๘ ธันวาคม ๒๕๖๗ วันคล้ายวันประสูติ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ”

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ประสูติเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2530 ทรงเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นพระราชนัดดาในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระเชษฐภคินีและพระอนุชา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเป็นทั้งนักกีฬาขี่ม้าและอดีตนักแบดมินตันทีมชาติไทย ในวันที่ 21 กรกฎาคม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระยศ ‘พันเอกหญิง’ ในฐานะพระอาจารย์หัวหน้าแผนก โรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า (อัตราพันเอก)

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการออกแบบแฟชั่นและเครื่องประดับ โดดเด่นเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยทรงออกแบบเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ “SIRIVANNAVARI” และ S’Home เสื้อผ้าของสตรีและบุรุษ ได้รับเสียงชื่นชมอย่างเนืองแน่นในวงการแฟชั่นโลก กับการออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูงที่มีความประณีต ที่เหล่าผู้มีชื่อเสียงนิยม ทั้งยังมีแบรนด์ต่างๆ อย่าง Sirivannavari maison แบรนด์ของแต่งบ้าน รวมไปถึงแบรนด์ชุดแต่งงาน

นอกจากทรงออกแบบเสื้อผ้าคอลเลกชันต่าง ๆ แล้ว พระองค์ยังทรงสนับสนุนผ้าไทย ด้วยการนำผ้าไหมมาตัดเย็บเป็นชุดต่างๆ ทั้งนี้ยังทรงออกแบบชุดให้กับ เดมี ลีห์ เนล ปีเตอร์ มิสยูนิเวิร์ส 2017 และโศภิดา กาญจนรินทร์ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2018 ได้สวมใส่ ในการประกวดรอบไทยไนท์ ของเวทีนางงามจักรวาลที่จัดประกวดที่ประเทศไทยอีกด้วย ทำให้กระทรวงวัฒนธรรม ถวายรางวัล ศิลปาธร ประจำปี 2561 ในสาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชั่นและเครื่องประดับ) ด้วยความสนพระทัยด้านแฟชั่น พระองค์จึงเสด็จไปทอดพระเนตรงานปารีสแฟชั่นวีกอยู่เสมอ และได้รับเสียงชื่นชมจากสื่อต่างชาติ อาทิ นิตยสาร Grazia ประเทศอังกฤษ จัดอันดับให้พระองค์ทรงอยู่ในลำดับที่ 1 ของเจ้าหญิงที่มีสไตล์ที่สุดในโลก จนได้รับการขนานนามว่าทรงเป็น “เจ้าหญิงแฟชั่น”

ไม่เพียงยกระดับผ้าทอให้เป็นผ้าไทยยุคใหม่ที่มีความร่วมสมัยเป็นสากล ทว่าลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่ทรงมอบให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่มทั่วทุกภูมิภาค เพื่อนำไปเป็นต้นแบบและต่อยอดพัฒนาลวดลายให้สอดคล้องกับแฟชั่นร่วมสมัย ยังปลุกกระแสให้เกิดความตื่นตัวในการทอผ้า และส่งเสริมการพัฒนาฝีมือของกลุ่มทอผ้าทั้ง 4 ภาค ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนไทยได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง

About Author