องคมนตรีฯ ลงพื้นที่ติดตามผล โครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.บึงกาฬ

“นายจรัลธาดา กรรณสูต” องคมนตรีฯ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน โครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดบึงกาฬ

นายจรัลธาดา กรรณสูต” องคมนตรี ประธานคณะกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีคณะอนุกรรมการฯ นายศุภรัชต์ อินทราวุธ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ, นายยงยส เนียมทรัพย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านวางแผนและโครงการ) ผู้แทนกรมชลประทาน, นายปริญญา คัชมาตย์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5, นายสัณฐิต พีรานนท์ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, นายสิงหา ผจงกิจการ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 5, นายพรสิทธิ์ สิทธิวันชัย ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม, นายเจษฎา ตงศิริ ผู้อำนวยการส่วนแผนงาน, นายสรายุทธ ม่วงทอง ผู้อำนวยการโครงการชลประทานบึงกาฬ พร้อมด้วยข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลบึงโขงหลง อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดบึงกาฬ นอกจากนี้ยังได้ นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ พร้อมด้วยนายวินัย โตเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ หัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับคณะฯ

โครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดบึงกาฬ มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพระราชดําเนินไปทอดพระเนตรบริเวณที่จะสร้างอาคารบังคับน้ำปากห้วยบางบาด ทรงมีพระราชดําริกับอธิบดีกรมชลประทาน และผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เกี่ยวกับงานชลประทานควรพิจารณาวางโครงการพัฒนาบึงโขงหลงเพื่อนําน้ำจากบึงโขงหลงไปพัฒนาการเกษตร ลักษณะโครงการฯ เป็นอ่างเก็บน้ำ มีพื้นที่รับน้ำ 47.85 ตารางกิโลเมตร กักเก็บน้ำได้สูงสุด 12 ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ชลประทาน 1,200 ไร่

สำหรับสรุปผลการดำเนินงาน และการลงพื้นที่ในครั้งนี้ทำให้ได้ทราบว่า โครงการอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นแหล่งเก็บกักน้ำตามธรรมชาติทำให้มีน้ำใช้ตลอดปี และช่วยรักษาความชุ่มชื้นของผืนดินให้เหมาะกับการเพาะปลูก ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์อย่างมาก ไม่เพียงเอื้อให้เกิดความยั่งยืนและมั่นคงทางด้านอาหารแต่ยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำระดับนานาชาติลำดับที่ 1,098 ของโลก และเป็นพื้นที่ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดบึงกาฬ จึงได้มีการพิจารณาปรับปรุงถนนบนทำนบดิน และปรับปรุงสะพานข้ามอาคารระบายน้ำล้น และเนื่องจากในปัจจุบันอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลง มีระบบส่งน้ำจำนวน 6 สาย สนับสนุนพื้นที่ชลประทานจำนวน 1,200 ไร่ แต่ระบบส่งน้ำเดิมไม่เพียงพอต่อการใช้น้ำของเกษตรกร เกษตรกรในพื้นที่จึงร้องขอให้ กรมชลประทาน ก่อสร้างคลองคอนกรีตเสริมเหล็ก ต่อขยายคลองจากระบบคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายอีก 720 เมตร ซึ่งสามารถสนับสนุนเพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 165 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งโครงการ 1,365 ไร่

About Author