สองสมาคมฯ เอกชนร่วมต่อต้าน การลักลอบค้าสัตว์ป่า-พันธุ์พืช

วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมเอส 31 สุขุมวิท ห้อง เดอะแซมเบอร์ ชั้น B ถ.สุขุมวิท กรุงเทพมหานคร สมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย เพื่อส่งเสริมศักยภาพและความร่วมมือการต่อต้านการค้าสัตว์ป่า ตัวนิ่ม สัตว์ป่าอื่น และพันธุ์พืช ที่ผิดกฎหมาย โดยมี นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี กรมศุลกากร เป็นประธานในพิธีและร่วมเป็นสักขีพยาน ทั้งนี้ นายอนันต์ ทินะพงศ์ นายกสมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย และ นางสาวเมย์ โม วาฮ์ ผู้อำนวยการสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย เป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันในครั้งนี้

นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทย สมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ(TIFFA) สมาคมตัวแทนขนส่งสินค้าทางอากาศไทย (TAFA) สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง

การดูแลสัตว์ป่าไม่ให้ถูกลักลอบจับออกมาและนำไปขายได้รับความร่วมมือจากทั้ง 2 สมาคมเอกชนที่ร่วมกันต่อต้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ในการช่วยเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในอนุสัญญาไซเตส ว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์
โดยในครั้งนี้เป็นความร่วมมือเกิดขึ้นระหว่างสมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย ลงนามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมศักยภาพและความร่วมมือการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีการส่งเสริมความรู้ และความเข้าใจด้านสิ่งแวดล้อม ให้แก่เครือข่ายกลุ่มนักธุรกิจร่วมกันให้เข้าใจถึงกระบวนการขอใบอนุญาตในการนำเข้าหรือส่งออกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสัตว์หรือพืชให้เป็นไปตามกฎหมายที่อนุสัญญาไซเตสกำหนดให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการถูกจับตามองและได้รับคำเตือนจากการประชุมไซเตส เรื่องการลักลอบค้าสัตว์หรือพืขที่ผิดกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา
ซึ่งความร่วมมือของทั้งสองหน่วยงาน กรมศุลกากร เห็นว่า จะช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐในการตรวจสอบเบื้องต้น โดยเฉพาะสมาคมตัวแทนออกของรับอนุญาตไทย ที่มีฐานะเป็นผู้ส่งสินค้าและเป็นตัวแทนรับใบอนุญาต ซึ่งในปัจจุบัน นอกจากมีการลักลอบนำเข้าซากสัตว์แล้ว ยังพบว่ามีการนำสัตว์ป่าเข้ามาเลี้ยงอีกด้วย


นายพันธ์ทอง กล่าวว่า “ทั่วโลกได้มีประเมิน UNODC เขาประเมินว่า มีการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ปีหนึ่งประมาณ 26000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเยอะมาก บ้านเราที่เห็นและจับกุมบ่อยๆ ตอนนี้เป็นเทรนด์ที่เรียกว่า เอสโซติกเพลส เอาสัตว์ป่ามาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ก็เป็นเทรนด์ทั่วโลก และก็เรามีการจับกุมไม่ใช่เฉพาะกรมศุลกากรเท่านั้น เราร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และร่วมมือกับ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) วันนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดี ที่มีเครือข่ายเอกชน เข้ามาร่วมเป็นหูเป็นตา ในการป้องกันและปราบปรามตรงนี้เพิ่มขึ้น
ทางด้าน นายอนันต์ กล่าวว่า “ในฐานะที่เป็น หนึ่งเลยคือ ผู้ขนส่ง สอง คือ เป็นตัวแทนออกของรับใบอนุญาต เราต้องทำงานร่วมกับกรมศุลกากร เพราะการนำเข้าหรือส่งออกสัตว์ป่า ยังไงก็แล้วแต่ หากมีการมาถูกทางช่องทางยังไงก็ต้องมีใบขนส่งทั้งขาเข้าและขาออก เมื่อมีโอกาสได้ทำงานกับกรมศุลกากร ก็ต้องดูว่าผู้นำเข้าและส่งออกคือใคร ผู้ท่ี่ซื้อผู้ท่ี่รับของปลายทางเป็นใคร อันนี้เราจะสามารถรู้ได้เลยว่า หากมีกรณีที่มีการเข้ามาแบบไม่ที่ถูกต้องชัดเจน อันนี้ เราก็ต้องมีการรายงานไปทางกรมศุลกากรได้ทราบเพื่อยุติการขนส่งในกรณีนี้”


ทั้งนี้ ในงานได้มีการจัดอบรมสัมมนาให้กลุ่มภาคีเครือข่ายทำความเข้าใจเรื่องกรอบกฎหมาย และข้อบังคับเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าและพันธุ์พืชที่ผิดกฎหมาย โดย นายเจนชิษฐ์ สุวรรณสุทธิ์ นิติกรส่วนด่านตรวจสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และเรื่อง วิธีการเตรียมเอกสารและวิธีการขออนุญาตสำหรับการขออนุญาตนำเข้า ส่งออกและนำผ่านภายใต้ข้อกำหนดของไซเตส โดย นายสดุดี พันธุ์ภักดี ผู้อำนวยการส่วนอนุญาตการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นวิทยากรบรรยายในครั้งนี้

About Author