เปิดที่มาของวันโกหกโลก “April Fool’s Day”

ใครเคยโดนเพื่อนหลอกในวัน April Fool’s Day ยกมือขึ้น! โกหกได้ไม่ผิด แม้ว่าจะรู้สึกอึ้งกับคำโกหก หรือเหตุการณ์หลอก ๆ ที่เพื่อนสรรหามาอำแบบขำ ๆ จนบางคนแอบเคืองแต่ก็โกรธจริงจังไม่ได้ เพราะว่าเพื่อนดันมาเล่นสนุกในวัน April Fool’s Day หรือ วันโกหกโลก (เมษาหน้าโง่) ซึ่งคนทั่วโลกเขาเล่นแกล้งกันในวันที่ 1 เมษายนของทุกปี ซึ่ง April Fool’s Day วันโกหกโลก แกล้งเพื่อให้ทุกคนได้หัวเราะ ผ่อนคลายจากความตึงเครียด

วันโกหกโลก

1 เมษายน ของทุกปีคือ วันโกหกโลก April Fool’s Day สำหรับ April Fool’s Day 2567 หรือวันโกหกโลก ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2567 แม้จะเป็นการโกหกที่ไม่อาจถือโทษโกรธกัน เพื่อให้ทุกคนได้หัวเราะ ผ่อนคลายจากความตึงเครียด แต่ก็ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ทำอันตรายต่อผู้อื่น ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่แกล้งกันจนถึงขั้นบาดเจ็บ ไม่เกี่ยวกับความเป็นความตาย หรือไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งอาจมีโทษตามกฎหมาย รวมถึงต้องระมัดระวังเรื่องการโพสต์เรื่องหลอกลวง เรื่องโฆษณาเกินจริง ที่อาจไปเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประวัติวันโกหกโลก

วันโกหกโลก April Fool’s Day นิยมมาจากประเทศในแถบยุโรป แต่ก็เพียงบางประเทศเท่านั้น โดยมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากตำนาน Nun’s Priest’s Tale ที่เกิดขึ้นช่วง ค.ศ.1564 เป็นเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นในวันครบรอบงานหมั้น ระหว่างพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 แห่งอังกฤษ กับเจ้าหญิงแอนน์แห่งโบฮีเมีย สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ เกี่ยวกับสุนัขจิ้งจอกที่ตบตาไก่ตัวผู้ที่หลงตัวเอง

ต่อมาในยุคกลาง การเฉลิมฉลองของชาวยุโรปส่วนมากนี้จัดขึ้นในวันที่ 25 มีนาคมของทุกปี บางแห่งสิ้นสุดในวันที่ 1 เมษายน มีการอ้างถึงวัน April Fool’s Day ในงานเขียนของกวี ปี ค.ศ.1563 เกี่ยวกับการส่งคนรับใช้ไปทำภารกิจที่โง่เขลาในวันที่ 1 เมษายน จากบทกวีแสดงให้เห็นว่าการเล่น April Fool’s Day เป็นที่นิยมใน Kingdom of Great Britain

มีอีกหนึ่งทฤษฎีเชื่อว่า April Fool’s Day มีความเชื่อมโยงกับการกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวยุโรป ที่เปลี่ยนใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 16 แต่เดิมในช่วงยุคสมัยกลางวันปีใหม่ของชาวยุโรปคือ วันที่ 1 เมษายน ต่อมาในปี ค.ศ.1592 พระสันตปาปา เกรเกอรี ได้ประกาศใช้ปฏิทินใหม่สำหรับชาวคริสต์ ทำให้วันปีใหม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 1 มกราคม แต่ปัญหาด้านการสื่อสารที่ล่าช้าในยุคนั้น ยังคงมีประชาชนบางส่วนที่ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่เชื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พวกเขายังจัดงานฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนตามเดิม ทำให้คนอื่น ๆ พากันเรียกพวกเขาว่า “พวกเมษาหน้าโง่” (April Fools) แล้วพยายามกลั่นแกล้งคนพวกนี้โดยส่งข้อความไปหลอก หรือล่อลวงให้หลงเชื่อเรื่องโกหกทั้งหลายว่าเป็นเรื่องจริง

จากการล้อเลียนคนที่ฉลองปีใหม่ผิดวันในประเทศแถบยุโรปในวันที่ 1 เมษายน สู่วัฒนธรรมการแกล้งโกหกกันในวัน April Fool’s Day ของทุก ๆ ปี ซึ่งการเล่นนี้ก็ได้แผ่ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เช่น แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย บราซิล และสหรัฐอเมริกา ส่วนปัจจุบันก็แพร่มาถึงชาวเอเชีย รวมถึงในประเทศไทยด้วย

April Fool’s Day วันโกหก ในประเทศต่าง ๆ

April Fool’s Day วันโกหก ประเทศอังกฤษ
ประเทศอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1980 BBC เคยประกาศว่า หน้าปัดนาฬิกา Big Ben เปลี่ยนมาเป็นแบบดิจิทัล April Fool’s Day ของชาวอังกฤษจะเฉลยกันตอนเที่ยง เพื่อไม่ให้ถูกเข้าใจผิด

April Fool’s Day วันโกหก ประเทศฝรั่งเศส
สำหรับคนฝรั่งเศส จะเรียก April Fool’s Day ว่า Poisson d’Avril โดยพวกเด็ก ๆ จะแกล้งเพื่อนด้วยการเอากระดาษรูปปลา แอบไปแปะไว้ข้างหลังเพื่อน เมื่อฝ่ายที่ถูกแกล้งรู้ตัว คนแกล้งจะตะโกนว่า Poisson d’Avril! หรือ April Fish! ซึ่งเป็นคำที่คนฝรั่งเศสใช้เรียกคนที่ถูกหลอก หรือถูกแกล้งนั่นเอง

April Fool’s Day วันโกหก ประเทศอเมริกา
“เชือกรองเท้าหลุด” มุก April Fool’s Day ที่ชาวอเมริกันนิยมหยอกล้อเพื่อนฝูงหรือคนแปลกหน้าในวันโกหกโลก หรือไม่ก็แกล้งเทเกลือลงในขวดใส่น้ำตาล แอบหมุนเข็มนาฬิกาของเพื่อนให้เดินช้า 1 ชั่วโมง เพื่อให้เพื่อนเข้าชั้นเรียนผิดเวลา หรือไปทำงานสาย เป็นต้น

April Fool’s Day วันโกหก ประเทศไอร์แลนด์
มุกวันโกหก April Fool’s Day ในไอร์แลนด์ จะเป็นการแชร์จดหมายลูกโซ่ ที่ระบุภารกิจที่คนอ่านจดหมายเมื่อเปิดแล้วก็ต้องไปทำต่อไป ลงท้ายด้วยคำว่า “Send the fool further” หมายถึง “ส่งให้คนโง่ต่อไป”

April Fool’s Day วันโกหก ประเทศโปแลนด์
สำหรับโปแลนด์ หน่วยงานราชการ และสถาบันสำคัญจะไม่ออกประกาศที่จริงจังในวันนี้ เพราะเกรงว่าคนทั่วไปจะไม่เชื่อ

April Fool’s Day วันโกหก ประเทศจีน
จีนก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับอิทธิพล วันโกหก April Fool’s Day มาจากฝั่งยุโรป แต่ในปี ค.ศ. 2003 เคยเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อนักร้องชาวฮ่องกงชื่อดัง “เลสลี่ จาง” ได้กระโดดตึกเสียชีวิต แต่เนื่องจากข่าวนี้ประกาศออกมาในวันที่ 1 เมษายน ประชาชนจึงยังไม่ปักใจเชื่อกัน ภายหลังเมื่อทราบว่าเป็นความจริง แฟนคลับของเธอจึงใช้วันนี้เพื่อเป็นวันรำลึกถึงเขา

วันโกหกโลก เป็นอีกหนึ่งวันที่มีขึ้นมาเพื่อแกล้งให้ได้สนุกขำขัน เพื่อให้ได้ผ่อนคลายกันบ้าง ก่อนแกล้งใครก็ท่องไว้ในใจเสมอว่าเรื่องที่โกหกจะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่าไม่ก่อความเดือดร้อน หรือเป็นอันตรายกับคนอื่น

ขอบคุณข้อมูลจาก KTC

About Author