งานวิจัยท่องเที่ยว บพข. คว้ารางวัล “PMUC COUNTRY 1st AWARD” ครั้งแรกของไทย ชูงานวิจัยเปลี่ยนประเทศ

วันที่ 23 กรกฎาคม 2567, นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล PMUC COUNTRY 1st AWARD ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ เพื่อมอบรางวัลให้กับนักวิจัย ผู้ประกอบการที่ได้ผลิตผลงานที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย สร้างพลังต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ โดยมี รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณะนักวิจัย และผู้เข้าชมงาน เข้าร่วม โดย 1 ใน 13 โครงการจาก 1,600 โครงการ ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ คือ ผลการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ” ภายใต้การบริหารงานของแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. โดยมี อาจารย์นวลสมร อุณหะประทีป หัวหน้าโครงการ ขึ้นรับรางวัล โดยพิธีมอบรางวัลนี้จัดขึ้น ณ เวทีย่อย โซน D Science For Exponential Growth ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ กล่าวว่า “กระทรวง อว. มีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และ อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาจุดแข็งของประเทศ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และพร้อมสำหรับการแข่งขันบนเวทีโลก อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน พัฒนา SME และ Startup ที่มีศักยภาพให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยใช้องค์ความรู้และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของบพข. นับเป็นการเร่งสร้างให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอย่างตรงจุดเสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน”

รางวัล PMUC Country 1st Award ครั้งแรกของไทยงานวิจัยเปลี่ยนประเทศโดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้คัดเลือก 13 โครงการ จาก 1,600 โครงการ ซึ่งคัดเลือกจากผลงานวิจัยเสร็จสมบูรณ์ออกสู่ตลาด หรือเกิดการประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมแล้ว หรือเป็นงานวิจัยเตรียมพร้อมสำหรับการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ และที่สำคัญเป็นผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างสูง โดย 1 ใน 13 โครงการที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในครั้งนี้ คือ ผลการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ” โดยมี อาจารย์นวลสมร อุณหะประทีป อาจารย์คณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับคณะนักวิจัย ผศ.ดร. โชคชัย สุเวชวัฒนกูล จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บริษัท ซีพาร์ทเนอร์ โซลูชั่น จำกัด และบริษัท บางแสนบีช รีสอร์ท จำกัด ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยจากแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์บพข. โดยมีผศ.สุภาวดีโพธิยะราชผู้เชี่ยวชาญอาวุโสสกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์บพข. พร้อมด้วยสำนักประสานงานพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ร่วมกำกับดูแลและหนุนเสริมการทำงานของคณะนักวิจัยที่มุ่งขับเคลื่อนการท่องเที่ยวมูลค่าสูงเน้นการออกแบบโปรแกรมและกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับระดับสากลเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพและตอบโจทย์การยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศ
อาจารย์นวลสมร เผยว่า “การขอรับรองตรามาตรฐาน GBAC STAR ของไทย เป็นการร่วมมือผ่านงานวิจัยภายใต้โครงการการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ที่นักวิจัยและวิชาการจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยงบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ทำงานร่วมกับแต่ละสถานที่เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานเดิมที่สถานประกอบการหลายๆแห่งในไทยเคยพัฒนาระบบมาตรฐานสุขอนามัยผ่านระบบ SHA และ SHA+ ที่ดำเนินการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และกระทรวงสาธารณสุขมาก่อนในช่วงรับมือโรคระบาดโควิด 19 ซึ่งผลได้ที่เกิดจากกิจกรรมคือ นักวิจัยไทยจากโครงการนี้ ซึ่งมีทั้งนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เป็นผู้มีความชำนาญในการออกแบบติดตามและประเมินมาตรฐานตามระบบของ สมาคม ISSA Worldwide Cleaning Industry Association USA และได้รับการรับรองให้เป็นบุคลากรเชี่ยวชาญในการประเมินอิสระให้ GBAC STAR ในระดับภูมิภาคด้วย”
โดย ผลสำเร็จจากโครงการนี้ มีองค์กรต้นแบบระบบนิเวศทางการท่องเที่ยวที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน จำนวน 9 แห่ง ได้แก่
- 1) ศูนย์ประชุมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี ผ่านการรับรองประเภทศูนย์ประชุมแห่งแรกของ ASEAN
- 2) อาคารผู้โดยสารต่างประเทศขาเข้า ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทท่าอากาศยานแห่งแรก ที่อยู่นอกทวีปอเมริกา
- 3) สุโข เวลเนส แอนด์ สปา รีสอร์ท จ.ภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทสปา เป็นพื้นที่แรกนอกทวีปอเมริกา
- 4) นิกรมารีน จ.ภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทธุรกิจการขนส่ง เป็นแห่งแรกนอกทวีปอเมริกา
- 5) เซ็นทารา แกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ผ่านการรับรองประเภทศูนย์ประชุมที่มีการบริหารงานแบบเครือข่ายแห่งแรกของ ASEAN
- 6) บ้านปาร์คนายเลิศ ผ่านการรับรองประเภทศูนย์วัฒนธรรมเป็นพื้นที่แรกนอกทวีปอเมริกา
- 7) ไทเกอร์มวยไทย การรับรองประเภทสถานออกกำลังกายเป็นแห่งแรกของประเทศไทย
- 8) ป่าตองเบย์วิว ผ่านการรับรองประเภทโรงแรมที่มีการบริหารงานแบบอิสระเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและ
- 9) เกาะยาวใหญ่วิลเลจ
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการ “เปิดโอกาสธุรกิจท่องเที่ยววิถีใหม่ ปลดล็อกศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยด้วยทุนวิจัยด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์จาก บพข.” โดยนำเสนอผลงานวิจัยภายใต้โครงการ “การพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของธุรกิจค่ายมวยด้วยเทคโนโลยีจักรวาลนฤมิต (Metaverse) เพื่อเพิ่มมูลค่างานสร้างสรรค์จากฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับกีฬามวยไทยในตลาดดิจิทัล” โดย ผศ.ดร.สัจจา ไกรศรรัตน์ สังกัด มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง งบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งโครงการเน้นการบูรณาศาสตร์ โดยการนำมวยไทยมาประยุกต์ เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวกีฬา เช่น การนำท่าไหว้ครูมวยไทยมาใช้ในการออกกำลังกาย และการเสนอขายแพ็กเก็จการท่องเที่ยวร่วมกับค่ายมวย และโรงแรมต่างๆ เพื่อเสนอขายนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยดึงอัตลักษณ์ของมวยไทยมาขับเคลื่อนสู่การเป็น Soft Power

