เส้นไหม…คุณภาพ ยกระดับผ้าไหมไทยสู่ตลาดโลก

 เส้นไหมไทยพื้นบ้านถือว่าเป็นวัตถุดิบที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทยมานานนับพันปี การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสาวไหมเพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะสำหรับเป็นวัตถุดิบในการทอผ้า ทำให้ผ้าไหมไทยมีชื่อเสียงในด้านความมีเอกลักษณ์เฉพาะ แตกต่างจากผ้าไหมทั่วโลก   

ผ้าไหมจึงเป็นศิลปกรรมสิ่งทอที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นโดยเฉพาะในด้านความประณีตในกรรมวิธีการผลิต ที่ทำให้เนื้อผ้าไหมมีความเรียบสม่ำเสมอ สวยงาม นุ่มน่าสัมผัส และสวมใส่เป็นเงา ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากภูมิปัญญาในด้านกระบวนการสาวไหม รวมถึงขั้นตอนการผลิต และประเภทของเส้นไหม เพราะถ้าเส้นไหมดีมีคุณภาพเรียบเนียน ไม่เป็นปุ่มปม จะทำให้การทอผ้าไหมมีคุณภาพและขายได้ราคาสูง 

นางสาวประทานพร  กางการ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหมโดยวิธีธรรมชาติ ขายเส้นไหมเกรดพีเมียม เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ว่าในชุมชนของมีผู้สูงอายุรุ่นคุณแม่ คุณยายที่เลี้ยงไหมอยู่แล้ว การขายไหมก็จะมีแต่พ่อค้าคนกลางมารับซื้อในราคาต่ำ และโดนกดราคา จึงคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะไม่โดนกดราคา จึงลองมาโพสต์ขายเส้นไหมใน Facebook ก็มีคนสนใจ และทักมาซื้อจริง ๆ จึงคิดว่าขายได้จริง เลยสั่งไข่ไหมจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ ฯ ชัยภูมิ โดยทางศูนย์ฯ แนะนำว่าถ้าต้องการทำจริง ๆ จะต้องจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจก่อน จึงมีการรวมกลุ่มเกิดขึ้น โดยไปชวนพี่ ๆ ที่อายุยังไม่มากมารวมกลุ่มเลี้ยงไหมประมาณ 30 คน จากนั้น จึงไปจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนที่เกษตรอำเภอ ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากศูนย์หม่อนไหมและกรมหม่อนไหมเป็นอย่างดี   

 “เราเลี้ยงไหมโดยวิธีธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีเพราะว่าไหมเป็นสัตว์ที่ไวต่อสารเคมี ถ้าใช้สารเคมีเขาจะอ่อนแอ ไม่ทำรัง และตาย  ส่วนการย้อมจะเน้นเป็นสีธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งจะดีต่อสุขภาพเรา สีเหลืองได้จากใบมะพูด ที่เก็บได้จากศูนย์หม่อนไหม สีชมพูเข้ม ได้จากครั่งซึ่งเป็นการย้อมในน้ำสาม สีแดงเข้มจะได้จากครั่งที่ย้อมน้ำที่หนึ่ง  ส่วนสีแดง จะได้จากครั่งที่ย้อมน้ำที่สอง เราจะใช้ทุกอย่างให้คุ้มค่าที่สุด ส่วนสีเหลืองอ่อน ได้จากใบสบู่เลือดที่เก็บได้ตามป่าในชุมชน”  

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ เล่าต่อถึงการทำการตลาด หลัก ๆ จะขายผ่าน Facebook  โดยที่มีกลุ่มขายเส้นไหมโดยเฉพาะ รวมถึงออกร้านในงานต่าง ๆ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่ทอผ้าไหม อยู่ที่อุบลราชธานี สุรินทร์ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ และกลุ่มที่ทำผ้าประกวด จะซื้อเส้นไหมที่กลุ่มเราไปทอผ้า เพราะเส้นไหมเราเป็นเส้นไหมพรีเมี่ยม ผ่านมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ. (การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับหม่อนเพื่อผลิตผล) การตรวจสอบย้อนกลับแหล่งผลิตสินค้าหม่อนไหม ของกรมหม่อนไหม  

“เวลาที่ลูกค้าซื้อเส้นไหมจากเราไปสามารถเอาไปขอรับตรานกยูงพระราชทานได้หมด  ส่วนการทอผ้า ก็ขึ้นอยู่ที่ฝีมือคนทอแต่ละคน บางทีเขาซื้อเส้นไหมจากเราไปเขาอาจจะทำทอผ้าขายได้ราคาเป็นแสน ซึ่งขึ้นอยู่ที่คนทอผ้าของแต่ละคน”   

นอกจากนี้กลุ่มของเรายังเป็นธนาคารเส้นไหม โดยกรมหม่อนไหมสนับสนุนเงินทุน 100,000 บาท เพื่อให้มีเงินทุนในการซื้อเส้นไหมจากสมาชิก กลุ่มเราโชคดีเพราะว่าคนรุ่นใหม่ที่มีอายุไม่เยอะเท่าไหร่มารวมกลุ่มกันเพื่อผลิตเส้นไหม สมาชิกบางคนเคยไปทำงานกรุงเทพฯ พอเห็นว่าเรากลับมาอยู่บ้านและสามารถทำได้จริง พาแม่ทำได้จริงมีเงินรายได้ 10,000 – 20,000 บาทต่อเดือน สำหรับบ้านนอกถือว่าเพียงพอแล้วแต่ละรอบ เกิดความสนใจเราก็ชวนเขามาเลี้ยงมาทำ และก็จับกลุ่มลูกค้า ที่เป็น LGTBQ  ที่ทำผ้าไหม ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ๆ จะคุยกันเข้าใจ ทำให้เราขายง่าย การตลาดเราไม่มีปัญหาเลย มีลูกค้าจาก สปป.ลาวมาติดต่อ แต่ตอนนี้เราขายในประเทศยังไม่เพียงพอ เราคิดจะทำขายในประเทศก่อน และค่อยส่งไปขายต่างประเทศ   

About Author