หมอเดวชี้ ภาพรวมคุณธรรมสังคมไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังมีระดับที่น่าเป็นห่วง
หมอเดวชี้ ภาพรวมคุณธรรมสังคมไทยเพิ่มขึ้น แต่ยังมีระดับที่น่าเป็นห่วง แนะให้สำรวจคุณธรรมทุกพื้นที่รายจังหวัด ผลักดัน soft power เปลี่ยน Mindset คนในสังคม
วันพฤหัสบดีที่ 31 สิงหาคม 2566 เวลา 11.00 – 12.00 น. ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพฯ หมอเดว รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม ได้เปิดเผยผลการสำรวจสถานการณ์คุณธรรมสังคมไทย ในปี 2566 ในงานสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 โดยผลสำรวจดัชนีคุณธรรมพบว่า ภาพรวม 3 ช่วงวัยในปี 2566 อยู่ในระดับพอใช้ ค่าเฉลี่ย 4.74 (จากคะแนนเต็ม 6 คะแนน) เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่ได้ค่าเฉลี่ย 4.56 (เพิ่มขึ้น 3.72% จากปี 2565) แต่เมื่อพิจารณารายข้อพบว่า ในแต่ละช่วงวัยมีบางข้อ อยู่ในระดับน่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มลดลง
เช่น ช่วงวัย 13 – 24ปี เรื่องวินัยรับผิดชอบ การยอมรับ และปฏิบัติตนตามบรรทัดฐานทางสังคม (ข้อคำถาม : “ฉันไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎจราจรทุกครั้งหากมั่นใจว่า ไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายกับตนเองและบุคคลอื่น”) ปี 2566 ค่าเฉลี่ย 3.99 และปี 2565 ค่าเฉลี่ย 4.32 เรื่องสุจริต การยืนหยัดในความถูกต้อง (ข้อคำถาม “เมื่อรู้ว่าเพื่อนกระทำผิดกฎหมาย ฉันไม่กล้าที่จะไปแจ้งตำรวจ เพราะไม่ใช่เรื่องของฉัน”) ปี 2566 ค่าเฉลี่ย 3.43 และปี 2565 ค่าเฉลี่ย 3.55 หรือช่วงวัย 25 – 40 ปี เรื่องวินัยรับผิดชอบ การควบคุมตนเอง (ข้อคำถาม “ฉันจะโต้แย้งทันทีที่มีความคิดเห็นต่างกับผู้อื่น”) ปี 2566 ค่าเฉลี่ย 2.57 และปี 2565 ค่าเฉลี่ย 3.16 เรื่องกตัญญู การละอายต่อการทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (ข้อคำถาม “ฉันวางเฉยเมื่อรู้ตัวว่าตนเองกำลังทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”) ปี 2566 ค่าเฉลี่ย 3.71 และปี 2565 ค่าเฉลี่ย 3.74 และช่วงวัย 41 ปีขึ้นไป เรื่องวินัยรับผิดชอบ การยอมรับและปฏิบัติตนตามบรรทัดฐานทางสังคม (ข้อคำถาม “ฉันใช้ชีวิตตามอารมณ์ของตนเองเป็นหลัก โดยไม่สนใจกฎระเบียบของสังคม”) ปี 2566 ค่าเฉลี่ย 3.85 และปี 2565 ค่าเฉลี่ย 4.17
และจากผลการสำรวจด้วยเครื่องมือทุนชีวิต พบว่า ภาพรวม 3 ช่วงวัย ในปี 2566 อยู่ในระดับดีมาก ร้อยละ 84.46 และปี 2565 อยู่ในระดับดี ร้อยละ 78.16 (เพิ่มขึ้น 8.06% จากปี 2565) แต่เมื่อพิจารณาทุนชีวิตปี 2566 ของแต่ละช่วงวัยรายพลัง พบว่าช่วงวัย 13-24 ปี มีพลังชุมชนที่อยู่ในระดับดี คือ ร้อยละ 74.56
หมอเดวกล่าวต่อว่า จากผลการสำรวจดังกล่าว พบประเด็นสำคัญที่จะนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แก่ การสำรวจสถานการณ์คุณธรรมด้วยดัชนีชี้วัดคุณธรรมและทุนชีวิตครอบคลุมทุกพื้นที่รายจังหวัด เพื่อให้สามารถวางยุทธศาสตร์การพัฒนาทุนมนุษย์ในมิติด้านคุณธรรม โดยได้เสนอตัวอย่างแนวทางการพัฒนาคุณธรรมด้านวินัย โดยใช้ soft power และอิทธิพลของสื่อในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ (Mindset) การยกประเด็นคุณธรรม โดยใช้ “วินัยจราจร” และ “การจัดการขยะ” เป็นประเด็นร่วมในการปฏิบัติการของสังคม และเป็นแบบแผนพฤติกรรมในการปลูกฝังส่งเสริมคุณธรรมในระดับ Microsystem ส่งเสริมให้เป็นระบบนิเวศที่ต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน สถานศึกษา และสถานที่ทำงาน
นอกจากนี้แนวการพัฒนาทุนชีวิตเด็กและเยาวชนด้านพลังชุมชน ควรใช้กระแส soft power รณรงค์ส่งเสริมทัศนคติที่ดีของการมีจิตสาธารณะ การเปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมต่อการออกแบบกิจกรรมจิตอาสาในรูปแบบต่าง ๆ ที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่จิตอาสาบังคับหรือสั่งการ การออกแบบกิจกรรมผ่านเครื่องมือโครงงานคุณธรรม เพื่อให้เด็กและเยาวชน ได้ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมนำเสนอ และมีการจัดตลาดนัดความสุขชุมชน โชว์-แชร์-เชื่อมความดี ให้เป็นกิจกรรมการมีส่วนร่วมของแต่ละพื้นที่ ครอบคลุมคนทุกกลุ่มวัย