กรมหม่อนไหม เทิดไท้ 92 พรรษา “พระมารดาแห่งไหมไทย” ถ่ายทอดผ้าไหม 21 ลวดลายสู่ผู้ทอผ้าไหม
12 สิงหาคม 2567 เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของคนไทย เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อยู่ห่างไกลในชนบทซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้น้อยและประสบปัญหาความยากจน พระองค์ทรงตระหนักและทรงให้ความสำคัญในการสร้างอาชีพเสริม เพื่อแก้ปัญหาความยากจน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งเสริมอาชีพ “การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม” แก่พสกนิกร และสนับสนุนอาชีพทางด้านหัตถกรรมไหมลวดลายต่าง ๆ จนเป็นที่แพร่หลายอย่างกว้างขวาง
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีต่อเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของประเทศไทย และพระเกียรติคุณอันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการหม่อนไหมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไหม ทอผ้าไหม ได้มีอาชีพที่ยั่งยืน มีรายได้พึ่งพาตนเองได้ ซึ่งพสกนิกรทุกหมู่เหล่าต่างตระหนักรับรู้ได้ถึงความรัก ความห่วงใยของพระองค์ที่ทรงมีต่อพสกนิกร และบังเกิดเป็นความภาคภูมิใจในเกียรติภูมิความเป็นไทย
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมทั้งพสกนิกรชาวไทยต่างน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 ในฐานะ “พระมารดาแห่งไหมไทย“ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2555
เพื่อสนองพระราชปณิธานด้านการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การทอผ้าไหมไทย ให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 กรมหม่อนไหมได้จัดทำโครงการ ภายใต้ชื่อ “12 พรรณพฤกษาไทยสร้างสีสรรค์บนเส้นใยไหมไทยสู่ผ้าไหม 21 ลายทรงเลือกเทิดไท้ 92 พรรษาพระมารดาแห่งไหมไทย”
พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า โครงการ “12 พรรณพฤกษาไทย สร้างสีสรรค์บนเส้นใยไหมไทย สู่ผ้าไหม 21 ลายทรงเลือก เทิดไท้ 92 พรรษา พระมารดาแห่งไหมไทย” เป็นการต่อยอดกิจกรรมปลูกหม่อนใบและหม่อนผลสดในพื้นที่ 72 หมู่บ้าน ทั่วประเทศไทย รวมเกษตรกรทั้งสิ้น 1,572 ราย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ภายใต้โครงการ 72 หมู่บ้าน รวมใจปลูกหม่อนน้อมถวาย 72 พรรษา ทศมินทรราชา
โดยผลผลิตรังไหมที่ได้นำมาทอผ้าไหม 21 ลาย ทรงเลือก ที่ย้อมเส้นไหมด้วยสีจากพรรณไม้ เป็นลายผ้าไหมมัดหมี่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเลือกไว้เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2555 ในโอกาสทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี (ตำแหน่งในขณะนั้น คือ ที่ปรึกษาสำนักราชเลขาธิการ) นำคณะทำงานจัดทำหนังสือชุด “โครงการรวบรวมองค์ความรู้ไหมไทย” ฉบับจัดพิมพ์และรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Book) พร้อมทั้งผ้าไหมมัดหมี่จำนวน 49 ผืน ซึ่งทอด้วยลวดลายที่ออกแบบขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 75 พรรษา 12 สิงหาคม 2550
การนี้ได้ทรงคัดเลือกผ้าไหมที่ทรงโปรดไว้จำนวน 21 ลวดลาย พระราชทานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขยายผลและเผยแพร่สู่ผู้ทอผ้าไหม ได้แก่ 1.ลายโคมสร้อย 2.ลายเจ็ดโคม 3.ลายสร้อยระย้า 4.ลายพรรณราย 5.ลายส่องอสง 6.ลายไพรพรรณ 7.ลายหมากจับคู่ 8.ลายพฤกษา 9.ลายเพิ่มพูน 10.ลายมัจฉาระเริงชล 11.ลายดุจดารา 12.ลายร้อยรัก 13.ลายล้อมเพชร 14.ลายนาคฟาดฟอง 15.ลายร้อยฤทัย 16.ลายขาเปีย 17.ลายเปียหรรษา 18.ลายเครือสาย 19.ลายเปรมเปีย 20.ลายคู่ฟ้า 21.ลายร้อยดวงใจ
ผ้าลายทรงเลือก 21 ลาย ทอด้วย 7 เทคนิค/กรรมวิธีการทอ ได้แก่ 1.เทคนิคมัดหมี่โลด หรือหมี่รวด 2.เทคนิคมัดหมี่คัน/หมี่ข้อ 3.เทคนิคจก 4.เทคนิคขิด 5.เทคนิคยกเล็ก 6.เทคนิคยกดอก และ7.เทคนิคผสมแพรวา ซึ่งเทคนิคที่ 1-5 และ 7 สามารถทอได้ทุกลาย ยกเว้นเทคนิคที่ 6 ทอได้ 1 ลาย คือ ลายหมากจับคู่
นอกจากนี้ กรมหม่อนไหม ได้จัดทำโครงการตามพระดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ฟื้นฟูผ้าจวนตานี เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ
ผ้าจวนตานี เป็นหนึ่งในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมสำคัญของจังหวัดปัตตานี และบริเวณภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงดินแดนแถบแหลมมลายูที่มีการสั่งสม สืบทอดกันมาช้านานเป็นเวลานับหลายร้อยปี ทว่า เมื่อสังคมเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ผ้าจวนตานีมีความนิยมน้อยลง และสูญหายไปในที่สุด จนกระทั่งเมื่อปี 2542 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชดำริในการอนุรักษ์ฟื้นฟูผ้าโบราณที่กำลังจะสูญหาย ทำให้ผ้าจวนตานีได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้ง กรมหม่อนไหม จึงเล็งเห็นถึงคุณค่าของผ้าจวนตานี เพื่อเป็นการอนุรักษ์และฟื้นฟูผ้าทอโบราณของปัตตานีที่หายสาบสูญไป จึงได้จัดทำโครงการนี้ขึ้น โดยมีแนวคิดในการฟื้นฟูการทอผ้าจวนตานีอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืนต่อไป
“กรมหม่อนไหมน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพร้อมสนองพระราชปณิธานด้านการอนุรักษ์และสืบสานอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อสร้างความภาคภูมิใจในเกียรติภูมิความเป็นไทยสืบไป” พันจ่าเอกประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว