สุดเจ๋ง! เยาวชนไทยวัย 16 ปี สร้างนวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้ เพื่อเป็นสื่อการสอน แก่ผู้พิการทางสายตา

สุดเจ๋ง! เยาวชนไทยวัย 16 ปี ยอดนักคิดสมาชิก Fab Lab Siam สร้างนวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้เพื่อเป็นสื่อการสอนฉบับรักษ์โลกให้แก่ผู้พิการทางสายตา

ปัจจุบันหลายคนคงคุ้นชินกับคำว่า “เทคโนโลยี” หรือ “นวัตกรรม” ในชีวิตประจำวันอยู่บ่อยครั้ง แต่หลายคนอาจยังไม่คุ้นเคยว่านวัตกรรมนอกจากจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมได้แล้ว นวัตกรรมยังสามารถส่งต่อสิ่งดี ๆ เพื่อสังคมได้ โดยผ่านจินตนาการและพลังของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก มีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพและเรียนรู้ได้เร็ว ที่พร้อมลุกขึ้นมาจุดประกายพลังบวกเล็ก ๆ ผ่านการใช้นวัตกรรมมาสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคม เปิดโลกที่มากกว่าการมองเห็นให้ผู้พิการทางสายตาได้สัมผัสกับประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ ๆ ด้วยสื่อการเรียนการสอนฉบับรักษ์โลกที่สร้างขึ้นจากขวดพลาสติกเหลือใช้ ผสานกับนวัตกรรม 3D Printer และโซลูชันครบวงจรจาก Fab Lab Siam หรือ แล็บเปลี่ยนไอเดียให้เป็นจริง ที่ก่อตั้งโดย บริษัท อินแคมเทค จำกัด ผู้ให้บริการที่ปรึกษาการสร้าง Fab Lab และ STEM Lab รายแรก ๆ ในไทย ภายใต้แนวคิดการดำเนินธุรกิจ “จินตนาการถึงความเป็นไปได้”

นายธนกร วชิรขจร หรือ น้องกันน์ ปัจจุบันอายุ 16 ปี ศึกษาอยู่ชั้น Grade 11 (หรือ ม. 5) โรงเรียนร่วมฤดีวิเทศศึกษา (Ruamrudee International School) และเป็นผู้ก่อตั้ง ชมรม Between the Roots เล่าให้ฟังถึงแรงบันดาลใจของโครงการในครั้งนี้ว่าจุดเริ่มต้นของการตั้งชมรม “Between the Roots” คือโปรเจกต์ที่ผมได้รับเป็นการบ้านในชั้นป. 5 ในตอนนั้นผมได้รับโจทย์ให้เลือกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติหรือ SDG เพื่อทำโครงงานและจัดนิทรรศการ ในตอนนั้นผมนึกถึงประเด็นในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การรีไซเคิล การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประเด็นเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท ซึ่งตอนนั้นผมรู้สึกทึ่งในเรื่องนี้มาก ๆ เพราะพลังงานหมุนเวียนมีเรื่องราวให้ผจญภัยและศึกษาหลายแง่มุมตั้งแต่พลังงานแสงอาทิตย์ไปจนถึงพลังงานไฟฟ้า พลังน้ำ ตรงนี้เลยกลายมาเป็นหัวข้อของนิทรรศการของผมเกี่ยวกับพลังงานทดแทนในประเทศไทย จากการค้นคว้าจนทำให้ผมได้พบกับชุมชนต้นแบบด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน ที่นั่นผมได้ศึกษาวิธีการใช้พลังงานหมุนเวียนทุกประเภท เช่น แผงโซลาร์เซลล์และบอลลูนก๊าซชีวภาพ หรือไบโอแก๊ส บอลลูน จนทำให้ผมสามารถนำเสนอโครงงานและจัดนิทรรศการของตัวเองได้สำเร็จและเป็นสิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดในตอนนั้น นับแต่นั้นเป็นต้นมาผมยังคงคิดถึงเรื่องราวที่ชุมชนนั้นและคิดว่าผมในฐานะคนรุ่นใหม่น่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น ดีขึ้น ผมอยากช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม ด้วยการศึกษาค้นคว้าเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะสามารถนำไปช่วยสังคมได้ ผมจึงตั้งชมรมนี้ขึ้นมาเพื่อรวมพลังของกลุ่มเพื่อน ๆ ที่มีแรงบันดาลใจแบบเดียวกันลุกขึ้นมาใช้พลังและไอเดียของคนรุ่นใหม่ช่วยซัพพอร์ตและเปลี่ยนแปลงสังคม ผู้คน และสิ่งแวดล้อม ให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน”

ชมรม Between the Roots ซึ่งเป็นชมรมที่เน้นในด้านการรณรงค์ 3 คีย์หลักได้แก่ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และการสร้างสังคมที่ยั่งยืน (Sustainable Society) ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมไม่ว่าจะเป็นการทำไบโอแก๊สบอลลูน เพื่อเป็นแหล่งพลังงานทดแทนการใช้แก๊ส LPG เพื่อการหุงต้ม ประกอบอาหาร ให้แก่ชาวบ้านในเขตพื้นที่ป่าสงวน ตำบลป่าเด็ง จังหวัดเพชรบุรี, การสอนภาษาอังกฤษให้แก่เด็กโรงเรียน ตชด. บ้านห้วยโสก ตำบลป่าเด็ง จังหวัดเพชรบุรี และกิจกรรมล่าสุดที่ผมได้ไอเดียที่ต้องการต่อยอดการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีจากการเป็นสมาชิก Fab Lab Siam ซึ่งเป็นแล็ปที่ใช้เปลี่ยนภาพในจินตนาการให้กลายเป็นของจริงที่สามารถนำไปต่อยอดได้อีกมากมาย ซึ่งผมได้คลุกคลีใน Fab Lab Siam ตั้งแต่เด็ก ๆ มีโอกาสฝึกใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น เครื่อง Laser Cutter เครื่อง 3D Printer และโปรแกรมการออกแบบต่าง ๆ ครั้งนี้ผมชวนเพื่อน ๆ ในชมรม Between the roots มาประดิษฐ์สื่อการเรียนการสอนให้กับผู้พิการทางสายตาเพื่อมอบให้แก่ ศูนย์เทคโนโลยีการศึกษาเพื่อคนตาบอด ซึ่งเป็นสิ่งประดิษฐ์ทำจากวัสดุรีไซเคิล นอกจากจะช่วยผู้พิการแล้วยังสามารถเปลี่ยนขยะให้เป็นสิ่งของที่สร้างประโยชน์ตอบแทนสู่สังคมได้อีกด้วย”

เปิดไอเดียนวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนอักษรเบรลล์จากขวดพลาสติกที่เหลือใช้แล้วนำมารีไซเคิล และเทคโนโลยี 3D Printer

สื่อการเรียนการสอนของชมรม Between the Roots ที่ผลิตขึ้นด้วยแรงบันดาลใจของกลุ่มนักเรียนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจอาสา มีลักษณะคล้ายโดมิโน แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นอักษรภาษาอังกฤษ หรือตัวเลข อีกส่วนหนึ่งเป็นอักษรเบรลล์ ทำจากเส้นพลาสติกที่แปรรูปมาจากขวดพลาสติกเหลือใช้นำมารีไซเคิล โดยการออกแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และใช้เครื่อง 3D Printer ผลิตออกเป็นสื่อการการเรียนการสอนอักษรภาษาอังกฤษ ตั้งแต่ A – Z และตัวเลข 0 – 9 ความพิเศษของแผ่นอักษรนี้จะมีปุ่มนูนอักษรเบรลล์กำกับไว้ไม่เพียงเฉพาะแค่สำหรับน้องๆ ผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงทุกคน ที่ต้องการจะเรียนรู้อักษรเบรลล์ ผ่านสื่อการสอนที่ผลิตขึ้นจากแรงบันดาลใจและนวัตกรรมแห่งอนาคตที่รวมอยู่ในห้อง Fab Lab Siam

Fab Lab Siam ก่อตั้งขึ้นโดย บริษัท อินแคมเทค จำกัด โดย บริษัทฯ เริ่มต้นจากการให้บริการโซลูชั่น CAD/CAM เป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ CAD/CAM รายแรก ๆ ในประเทศไทยปัจจุบันอินแคมเทคเป็นผู้ให้บริการที่ปรึกษาการสร้าง Fab Labs และ STEM Labs ตลอดจนโซลูชั่นเสมือนจริง (Immersive Experience) มีบริการทั้งโซลูชันฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทฯ ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด “จินตนาการถึงความเป็นไปได้” โดยที่ผ่านมาบริษัทยังได้ตระหนักถึงการตอบแทนคุณประโยชน์ต่าง ๆ สู่สังคมภายใต้ความถนัดและความสามารถของบริษัทฯ อีกด้วย

“การเริ่มต้นคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสังคมในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ โดยก้าวต่อไปของชมรม Between the Roots ยังคงมุ่งเน้นการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยยึด 3 คีย์หลักของชมรมเป็นตัวขับเคลื่อน ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีจาก Fab Lab Siam เพื่อออกแบบ ทดลอง คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นจากจินตนาการให้กลายเป็นจริง เพื่อทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและทุกสิ่งบนโลกใบนี้ดีขึ้นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้” นายธนกร กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมติดตามและสนับสนุนชมรม Between the Roots พลังของคนรุ่นใหม่ในการทำประโยชน์เพื่อสังคม ด้วยนวัตกรรมแห่งอนาคตได้ที่ www.betweentheroots.org และ www.incamtec.co.th  

About Author