ผู้ส่งออกไทย เตรียมรับผลกระทบกฎหมายตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป

ผู้ส่งออกสินค้าไทยไปสหภาพยุโรปต้องเตรียมพร้อมรับมือกับกฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (European Union Deforestation Regulation – EUDR ที่กำหนดจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2567 เน้นสินค้าโภคภัณฑ์ 7 หมวดได้แก่ น้ำมันปาล์ม ยางพารา ไม้ กาแฟ โกโก้ วัวและถั่วเหลือง และไม่ใช่แค่ในรูปของวัตถุดิบแต่ยังรวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าแปรรูปที่มีองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวด้วย
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายความยั่งยืนของสหภาพยุโรป มร. Kees Bronk เตือนผู้ส่งออกสินค้าไลฟ์สไตล์ของไทย ให้เร่งศึกษารายละเอียดของมาตรการ EUDR ที่จะบังคับใช้ในทั้ง 27 ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป แม้กฎหมายนี้จะไม่มีผลบังคับโดยตรงในประเทศไทย แต่จะมีผลบังคับใช้กับผู้นำเข้าและผู้ค้าส่งและปลีกในสหภาพยุโรป โดยจะเริ่มกับผู้ประกอบการรายใหญ่ก่อนภายในปีนี้ และให้เวลาปรับตัวกับรายย่อยจนถึงกลางปีหน้า
หากผู้ส่งออกไทยต้องการรักษาตลาดและความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหภาพยุโรป ก็จำเป็นต้องรีบปรับตัว มร. Bronk กล่าวผ่านการบรรยายออนไลน์ เร็ว ๆ นี้ที่งาน STYLE Bangkok 2024 ซึ่งจัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์



มร.Bronk ได้ให้คำแนะนำผู้ส่งออกไทยว่า จะต้องศึกษารายละเอียดของสินค้าของตนให้สามารถตรวจสอบกลับได้ พร้อมหลักฐานยืนยันได้ว่า สินค้าของตนปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า จัดทำรายงานตามเกณฑ์มาตรฐาน และกำกับดูแลให้ทุกฝ่ายในห่วงโซ่อุปทานของตนปฎิบัติตามกฎระเบียบที่ EUDR กำหนด
หัวใจสำคัญของ EUDR มี 3 ข้อคือ ปลอดการตัดไม้ทำลายป่า ผลิตโดยถูกต้องตามกฎหมายของประเทศที่ผลิต และผ่านการตรวจสอบและประเมินสินค้า (Due Diligence) ตามที่สหภาพยุโรปกำหนด

ในการทำ Due Diligence ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ รวบรวมข้อมูลตลอดห่วงโซ่การผลิต ประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวกับการทำลายป่าและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและ ธรรมาภิบาล (ESG) และการบรรเทาผลกระทบอย่างไร เมื่อพบว่ามีความเสี่ยง เช่นจัดทำเอกสารเพิ่มเติมและดำเนินมาตรการในการลดความเสี่ยงอย่างเป็นขั้นตอน
ธุรกิจต่าง ๆ สามารถเตรียมความพร้อมในการรับมือกับกฎระเบียบ EUDR ได้โดยการเริ่มจัดทำรายงานความยั่งยืน (sustainability report) ขององค์กรของตน ให้ความรู้กับคู่ค้าในห่วงโซ่ อุปทานเกี่ยวกับ กระบวนการจัดเก็บและจัดส่งข้อมูล รวมถึงการสื่อสารคุณค่าที่แท้จริงของสินค้า
โดยมีหลักฐานยืนยันเพื่อหลีกเลี่ยงการฟอกเขียวหรือสื่อสารทางการตลาดที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงซึ่งในอนาคตจะมีการตรวจสอบและบทลงโทษเช่นกัน ทั้งนี้การออกแบบสินค้าโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม จะสามารถเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม