ครู กทม. ศจย. และเครือข่าย ยืนยันนโยบายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า หวั่นแพร่ระบาดในเด็ก

ครู กทม. ศจย. และเครือข่ายนักสาธารณสุขเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ยืนยันนโยบายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า หวั่นแพร่ระบาดในเด็ก
ศจย.ได้ร่วมกับ หน่วยวิชาการบ่มเพาะเครือข่ายนักจัดการปัจจัยเสี่ยง สำนักการศึกษา ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “รู้เท่าทัน บุหรี่ไฟฟ้าและแนวทางการบังคับใช้กฎหมาย” ณ โรงแรมเอเชีย ห้องราชเทวี 1 ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2566
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนไทย โดยจากรายงานการสำรวจสุขภาพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีอายุระหว่าง 13 – 15 ปี โดยองค์การอนามัยโลก หรือ Global School-based Student Health Survey ประเทศไทย พบว่า ปีพ.ศ. 2564 มีเด็กนักเรียนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 8.1 ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผลการสำรวจเดียวกันในปีพ.ศ. 2558 ร้อยละ 3.3 ชี้ให้เห็นว่า บุหรี่ไฟฟ้ากำลังแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพ มีนิโคติน สารพิษต่างๆ เทียบเท่ากับหรือมากกกว่าบุหรี่มวน ส่งผลกระทบต่อทุกระบบของร่างกายทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งผู้สูบและผู้อยู่ใกล้ชิด โดยเฉพาะทำลายสมองและระบบประสาทของเด็ก

อ.ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้จัดการหน่วยวิชาการบ่มเพาะเครือข่ายนักจัดการปัจจัยเสี่ยง กล่าวว่า เด็กนักเรียนไทยกำลังตกเป็นเหยื่อของธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า เพราะกลยุทธ์ทางการตลาดที่มุ่งเป้าไปยังเด็ก ได้แก่ 1. การออกแบบบรรจุภัณฑ์ของบุหรี่ไฟฟ้าที่หลากหลาย ทั้งขนาด รูปแบบ รูปร่าง รูปทรง สีสัน รสชาติ กลิ่น และการใช้งาน (โดยล่าสุดพัฒนาไปเป็น บุหรี่ไฟฟ้า Gen 5 หรือที่เรียกว่า Toy pod เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างให้เลียนแบบหรือดูคล้ายสิ่งอื่นที่ดูน่ารัก คือ ตุ๊กตา ของเล่น ของสะสม) 2. ราคาของบุหรี่ไฟฟ้า ที่เน้นราคาที่เด็กสามารถซื้อได้ 3. แหล่งในการจำหน่าย โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งเด็กสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสามารถซื้อได้ด้วยตนเอง 4. การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อจูงใจเด็กให้ซื้อบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งการลด แลก แจก แถม เป็นต้น และ 5. การใช้สื่อบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลต่อเด็ก เช่น Influencer, Youtuber และ TikToker เป็นต้น และขณะนี้ปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเริ่มมีมากขึ้นในโรงเรียน จึงเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า โดยความร่วมมือกับสำนักการศึกษา สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจน ดร.ขนะ สุ่มมาตย์ ผู้แทนจากกระทรวงศึกษาธิการ ท่านอัยการอาวุโส จันทิมา ธนาสว่างกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่มาร่วมเป็นวิทยากร
อ.ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร กล่าวทิ้งท้ายว่า “ขอให้รัฐบาลชุดใหม่ที่จะจัดตั้ง ไม่ว่าจะจากพรรคการเมืองใด ขอ อย่าเอาผลิตภัณฑ์ที่ทำร้ายเด็กและเยาวชน เช่น บุหรี่ไฟฟ้า เข้ามาในประเทศ และขอให้คงไว้ซึ่งมาตรการห้ามนำเข้าดีที่สุด พร้อมผลักดันให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะในระบบสื่ออนไลน์



