ยกระดับพืชเศรษฐกิจ สู่ตลาดโลก
กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม จับมือ คณะศึกษาศาสตร์ ม.เกษตร ยกระดับสร้างมูลค่าเพิ่มพืชเศรษฐกิจ-ผลไม้หนุนเศรษฐกิจไทยเติบโตสู่ตลาดโลกยั่งยืน
วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2567 เวลา 08.30 – 13.00 น. กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดสัมมนาเผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเป้าหมาย “พืชเศรษฐกิจและผลไม้” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน ณ ห้อง Grand Ballroom C โรงแรมมารวยการ์เด้น ถ.พหลโยธิน กรุงเทพมหานคร โดยมี ดร.กิตติโชติ ศุภกำเนิด ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธาน รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี วงศ์วานิช รัมภกาภรณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการกิจกรรมฯ และ ประธานสาขาวิชาการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้กล่าวถึงความเป็นมาเป็นไปของการจัดกิจกรรมในงานสัมมนาครั้งนี้ นอกจากนี้ ได้มีการมอบโล่รางวัลและเกียรติบัตรให้กับกิจการหรือวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรณีความสำเร็จ จำนวน 4 กิจการ และมอบเกียรติบัตรให้กับกิจการหรือวิสาหกิจที่ได้รับรางวัลชมเชย และที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ รวมทั้งสิ้น 22 กิจการ
ดร.กิตติโชติ เปิดเผยว่า “กิจกรรมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมสัมมนาเผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเป้าหมายพืชเศรษฐกิจและผลไม้ ประจำปีงบประมาณ 2566 ไปพลางก่อน ที่กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดขึ้นเพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และขยายโอกาสให้กับผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป โครงการนี้ มี SMEs และวิสาหกิจกรรมชุมชน เข้าร่วม 22 กิจการด้วยกัน”
“ประเทศไทยมีผลิตผลทางการเกษตรที่หลากหลาย ดังนั้น การปฏิรูปภาคการเกษตรของไทยให้มีประสิทธิภาพเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันดำเนินการเพื่อพัฒนาเกษตรแบบดั้งเดิมไปสู่เกษตรอุตสาหกรรม มีการวางแผนตั้งแต่การเพาะปลูก การพัฒนาศักยภาพภาคการผลิตการบริหารต้นทุน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าสูงเพื่อให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน” ดร.กิตติโชติ กล่าวในที่สุด
รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี กล่าวว่า “งานสัมมนาเผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเป้าหมาย “พืชเศรษฐกิจและผลไม้” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ไปพลางก่อน ครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ทำความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะศึกษาศาสตร์ ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดย กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ในการร่วมกันยกระดับสินค้าเกษตรและแปรรูปสินค้าเกษตรไปสู่นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่ให้มีมูลค่าเพิ่ม ให้เกิดการใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมในการแปรรูปเป็นการใช้ตลาดนำผลิต เพื่อสอดรับกับความต้องการตลาดอย่างแท้จริงพร้อมด้วยกับตรงตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำหนดแนวทางไว้อีกด้วย”
รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี กล่าวต่อว่า “จากการที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงพื้นที่มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่น้องเกษตรกรในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เรารู้สึกประทับใจมาก ๆ คือ พี่น้องเกษตรกรในประเทศไทยของเรามีความเก่งมาก ๆ เขาเหล่านั้นมีองค์ความรู้เดิมในชุมชน เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างมากมายที่อยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย และพี่น้องเกษตรกรก็ได้สมัครเข้ามาร่วมโครงการในครั้งนี้ ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้ทำการคัดเลือกอยู่หลายขั้นตอน กว่าจะได้ออกมา 22 กิจการ ความมุ่งมั่นตั้งใจของพี่น้องเกษตรกรจะอยู่ที่ว่ามีผลิตภัณฑ์แปรรูป รูปแบบไหนอยู่เดิม และจะมาต่อยอดอะไรกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เราก็มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่น่าชื่นใจอย่างมาก ซึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ณ โรงแรมมารวยการ์เด้น จะมีการเสวนาโดยได้เรียนเชิญกรณีความสำเร็จ (success case) ได้มาเล่าให้เราฟังว่า ผลิตภัณฑ์ที่จะทำการแปรรูป หรือเรียกว่า พัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป จะมีผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง”
“การที่เราจะก้าวผ่านไปสู่ตลาดธุรกิจการค้าสมัยใหม่และจะผลักดันไปสู่ระดับโลกได้นั้น สุดท้ายแล้ว หากจะพูดว่า ตลาดนำเกษตร เราต้องวิ่งไปถึงคำว่า modern trade ส่งออกต่างประเทศด้วย ดังนั้น การที่เราจะนำผลิตภัณฑ์ของพี่น้องเกษตรกรที่แปรรูปสินค้าเกษตรแปรรูปออกมาเป็นผลิตผลทางการเกษตรแปรรูป ต้องมีมาตรฐานของตัวสินค้า GAP คือ มาตรฐานทางการเกษตรที่ครบวงจรของการผลิตผลทางการเกษตร มีเรื่อง อย. มีเรื่องกระบวนการที่เป็นมาตรฐานของ Product of Thailand ที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็มีการตั้งมาตรฐานรับรองไว้ หรือแม้กระทั่งเครื่องหมายฮาลาล ผลิตผลของใครที่จะนำไปสู่กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ก็ต้องทำตรงนี้ให้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน” รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี กล่าว
“มาตรฐานทั้งระดับประเทศหรือระดับสากล เราก็ต้องเพิ่มให้ เพราะฉะนั้น ในการลงพื้นที่ตลอดระยะเวลา 6 เดือนเต็มของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เราไม่ได้ไปแค่ระยะเวลาสั้น ๆ เราลงพื้นที่กับพี่น้องพูดคุยกับทั้ง 22 ผู้ประกอบการ โดยใช้งานวิจัยไปคุยกัน เพราะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) และสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร (IFRPD) เพราะฉะนั้นเวลาลงพื้นที่เราจะมีงานวิจัยรองรับและเข้าไปคุยในเรื่องของการพัฒนาผลิภัณฑ์เพื่อจะเทียบเคียงกับต่างประเทศ เราจะยึดมาตรฐานกับต่างประเทศ และในรูปแบบของการออกใบรับรอง การขอใบรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น Central LAB Thailand ห้องปฏิบัติการกลางประเทศไทย เหล่านี้ เพราะฉะนั้น เราจะจูงมือพี่น้องเกษตรกร เราจะไม่ทิ้งเขา เราจะให้ทั้งเรื่ององค์ความรู้ งานวิจัย เรื่ององค์ประกอบกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และตลาด สำคัญมากๆ คือ เรื่องของการตลาด ซึ่งในงานสัมมนามีเครือข่าย Modern trade เข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วย” รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี กล่าวต่อว่า “สำหรับกิจกรรมโครงการนี้ มีความชัดเจนทั้งแบบต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ต้นน้ำ คือ พี่น้องเกษตรกรที่ปลูกผลิตผลสินค้าทางการเกษตรขึ้นเอง ดังนั้น การได้มาซึ่งวัตถุดิบผลิตผลทางการเกษตรสำคญมาก ว่าจะต้องดูแลอะไร เมล็ดภัณฑ์เป็นอย่างไรกระทั่งไปสู่เรื่องของการเก็บเกี่ยว ทำให้เกิดมาตรฐานของตัวผลิตผลทางการเกษตร เพื่อนำไปสู่การแปรรูปที่ได้มาตรฐาน หากมาตรฐานต้นน้ำดี กลางน้ำ ในส่วนของสถาบันในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยทีมของนักวิจัยก็จะลงพื้นที่ไปพัฒนาผลิภัณฑ์ให้ก็จะครบถ้วนสมบูรณ์”
“จากนั้น ปลายน้ำ เราก็จะหาตลาดให้เป็นจุดจบที่ดีก็ต้องมีตลาดรองรับ เพราะฉะนั้น เราดูกระบวนการตั้งแต่ต้น นี่คือเหตุผลที่ว่า ทำไมเราถึงคลุกคลีอยู่กับพี่น้องเกษตรกรถึง 6 เดือนเต็ม เราลงพื้นที่ไปทุกครั้งก็จะมีการให้คำแนะนำตั้งแต่การเก็บเกี่ยวการผลิตรวมถึงกระบวนการต่าง ๆ อะไรที่ยังไม่ได้มาตรฐานก็ทำให้ได้มาตรฐาน เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีมาตรฐาน อย. และจึงจะสามารถหาตลาดให้ได้” รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี กล่าวต่อว่า “นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ หีบห่อ ก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน เราได้มีการออกแบบมากกว่า packaging ก็คือตัว storytelling ต้องเล่าที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์ของเราให้ได้ว่า ทำไมเราถึงต้องทำผลิตภัณฑ์ของเรา เพราะฉะนั้น เวลาเราพูดถึงที่มาที่ไป storytelling ที่จะปรากฏอยู่ในบรรจุภัณฑ์นั้น เราต้องให้พี่น้องเกษตรกรได้แสดงความเข้มแข็ง ของเขาเอง โดยการบ่งบอกตัวตนของสินค้าพื้นถิ่น พื้นที่ ภูมิภาคของพี่น้องเกษตรกร รวมถึงบรรจุภัณฑ์ ว่าทำไมต้องมีชื่อ เป็นที่จดจำ เพราะฉะนั้นจะทำให้พี่น้องเกษตรกรได้เข้าใจถึงการได้มาซึ่งหีบห่อบรรจุภัณฑ์”
“นอกจากนี้ ในงานสัมมนาครั้งนี้ มีการบรรยายให้ความรู้โดย รองศาสตราจารย์ชื่นจิตต์ แจ้งเจนกิจ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการเงินและทรัพย์สิน อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในเรื่องของ “การยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปสินค้าเกษตรของพี่น้องเกษตรกรให้ไปสู่ตลาด Modern trade ระดับโลกให้ได้” รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี กล่าวต่อว่า “หากพูดถึงประเด็น ปัญหาความยากจนของพี่น้องเกษตรกรที่ยังไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง นั้น ในฐานะที่ตนเองอยู่ในสายการศึกษา จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า พี่ป้าน้าอาหรือแม้กระทั่งปู่ย่าตายายที่อยู่ในพื้นที่ มีการแบ่งการทำงานในทุกวัย เด็กรุ่นใหม่ ๆ กลับไปสู่แผ่นดินเกิดในโครงการรักบ้านเกิด คือ การกลับไปเป็นพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ของตนเอง เพราะฉะนั้น การจะเป็นฟันเฟืองหลักในการบริหารจัดการทรัพยากรให้เข้มแข็งนั้น ต้องทำให้ทรัพยากรมนุษย์มีความเข้มแข็งก่อน ประเทศไทยเรามี Generation ใหม่ ๆ หลายกลุ่มกลับไปสู่พื้นที่ของตนเอง เราควรที่จะมีการให้เด็ก ๆ เหล่านี้มีการบริหารจัดการทรัพยากรพื้นดิน หรือแผ่นดินที่เขาอยู่ ในการบริหารจัดการอย่างไร ตั้งแต่แนะนำการปลูก เก็บเกี่ยว จนกระทั่งได้ผลิตผลมา และแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร เป็นต้น”
“ดังนั้น การบริหารจัดการทรัพยากรที่ดีต้องเกิดจากเครือญาติที่กลับคืนสู่พื้นที่บ้านเกิด และใช้องค์ความรู้ใหม่ๆ ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือกระทรวงเกษตรฯ หรือกระทรวงพาณิชย์ หรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการทำให้เกิดเป็นบุคคลต้นแบบไปบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ถิ่นบ้านเกิดตนเอง ก็จะสอดรับกับปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านได้พระราชทานทฤษฎีศาสตร์พระราชา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนไข คือ การเดินทางสายกลาง มีความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันที่ดี และใช้ความรู้ คู่คุณธรรม ในการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ ก็จะทำให้ปัญหาความยากจนของพี่น้องเกษตรกรบรรเทาเบาบางไป” รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี กล่าว
“สุดท้ายนี้ โครงการดี ๆ ระหว่างกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยคณะศึกษาศาสตร์ ในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไปครั้งต่อไปอย่างแน่นอน จะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้เพิ่มขึ้นอีกจำนวนถึง 30 กิจการ และจะมีเครือข่ายในการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร และเกษตรแปรรูป ที่เป็นการสร้างเครือข่ายร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ระดับอาชีวศึกษา สถาบันที่เป็นห้องปฏิบัติการต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งสถาบันที่เป็นหน่วยทดสอบก็ตาม หากพี่น้องเกษตกร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามได้ทางช่องทางสื่อมวชนต่างๆ ได้ต่อไป” รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี กล่าวในที่สุด