บทสัมภาษณ์ “เบิ้ล-นนทวัฒน์ นำเบญจพล” ผู้กำกับ “เทอม 3: พี่เทค”
จากคนทำหนังสารคดีสู่ผู้กำกับภาพยนตร์ฟิกชันและหนังสยองขวัญเรื่องแรก
ผมเริ่มต้นมาจากการทำหนังสารคดีครับ ตอนที่เริ่มทำก็เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายจากกล้องฟิล์มมาสู่ดิจิทัล แล้วมองว่าการทำหนังฟิกชัน (Fiction) มันใช้ทีมงานเยอะ ไหน ๆ กล้องมันก็เหลือตัวเล็กลงแล้ว ผมก็เลยคิดว่าสารคดีมันเหมาะที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการทำหนัง ก็ทำมาเรื่อย ๆ เป็นสิบปี เสร็จไป 4 เรื่อง (ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง, สายน้ำติดเชื้อ, ดินไร้แดน #BKKY)
พอหลังจากตรงนั้น เราก็เริ่มเข้าใจโครงสร้างของมันมากเกินไป บวกกับพอเริ่มทำสารคดีเกี่ยวกับบุคคลจริง มันก็จะมีความเซนซิทีฟพอสมควร ทำออกมาก็ทำไม่ได้เต็มที่ ไอเดียต่าง ๆ ที่เรารีเสิร์ชมาก็ไม่สามารถถ่ายได้จริง เราก็เก็บไว้เขียนไว้ออกมาเป็นบทภาพยนตร์ จนสุดท้ายก็ออกมาเป็นเรื่อง “ดอยบอย” (2566) ตอนทำ “ดอยบอย” มันก็เลยสนุกมากเหมือนได้รีเฟรช มีอะไรหลาย ๆ อย่างให้เราได้ทดลอง ได้ค้นหาและแก้ปัญหากับมัน ก็เลยสนุก พอมีโปรเจกต์ “เทอม 3” ติดต่อมาแล้วเป็นประเด็นที่น่าสนใจ เป็นหนังสั้น และเราก็เป็นคนที่ชอบดูหนัง Horror อยู่แล้ว รวมทั้งผมก็ชอบเรื่อง “เทอมสอง สยองขวัญ” (2565) ด้วย และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือตอนนั้นมีบริษัทเพื่อนที่เป็นโปรดักชัน เราอยากทำงานร่วมกันมานานมากแล้ว ทุกอย่างก็ลงตัวพอดีที่จะมาทำเรื่องนี้กับ “สหมงคลฟิล์มฯ” ครับ
เรื่องราวของ “พี่เทค”
“เทอม 3 ตอนพี่เทค” แสดงโดย “จั๊มพ์ พิสิฐพล” มารับบทเป็น “เอิร์ธ” รุ่นพี่ กับ “อัด อวัช” มารับบทเป็น “ซัน” รุ่นน้อง ก็เป็นเรื่องของมหา’ลัยหนึ่งที่มีระบบ “พี่เทค” กับ “น้องเทค” ตัวเอิร์ธเขาจะแอนตี้ระบบโซตัส ไม่อยากที่จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ แต่วันหนึ่งเอิร์ธไปเห็นว่ามีซันที่เป็นรุ่นน้องได้รับของแปลก ๆ จากพี่เทค มันแปลกและชวนสยองจนเอิร์ธเองก็อยากจะรู้ว่าใครที่เป็นพี่เทคลึกลับคนนั้น จนทำให้ตัวเอิร์ธและซันได้เจอกับความสยองที่คาดไม่ถึง
มีประเด็นการรับน้องเป็นแนวทางของเรื่องด้วยใช่ไหม
นอกจากความที่เป็นภาพยนตร์แนวสยองขวัญแล้วเรามีมิติของตัวละครที่มีมุมมองเกี่ยวกับระบบในมหาวิทยาลัยที่อยากจะสื่อสาร สิ่งที่น่าสนใจเพราะมันมีประเด็นที่พูดถึงคนรุ่นใหม่ที่เขาอยากจะมีสิทธิ์เลือกได้เอง มีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตแบบที่ตัวเองอยากได้ เลือกเองได้ มันก็จะมีประโยคหนึ่งในหนังที่พูดว่า “พี่จะดีใจไปทำไม สุดท้ายแล้วพี่ก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้อยูดี มหา’ลัยเราก็ยังเหมือนเดิม” มันก็สะท้อนอะไรได้ในสังคม มันก็เป็นการพูดถึงสิ่งที่วัยรุ่นยุคปัจจุบันเขานึกคิดกัน ตัวของ “ซัน” (อัด อวัช) ก็เหมือนเป็นตัวแทนที่ถูกยื้อไปมาระหว่างระบบเก่ากับระบบใหม่ แต่เราใช้ความเป็น Horror ของหนังเป็นตัวคลุมเรื่องราวอีกที
พอเป็นหนังผี เรามีการดีไซน์การรับน้องหรือบรรยากาศต่าง ๆ ได้แหวกกว่าเดิมมั้ย
ตอนแรกเราก็ดีไซน์ทุกอย่างเอาไว้เป็นประมาณนักศึกษาปกติ แต่ตอนประชุม “พี่คาเงะ” (แอ็กติ้งโค้ช) ก็เล่าถึงช่วงที่เขารับน้องในมหา’ลัยวันพิเศษที่เป็นวันเฉลย “พี่เทค-น้องเทค” มันก็จะมีการดีไซน์ของชุดที่อำพรางรุ่นพี่เอาไว้ มันก็เลยเกิดไอเดียมีการดีไซน์เสื้อผ้าของพี่เทคให้มีความน่าสนใจ มีการดีไซน์ต่อในส่วนของกิจกรรมเฉลยพี่เทค มีเทียน มีเพลงเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็น Element ที่ทำให้มันเกิดความน่าสะพรึงได้อีก
กับเพลงรับน้องที่อยู่ในหนัง เราก็รีเสิร์ชกันมาว่าเวลารับน้องมันมีเพลงแนวไหนยังไงบ้าง เราก็เอามาดีไซน์เมโลดี้ให้มันคล้าย ๆ กับเพลงรับน้องของบางมหาวิทยาลัย แต่พอวิชวลของหนังมันเบอร์ใหญ่แล้ว เพลงก็น่าจะต้องดีไซน์ให้มันใหญ่ตามไปด้วย เพลงหรือองค์ประกอบต่าง ๆ ในหนังก็มีความ Horror หนักขึ้นไปอีก แล้วปกตินะเราไม่เคยตัดต่อแล้วใส่ซาวด์ในคัตแรก ๆ เลย ส่วนใหญ่จะไปทำกันตอนโพสต์ (Post Production) ใช่ไหม แต่อันนี้ใส่เลย บิลด์ตัวเอง บิลด์ระหว่างคัตติ้ง สนุกกับการเลือกเสียงต่าง ๆ เพราะมันดึงความน่ากลัวของภาพออกมาได้เยอะมาก ก็คือคิดกันมาทุกระบวนการตั้งแต่เริ่ม ๆ เลย
คาแร็กเตอร์หลักในเรื่องเป็นยังไง
ผมอินสไปร์มาจากเด็กสมัยใหม่ จากบทที่ทางสหมงคลฟิล์มฯ ส่งมาให้ พยายามต่อยอดคาแร็กเตอร์ของตัวละครในเรื่อง เริ่มจาก “เอิร์ธ” (จั๊มพ์ พิสิฐพล) ที่เล่นเป็นรุ่นพี่ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง หัวก้าวหน้า เชื่อว่าทุกอย่างมันจะดีกว่าถ้าเราสามารถเลือกอะไรเองได้ ไม่ได้ถูกจัดมาให้โดยระบบ พอถึงเวลารับน้องใหม่ ก็จะมีการจับพี่เทคน้องเทคกันขึ้น เอิร์ธก็พยายายามต่อต้านกับระบบ
ส่วน “ซัน” (อัด อวัช) เป็นเด็กปีหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาเรียนในมหา’ลัยนี้ เป็นคนที่ตั้งใจทำอะไรก็จะมุ่งมั่นจดจ่อกับมันถึงขั้นหมกมุ่น แต่ว่าเรื่องอุดมการณ์เรื่องสังคมการเมืองอะไรแบบนี้ เขาก็ยังไม่ได้ชัดเจนอะไรขนาดนั้น เขาพร้อมที่จะเปิดกว้างกับอะไรใหม่ ๆ ใครดึงไปทางไหนก็พร้อมที่จะไปทางนั้น แค่ให้เขารู้สึกดีไปกับมัน ตัวซันก็เหมือนถูกดึงไปดึงมาระหว่างโซตัสกับแอนตี้โซตัส
การคัดเลือกนักแสดงทั้ง “อัด” และ “จั๊มพ์” มารับบทนำในเรื่องนี้
“อัด อวัช” เขาเคยรับบทนำในเรื่อง “ดอยบอย” ของผมเมื่อปีที่แล้ว เป็นครั้งแรกที่อัดได้เล่นเป็นตัวละครหลักของเรื่อง ส่วนผมได้กำกับภาพยนตร์ฟิกชันครั้งแรกด้วย ผมกับอัดก็เลยรู้สึกโตมาด้วยกัน ได้เรียนรู้ได้ศึกษาฝึกฝนมาด้วยกันตั้งแต่ “ดอยบอย” ผมเห็นถึงการพัฒนาของน้องตั้งแต่วันมาแคสติ้งจนปิดกล้อง เราเห็นเลยว่าเขาทุ่มเท เป็นคนมีพรสวรรค์ พัฒนาการเขาก้าวกระโดดมาก พอมาทำเรื่องนี้เราก็รู้สึกอยากร่วมงานกันอีก อยากทดลองตัวเองด้วยว่าถ้าเราเอาคนเดิมมาเล่นบทอีกแบบหนึ่ง เราสามารถที่จะทำให้เขาเป็นตัวละครอีกตัวหนึ่งได้มากน้อยแค่ไหน สุดท้ายอัดก็ทำได้ดีไม่ซ้ำมาจาก “ดอยบอย” มาลองดูฝีมืออัดกันครับ
ส่วน “น้องจั๊มพ์” ตอนดู “เพื่อน(ไม่)สนิท” (2566) จั๊มพ์เขาดู Outstanding โดดเด่นมาก แววตาดูเป็นธรรมชาติ ดู Shining เราก็สนใจตั้งแต่ตอนดูเรื่องนั้นแล้ว เลยลองเรียกเขามาแคสต์ดู น้องเขามีเสน่ห์มาก ๆ และสามารถเป็น “เอิร์ธ” ในแบบที่เราจินตนาการได้โดยไม่ต้องเหนื่อยมาก และจั๊มพ์เป็นคนที่ยิ้มตลอดเวลา น่ารัก นิสัยดี แต่ตอนที่ถ่ายหนังจั๊มพ์ต้องดูกลัว แต่หน้าเขาทรงยิ้ม ต้องวอไปบอกว่าอย่าลืมหุบยิ้ม เขาก็บอกว่าไม่ได้ยิ้ม ก็ต้องหาวิธีทำปากอีกแบบที่ทำให้ไม่รู้สึกว่าเป็นการยิ้ม น่ารักครับ
เมื่อสองคนนี้มาเล่นด้วยกันแล้วเป็นยังไงบ้าง ได้อย่างที่คาดหวังมั้ย
ตอนแรกกังวลเพราะว่า “อัด” เขาอายุมากกว่า “จั๊มพ์” แต่ Psysical จั๊มพ์ตัวใหญ่กว่า ดังนั้นในบทตัว “เอิร์ธ” เป็นรุ่นพี่ที่ตัวใหญ่กว่าต้องคอยมาปกป้อง “ซัน” จากสิ่งเร้นลับบางอย่าง ก็เป็นห่วงในเรื่องของ Energy ในการเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องมันจะเข้าถึงคนดูหรือเปล่า แต่พอได้เวิร์กชอปกันไปแล้วก็รู้สึกว่าเราเลือกไม่ผิด มันดูเชื่อว่าสองคนนี้เป็นรุ่นพี่รุ่นน้องกัน ก็รู้สึกแฮปปี้กับการแสดงของน้องทั้งสองคน
ตั้งแต่ถ่ายทำมาคิดว่าฉากไหนที่โหดที่สุด
“ฉากในหอร้าง” เพราะมันมีความแอ็กชัน แล้วเราเคยทำแอ็กชันมานิดหน่อยตอนทำ “ดอยบอย” นอกจากนั้นมันก็มีความแฟนตาซีมีความลึกลับ มีความดราม่าผสมกันเต็มไปหมดอยู่ในฉากเดียวกัน ทั้งงานด้านภาพและแสงอะไรพวกนี้ก็มีดีไซน์ในฉากนี้กันเยอะ ทุกอย่างของหนังมันถูกพรีเซนต์ในฉากนี้ได้เยอะมาก และนอกจากในทางโปรดักชันแล้ว ห้องก็แคบมาก ของเยอะมาก การทำงานไม่ได้สะดวกเท่าไหร่ โหดสุดแล้วครับอยากให้ไปดูว่ามันเป็นฉากอะไร และต้องขอบคุณ “ไซมอน” (Simon Dat Vu) ตากล้องเพื่อนเราด้วยที่บินมาจากเยอรมนีเพื่อร่วมงานกัน ได้ภาพได้ Visual ที่ออกมาดีมาก อยากมีเวลาสัก 10 วันเพราะเวลาที่ทำงานเรื่องนี้กันมันสนุกมาก
มีจุดไหนที่ประทับใจหรือเกินคาดบ้าง
ฉากจบ ฉากที่ทุกอย่างมันเคลียร์ซึ่งบอกไม่ได้ว่าเคลียร์ยังไง แต่มันเป็นการที่เราคิดต่อยอดมาเรื่อย ๆ ตอนอยู่ในกอง แล้วได้สิ่งที่ออกมาอย่างที่เราคิด มันเลยประทับใจในฉากนี้มากเป็นพิเศษครับ
เคยได้ยินเรื่องเล่าหลอน ๆ ของมหา’ลัยตัวเองบ้างมั้ย
มีได้ยินบ้างตอนหอพักว่างว่ามีคนเสียชีวิตเป็นคนฆ่าตัวตาย แล้วก็มีเรื่องของลิฟต์ที่ไม่จอดอยู่ชั้นนึง มันก็เกิดความน่าสงสัยว่าเพราะอะไรทำไมลิฟต์ถึงต้องไม่จอดที่ชั้นนี้ ก็มีคนเล่าต่อ ๆ กันมาว่าเป็นเพราะมีคนฆ่าตัวตายอยู่ในห้องเช่าที่ชั้นนั้น แต่ก็ไม่เคยเจอกับตัว
ส่วนอันนี้ตอนไปถ่ายสารคดีที่กาญจนบุรีชายแดนติดกับพม่า เราไปทำสารคดีเกี่ยวกับชาวบ้านที่เขาอาศัยสายน้ำหนึ่งในการดำรงชีพ น้ำใสสวยมาก แต่อยู่มาวันหนึ่งวัวควายหรือคนไปดื่มน้ำแล้วก็ตาย ใครล้างหน้าก็ตาบอด บางคนที่มีลูกหลานออกมาก็พิการ สาเหตุก็เพราะสายน้ำนี้ปนเปื้อนสารตะกั่ว
ทีนี้ก็มีพี่คนหนึ่งที่เราเลือกมาเล่า ขาเขาไม่ดี แต่เวลาอยู่ในน้ำพลิ้วมาก ตอนเขาลงเล่นน้ำแล้วว่ายมาใต้ต้นไม้ เขาก็จะเล่าว่าตรงนี้มีผีผู้หญิงนั่งอยู่บนต้นไม้ แต่แกไม่กลัว ผมถ่ายเสร็จรอบแรกแล้วก็กลับไป กลับมาอีกทีคือทราบว่าพี่คนนี้เขาเสียชีวิตแล้ว เสียชีวิตตรงที่เขาเล่าว่ามีผีผู้หญิงนั่นแหละ แล้วก็มีทีมงานคนหนึ่งแกฝันว่าพี่เขามานั่งตัวเปียก ๆ อยู่ที่หัวเตียง พอตื่นมาก็หายไป มีคนในหมู่บ้านก็เห็นว่าพี่เขาเดินไปเดินมาบางแห่งในหมู่บ้าน คนนั้นก็เห็นคนนี้ก็เห็น พอคืนสุดท้ายก่อนกลับ ทีมงานพวกเราก็นอนเรียงกันอยู่ในโรงเรียนประถมที่พื้นเป็นไม้ ตกกลางคืนมีเสียงอะไรมันก็จะชัดมาก ผมก็ได้ยินเสียงไม้เท้าของพี่เขามันดังก๊อก ๆ ไกล ๆ แล้วก็เริ่มเข้ามาใกล้ ๆ เข้ามาเรื่อย ๆ มันขัดมาก เราก็ไม่กล้าลืมตามาดูหลับตาไปจนเช้าเลย อันนี้คือที่เจอชัดที่สุดแล้วในชีวิต
ฝากส่งท้ายถึงผลงานเรื่องนี้
ก็ฝากไปดู “เทอม 3” ด้วยนะครับ ผมทำตอน “พี่เทค” ทีมงานทุกคนก็ตั้งใจกันมากครับตั้งแต่การพัฒนาบทร่วมกันขึ้นมา ถึงตอนถ่ายทำ ตัดต่อ โพสต์โปรดักชัน ทุกคนสนุกสนานกับการได้ทดลองอะไรใหม่ ๆ แนวทางใหม่ ๆ เราตั้งใจกันทำกันครับ อยากให้ลองไปรับชมกันครับ