“อุทยานแห่งชาติทับลาน” ป่าลานผืนสุดท้ายของประเทศไทย
จากกรณีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ฝั่ง จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี ซึ่งจะต้องตัดพื้นที่ป่าไป จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจาdการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์นั้น ด้านชาวเน็ตได้พร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #Saveทับลาน จนขยับขึ้นอันดับหนึ่ง ส่วนใหญ่้รณรงค์ให้ลงชื่อคัดค้าน
อุทยานแห่งชาติทับลานเป็นภูเขาใหญ่น้อยสลับซับซ้อน มียอดเขาสูงที่สุดคือ เขาละมั่ง สูงประมาณ 992 เมตร มีหุบเขาตามธรรมชาติ เหว และน้ำตก เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำมูล และแม่น้ำบางปะกง ในบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ท้องที่ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี มีพรรณไม้เฉพาะถิ่น คือ ต้นลาน ซึ่งถือได้ว่าเป็นป่าลานพืชสุดท้ายที่สมบูรณ์และสวยงามแห่งหนึ่งในประเทศไทย
ฤดูกาลประกอบด้วย 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – เมษายนของทุกปี บางปีอาจเลื่อนมาจนถึงพฤษภาคม ฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม ของทุกปี บางปีอาจเลื่อนมาจนถึงเดือนตุลาคม ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนตุลาคม – มกราคม ของทุกปี ในช่วงฤดูหนาวบริเวณท้องที่อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา อากาศจะหนาวเย็นสบาย บางเดือนที่อากาศเย็นจัดจะอยู่ระหว่าง 17 – 20 องศาเซลเซียส แต่ทั้งนี้สภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากวิกฤติการณ์โลกร้อน จึงควรสอบถามการท่องเที่ยวจากอุทยานแห่งชาติก่อนเดินทางทุกครั้ง
อุทยานแห่งชาติทับลานมีสังคมพืชที่จัดเป็นป่าลุ่มตำที่มีความสมบูรณ์มาก หากพิจารณาตามประเภทของป่าแล้วสามารถจำแนกได้ 4 ประเภท ได้แก่ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น เบญจพรรณ และป่าเต็งรัง จัดเป็นสังคมพืชที่มีการซ้อนทับกันของลักษณะทางนิเวศวิทยาของป่าภาคกลางกับนิเวศวิทยาของป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้และสัตว์ป่าชุมชุม
สำหรับบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน ท้องที่ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เป็นพื้นที่ที่มีต้นลานขึ้นกระจายในพื้นที่อย่างหนาแน่น ได้แก่ บริเวณบ้านทับลาน บ้านขุนศรี บ้านบุพราหมณ์ และบ้านวังมืด จึงได้ชื่อว่าป่าลานผืนสุดท้ายที่สมบูรณ์และสวยงามที่สุดของประเทศไทย ซึ่งต้นลานจัดเป็นไม้ตระกูลปาล์ม เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยว เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ลำต้นตรงและแข็ง ภายในเนื้อเป็นเส้นใย มีใบอ่อนรอบลำต้นเป็นชั้นๆ ก้านใบยาวประมาณ 3 – 4 เมตร หนึ่งก้านมีหนึ่งใบ ใบกว้างประมาณ 2 – 3 เมตร จนมีคำสอนในอดีตกาลว่า “ใครที่ชอบตีพ่อแม่ ตายไปมือจะใหญ่เท่าใบลาน” ลำต้นสูงประมาณ 10 – 26 เมตร มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น เป็นต้นไม้ที่มีอายุขัยประมาณ 60 – 80 ปี เมื่อต้นแก่ก็จะออกดอกและผล ดอกมีสีขาว ซึ่งต้นลานจะออกดอกเพียงครั้งเดียว และเมื่อต้นลานออกดอกก็หมายความว่าต้นลานจะต้องตาย เมื่อเมล็ดร่วงหล่น ต้นลานก็จะเริ่มเหี่ยวเฉา และเหี่ยวแห้งตายลงทันที
ทรัพยากรสัตว์ป่า จำนวนชนิดของสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานที่ได้จากการสำรวจของกรมป่าไม้ (2543) พบว่ามีสัตว์ประเภทที่มีกระดูกสันหลังอยู่ไม่ต่ำกว่า 321 ชนิด จำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
– สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบรวม 76 ชนิด จาก 55สกุล ใน 26 วงศ์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่ ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือโคร่ง สัตว์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่สำคัญ ได้แก่ เลียงผา กวางป่า เป็นต้น
– นก พบรวม 144 ชนิด จาก 115 สกุล ใน 41 วงศ์ และจำแนกเป็นนกประจำถิ่น 135 ชนิด และนกอพยพย้ายถิ่น 9 ชนิด ชนิดนกที่สำคัญได้ ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ฟ้าพญาลอ นกเงือกกรามช้าง นกกก นกแขกเต้า และนกขุนทอง เป็นต้น
– สัตว์เลื้อยคลาน พบรวม 48 ชนิด จาก 35 สกุล ใน 4 วงศ์ ชนิดพันธุ์ที่สำคัญ ได้แก่ เต่าเหลือง กิ้งก่าบินปีกสีส้ม เป็นต้น
– สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบไม่ต่ำ 17 ชนิด จาก 8 สกุล ใน 4 วงศ์ ชนิดพันธุ์ที่สำคัญ ได่แก่ กบนา เขียดตะปาด และอึ่งแม่หนาว
– ปลาน้ำจืด พบไม่ต่ำกว่า 31 ชนิด จาก 26 สกุล ใน 17 วงศ์ ชนิดปลาที่สำคัญ ได้แก่ ปลาชะโอน ปลาดัก ปลากระทิง เป็นต้น
สำหรับการเดินทางโดยรถยนต์
เส้นทางที่ 1 จากกรุงเทพ ฯ ถึงอุทยานแห่งชาติทับลานใช้เส้นทางองครักษ์ – นครนายก – ปราจีนบุรี ระยะทางรวมประมาณ 197 กิโลเมตร ที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน ต.บุพราหมณ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ห่างจากสี่แยกกบินทร์บุรีไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กบินทร์บุรี – ปักธงชัย) ประมาณ 32 กิโลเมตร
เส้นทางที่ 2 จากจังหวัดนครราชสีมาใช้เส้นทางปักธงชัย – กบินทร์บุรี ถนนหลวงหมายเลข 304 ระยะทางประมาณ 107 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ พบป่าลานที่ขึ้นกระจัดกระจายเป็นบริเวณกว้าง ที่ทำการจะอยู่ติดกับถนนหลวง
การเดินทางสู่ศูนย์การจัดการอุทยานแห่งชาติทับลาน(ลำปลายมาศ) หรือ แหล่งท่องเที่ยวหาดชมตะวัน ใช้ทางหลวงหมายเลข 2119 (ครบุรี – เสิงสาง) ระยะทางประมาณ 89 กิโลเมตร ถึง อ.เสิงสาง ต่อทางหลวงหมายเลข 2356 (เสิงสาง – หาดชมตะวัน) ประมาณ 15 กิโลเมตร
การเดินทางสู่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ 13 (สวนห้อม) หรือ แหล่งท่องเที่ยวน้ำตกสวนห้อม จะอยู่บริเวณหมู่บ้านศาลเจ้าพ่อ หรือ รู้จักกันในนามตลาด กม.79 ต.วังน้ำเขียว อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา โดยเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถโดยสารประจำทาง จากจังหวัดนครราชสีมา ใช้ถนนหลวงหมายเลข 304 (กบินทร์บุรี – ปักธงชัย) ระยะทางประมาณ 79 กม. ถึงบริเวณตลาดศาลเจ้าพ่อ จากนั้นเลี้ยวซ้ายบริเวณบ้านสวนห้อมใช้เส้นทางถนนคอนกรีตเข้าหมู่บ้านประมาณ 6 กิโลเมตรก็ถึงที่ตั้งหน่วยฯ หรือเดินทางจากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางองครักษ์ – นครนายก – ปราจีนบุรี – กบินทร์บุรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสาย 304 ประมาณ 32 กม. ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน จากนั้นเดินทางโดยใช้ถนนสาย 304 อีกประมาณ 20 กม. ก็จะถึงบริเวณตลาดศาลเจ้าพ่อ จากนั้นเลี้ยวขวาบริเวณบ้านสวนห้อมใช้เส้นทางถนนคอนกรีตเข้าหมู่บ้านประมาณ 6 กิโลเมตรก็ถึงที่ตั้งหน่วยฯ
การเดินทางสู่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติทับลานที่ 11 (ไทยสามัคคี) หรือ แหล่งท่องเที่ยวผาเก็บตะวัน จะอยู่บริเวณหมู่บ้านไทยสามัคคี ต.ไทยสามัคคี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ห่างจากทางเข้าแหล่งท่องเที่ยวน้ำตกสวนห้อม เลยมาทางด้านอำเภอวังน้ำเขียว ประมาณ 3 กิโลเมตร โดยเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวหรือรถโดยสารประจำทางจากจังหวัดนครราชสีมา ใช้ถนนหลวงหมาย เลข 304 (กบินทร์บุรี – ปักธงชัย) ระยะทางประมาณ 75 กม. ถึงบริเวณตลาดศาลเจ้าพ่อ จากนั้นเลี้ยวซ้ายบริเวณบ้านไทยสามัคคี-บุไผ่ ใช้เส้นทางถนนลาดยางเข้าหมู่บ้านประมาณ 13 กิโลเมตร และถนนลูกรังอีกประมาณ 2 กม. ก็ถึงที่ตั้งหน่วยฯ หรือเดินทางจากกรุงเทพ ฯ ใช้เส้นทางองครักษ์ – นครนายก – ปราจีนบุรี – กบินทร์บุรี จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนสาย 304 ประมาณ 32 กม. ก็ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติทับลาน จากนั้นเดินทางโดยใช้ถนนสาย 304 อีกประมาณ 25 กม. ก็จะถึงบริเวณไทยสามัคคี-บุไผ่ จากนั้นเลี้ยวขวาใช้เส้นทางถนนลาดยางเข้าหมู่บ้านประมาณ 13 กิโลเมตร และถนนลูกรังอีกประมาณ 2 กม. ก็ถึงที่ตั้งหน่วยฯ
-ขอขอบคุณ เพจ อุทยานแห่งชาติทับลาน (Thap Lan)