ประวัติและที่มาของ “วันเข้าพรรษา” วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของไทย
วันเข้าพรรษา เป็นหนึ่งในวันสำคัญของศาสนาพุทธ ที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา โดยเป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา ๓ เดือนตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น
พิธีเข้าพรรษา ตามปกติจะเริ่มนับในวันเข้าพรรษาแรก หรือปุริมพรรษา ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หรือถ้าหากปีใดมีเดือน ๘ สองครั้ง ก็เลื่อนมาเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง และออกพรรษา ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งในปี ๒๕๖๗ นี้ วันเข้าพรรษา จะตรงกับวันที่ ๒๑ กรกฏาคม
สำหรับการเข้าพรรษา หรือภาษาปากว่า จำพรรษา หรือช่วงพักฤดูฝน (“พรรษา” แปลว่า ฤดูฝน, “จำ” แปลว่า พักอยู่) ถือเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ที่ละเว้นไม่ได้และเป็นช่วงเทศกาลทางศาสนาพุทธที่สำคัญของไทย ซึ่งกินระยะเวลา ๓ เดือน โดยพุทธศาสนิกชนชาวไทยทั้งพระมหากษัตริย์และคนทั่วไป ได้สืบทอดประเพณีทำบุญในวันเข้าพรรษามาช้านานตั้งแต่สมัยสุโขทัย