รู้หรือไม่! “โอเลี้ยงยกล้อ” คืออะไร?

“กาแฟโบราณ” มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นราชธานี ตามประวัติศาสตร์ “ชาวจีนแต้จิ๋ว” นำเข้ามาตอนที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทย มีหลายเมนู ได้แก่ “โอเลี้ยง – โอยั๊วะ – ยกล้อ – โกปี๊” โดยแต่ละเมนูมีความแตกต่างกันอย่างไร  

คำว่า “โอเลี้ยง” เป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว คำว่า “โอ” แปลว่า “ดำ” ส่วนคำว่า “เลี้ยง” แปลว่า “เย็น” ดังนั้นโอเลี้ยงจึงเป็นเครื่องดื่มที่ใส่น้ำตาลและน้ำแข็ง 

ส่วน “โอยั๊วะ” ต่างกันกับ “โอเลี้ยง” แม้มีวิธีการทำ รวมถึงลักษณะกายภาพที่คล้ายคลึงกันก็จริง แต่จะเป็นเครื่องดื่มในรูปแบบร้อน โดยคำว่า “โอ” แปลว่า “ดำ” ส่วนคำว่า “ยั๊วะ” แปลว่า “ร้อน” 

ขณะที่ “โกปี๊” ก็คือกาแฟเหมือนกัน แต่ไม่ได้มีรากศัพท์จากภาษาจีน เพราะมาจากคำว่า “คอฟฟี่” ในภาษาอังกฤษ และถูกปรับให้เป็นเสียงภาษาจีนตามที่คนใต้หรือมลายูทางภาคใต้ใช้นั่นเอง โกปี๊ มีวิธีการทำที่แตกต่างจากโอเลี้ยง หรือโอยั๊วะ ที่ทั้ง 2 อย่างนี้เน้นใช้ผงกาแฟและน้ำตาลเพื่อเพิ่มความหวาน ไม่ใส่นมข้น หรือนมข้นผสมน้ำตาล ส่วนโกปี๊นั้นสามารถชงแบบไหนก็ได้

สำหรับคำว่า “ยกล้อ” หากเอามาต่อท้ายกับคำว่า “โอเลี้ยง” จะกลายเป็นคำว่า “โอเลี้ยงยกล้อ” คือการนำเอา “โอเลี้ยง” มาใส่ “นมข้นจืด” นั้นเอง

“โอเลี้ยงยกล้อ” ไม่ได้มาจากคนชงกาแฟไปยกล้อรถอะไรที่ไหนนะครับ สันนิษฐานว่า ในสมัยนั้นมีนมข้นจืดยี่ห้อหนึ่ง มีสลากข้างกระป๋องเป็นรูปจักรยาน เมื่อคนชงเทนมลงไปในลักษณะเอียงกระป่อง แล้วสลากก็จะเอียงไปด้วย คล้ายการยกล้อ จึงเรียกโอเลี้ยงใส่นมว่ายกล้อตั้งแต่นั้นมา หรือจะเรียกว่าเป็น “ลาเต้เวอร์ชั่นฝรั่ง” ก็ได้

About Author