ทายาทหม่อนไหม ร่วมสืบสานภูมิปัญญาผ้าไหมไทย
อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพที่อยู่คู่ประเทศไทยมายาวนาน สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร และเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลกทั้งในด้านความสวยงามและการมีเอกลักษณ์ รวมถึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ในปัจจุบันอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม กำลังลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เนื่องจากเกษตรกรที่ทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และไม่มีทายาทสืบทอด เยาวชนคนรุ่นใหม่ มีความคิดว่าอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพไม่ทันสมัย มีแต่ผู้สูงอายุเท่านั้นไม่สามารถสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
นิทรรศการทายาทหม่อนไหม หนึ่งในกิจกรรมการจัด “งานตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย” ประจำปี 2567 จัดโดยกรมหม่อนไหม ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับหม่อนไหมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และมีเป้าหมายในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้จัดโครงการทายาทหม่อนไหมในโรงเรียนและในชุมชน เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่ และผู้มีอาชีพด้านการปลูกหม่อนการเลี้ยงไหม ได้เห็นถึงความสำคัญของอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย รวมถึงมีความตื่นตัวในการพัฒนาคุณภาพสินค้า ต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงและตรงตามความต้องการของตลาด
สำหรับนิทรรศการทายาทหม่อนไหม จะเป็นการนำเสนอความโดดเด่นของแต่ละชุมชน นำเสนอกิจกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ โดยกิจกรรมต้นน้ำ ส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้ฝึกทักษะสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
กิจกรรมกลางน้ำ การเตรียมเส้นไหมเพื่อนำมาทอผ้า โดยนำเส้นไหมที่ผลิตได้มามัดหมี่ ส่งเสริมให้นักเรียนมีการศึกษาดูงานเพื่อสร้างรายได้ เป็นต้นแบบในการเรียนรู้ สืบสานงานเพื่อสร้างอาชีพในอนาคตให้แก่นักเรียน ส่งเสริมและพัฒนาถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านหม่อนไหม กว่าจะมาเป็นผ้าไหม กิจกรรมปลายน้ำ นำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมาจำหน่ายผ่านช่องทางต่าง ๆ
นายสุเมธ จันทร์พันธ์ ทายาทหม่อนไหมกลุ่มทอผ้าไหม บ้านห้วยลึกโพนทอง ตำบลหนองพันทา อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดบึงกาฬ เริ่มทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมด้วยใจรักประกอบกับตนอยู่ในครอบครัวที่มีคุณยายทำอาชีพเลี้ยงไหมและทอผ้า จึงเกิดความสนใจ ด้วยความชื่นชอบจึงเสาะหาความรู้เพิ่มเติม และขอคำแนะนำจากกลุ่มเลี้ยงไหมในหมู่บ้านที่ตนอาศัยอยู่และกลุ่มเลี้ยงไหมในพื้นที่ข้างเคียง เมื่อปี พ.ศ. 2560 ขอเข้าร่วมโครงการมัดหมี่ที่แม่สอน จึงได้เรียนรู้การมัดหมี่เพิ่มเติมจากครูภูมิปัญญาและได้ขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกับกรมหม่อนไหม ปัจจุบันเป็นพนักงานราชการ ตำแหน่งพนักงานประจำห้องทดลอง สังกัดศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ หนองคาย
“ครั้งแรกผมไม่คิดจะทำเป็นอาชีพ แต่พอมาดูและศึกษาอย่างจริงจัง สามารถทำเป็นอาชีพได้ ผมจบปริญญาตรี แม่ก็กรีดยางพาราด้วย ขายผ้าไหมด้วย โดยแม่จะมัดหมี่และจ้างคนอื่นผลิตผ้าไหม เดือนหนึ่งได้รายได้ประมาณ 50,000 – 60,000 บาท เราผลิตผ้าไหมตามออเดอร์ของลูกค้า ขายผ่านทางออนไลน์ ผมมีส่วนช่วยในการทอผ้า หาตลาด และขาย ผมคิดว่าอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสามารถทำเป็นอาชีพหลักและเป็นอาชีพที่ไม่มีที่สิ้นสุด”
อยากให้น้อง ๆ เข้ามาศึกษาเรียนรู้วงจรชีวิตไหมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และการทำอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมสามารถทำเป็นอาชีพหลักได้จริง ตอนนี้ที่บ้านได้เปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับนักเรียนเข้ามาศึกษาการทำหม่อนไหมทุกวันศุกร์ มีนักเรียนเข้ามาศึกษาเรียนรู้ครั้งละ 40 คน โดยกรมหม่อนไหมเข้ามาสนับสนุนทุก ๆ เรื่อง ตั้งแต่พันธุ์ไหม ไข่ไหม อุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงให้ความรู้ด้านต่าง ๆ โดยเรานำไปต่อยอดให้กับเด็ก ๆ