กรมชลฯ นำสื่อมวลชน ติดตามโครงข่ายการบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออก

“กรมชลประทาน” จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรโซนภาคตะวันออก พาเยี่ยมชมโครงอ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จ.ระยอง และอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการน้ำและการเชื่อมโยงเครือข่ายน้ำในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศ

วันที่ 25-26 มกราคม 2567 นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 นายจิรพงษ์ ศาสตร์แย้ม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานระยอง นายอรุษ เทียนสว่าง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ และนายวัชระ พรหมคุณาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานชลบุรี นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำและการเชื่อมโยงเครือข่ายน้ำในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี ซึ่งเป็น 2 ใน 3 จังหวัดของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะมีความต้องการใช้น้ำสูงและมีแนวโน้มอัตราการขยายตัวที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่มีปริมาณน้ำต้นทุนค่อนข้างจำกัด ประกอบกับความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศโลก อาจส่งผลกระทบให้เกิดภัยแล้งที่มีความถี่มากขึ้นและเมื่อเกิดก็จะแล้งยาวนานขึ้น

กรมชลประทาน จำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำและการกระจายน้ำได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอตลอดทั้งปี ทั้งด้านการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ การเกษตร การอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
นายอรุษ เทียนสว่าง ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นศูนย์กลางของการผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดระยองและชลบุรี เพื่อสนับสนุนการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคตะวันออก ปัจจุบัน (25 ม.ค.67) มีน้ำในอ่างฯ ประมาณ 226 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือ 76% ของความจุอ่างฯ ซึ่งปริมาณน้ำในภาพรวมมั่นใจว่าเพียงพอต่อทุกกิจกรรมการใช้น้ำของทุกภาคส่วนไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้อย่างแน่นอน

ด้าน นายจิรพงษ์ ศาสตร์แย้ม ผู้อำนวยการโครงการชลประทานระยอง กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.ระยอง จะใช้อ่างเก็บน้ำประแสร์ สูบผันน้ำไปยังอ่างฯ คลองใหญ่ และผันน้ำต่อไปยังอ่างฯ หนองปลาไหล โดยใช้ระบบ Gravity หรือการไหลตามแรงโน้มถ่วงของโลก เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่รับประโยชน์ต่าง ๆ ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ นอกจากนี้ ยังมีระบบสูบกลับในกรณีที่มีฝนตกด้านท้ายอ่าง โดยใช้สถานีสูบน้ำคลองสะพาน-อ่างเก็บน้ำประแสร์ ซึ่งเป็นการสูบผันน้ำเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำประแสร์ เพื่อตอบสนองการใช้น้ำทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และยังช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดระยองได้อีกทางหนึ่งด้วย
ส่วนในพื้นที่ จ.ชลบุรี มีการใช้น้ำจากอ่างฯบางพระ อ่างฯหนองค้อ และ 5 อ่างฯ ในพื้นที่พัทยา เป็นหลัก ปัจจุบันสามารถสูบผันน้ำจากคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต จ.สมุทรปราการ มาเติมที่อ่างฯ บางพระ ได้เต็มศักยภาพมากถึง 70 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี และยังสามารถรับน้ำที่สูบผันจากแม่น้ำบางปะกงมาเติมที่อ่างฯ บางพระ อย่างเต็มศักยภาพอีกประมาณ 30 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี ได้อีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ การประปาส่วนภูมิภาค ได้ลดการใช้น้ำบางส่วนจากอ่างฯ บางพระ ด้วยการหันไปใช้น้ำที่สูบผันมาจากอ่างฯ หนองปลาไหลทดแทน โดยจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของประชาชน และในอนาคต หากมีการดำเนินโครงการสูบผันน้ำจากอ่างฯ ประแสร์ มายังอ่างฯ หนองค้อ และผันน้ำต่อมาที่อ่างฯ บางพระ จะทำให้ จ.ชลบุรี มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 70 ล้าน ลบ.ม. ต่อปี



ด้าน นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 กล่าวว่า ปัจจุบันในพื้นที่ภาคตะวันออก อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกันประมาณ 1,587 ล้าน ลบ.ม. หรือ 63% ของความจุอ่างฯ รวมกัน ซึ่งในภาพรวมยังคงเพียงพอต่อการใช้น้ำในปัจจุบัน แต่ทว่าในอนาคต การขยายตัวทางเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมที่กำลังจะเติบโตขึ้น ความต้องการใช้น้ำจึงเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ประชาชนและเกษตรกรก็ต้องมีน้ำอุปโภคบริโภคใช้อย่างเพียงพอและไม่ขาดแคลน กรมชลประทาน จึงได้วางแผนสร้างความมั่นคงด้านน้ำ โดยการปรับปรุงโครงการที่มีอยู่เดิมให้เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งพิจารณาการก่อสร้างแหล่งเก็บกักน้ำใหม่เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง อาทิ อ่างฯ คลองพะวาใหญ่ จ.จันทบุรี อ่างฯ ห้วยกรอกเคียน จ.ฉะเชิงเทรา อ่างฯ คลองโพล้ จ.ระยอง และโครงการที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน 16 โครงการ หากแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ให้แก่พื้นที่ทั้งในและนอกพื้นที่ EEC ได้เป็นอย่างมาก
