตุให้ถุงลมนิรภัยไม่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น

ในส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่นายอังคารจะยิ่งแสดงให้เห็นอีกว่า แม้นายอังคารที่เป็นผู้เสียหายผู้หนึ่ง และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาซื้อขายรถคันนี้ก็ยังมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย หากปรากฏว่าสินค้าที่ไม่ปลอดภัยนั้นก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ดังนั้น หากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ๆ โดยทั่วไป ผู้ได้รับความเสียหายทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเช่นกัน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม สำหรับบริษัท ก. และบริษัท ข. ที่ถือว่ามีส่วนร่วมกันในการ “ขาย” รถยนต์คันนี้ให้แก่นางจันทร์ แม้ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยจะไม่ได้กำหนดให้ต้องรับผิด แต่ทั้งสองบริษัทก็ยังถือเป็น “ผู้ขาย” สินค้าที่เมื่อสินค้าที่ขายมีความชำรุดบกพร่อง ไม่ได้เป็นไปตามคำโฆษณาที่บอกว่ารถรุ่นนี้มีความปลอดภัยสูง มีถุงลมนิรภัยป้องกันการกระแทก ทำให้ผู้ขับขี่และผู้โดยสารปลอดภัย บริษัท ก. และบริษัท ข. จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่นางจันทร์ด้วยเช่นกัน

ดังนั้น หากสินค้าที่จำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย และก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น ผู้ผลิตสินค้านั้นย่อมต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย แต่ผู้ขายสินค้าในกรณีที่รู้ตัวผู้ผลิตไม่ต้องรับผิดตามกฎหมายนี้ แต่อาจต้องรับผิดในฐานะผู้ขายสินค้าหากสินค้านั้นไม่ได้มีคุณสมบัติตามที่ตนโฆษณาหรือรับรองไว้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1166/2566)

Cr_YouTube: COJ CHANNEL

About Author