นักวิจัยจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ คว้ารางวัลในการประกวดผลงานนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ ณ นครเจนีวา
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์มีผลงานได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยศูนย์การเรียนรู้และวิจัยเฉลิมพระเกียรติ 60 ปีเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ได้ส่งนักวิจัยและผลงานสิ่งประดิษฐ์เพื่อเข้าร่วมประกวดในเวทีนานาชาติ The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ระหว่างวันที่ 26 – 30 เมษายน 2566 ณ ศูนย์ประชุม Palexpo นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยได้รับรางวัลเหรียญทองเกียรติยศ เหรียญทอง เหรียญเงิน และ Special prize สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ ตลอดจนสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อการนำไปใช้งานจริงทางการแพทย์และสาธารณสุขต่อไป
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ มีภารกิจส่งเสริมการทำวิจัยและการคิดค้นนวัตกรรมตลอดจนสิ่งประดิษฐ์เพื่อสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลและทิศทางการวิจัยของโลก การนำผลงานไปประกวดในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นเวทีอันทรงเกียรติและได้รับความเชื่อถือจากนักวิจัยและนักประดิษฐ์ทั่วโลก จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง อันจะเป็นแรงผลักดันให้นักวิจัยของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพสูงต่อไป นอกจากนี้ เวทีการประกวดสิ่งประดิษฐ์ในระดับนานาชาติยังจะเป็นเวทีในการแสวงหาความร่วมมือสำหรับการวิจัยเชิงนวัตกรรมต่อไปด้วย
ในครั้งนี้ ผลงานจากนักวิจัยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ได้รับรางวัลในการประกวดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ในเวทีระดับนานาชาติ The 48th International Exhibition of Inventions Geneva ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ได้แก่
1. รางวัล GOLD MEDAL และ Special prize: Outstanding Innovation Award จากประเทศซาอุดิอาระเบีย ชื่อผลงาน “ออปติก ระบบคัดกรองมะเร็งจากการวิเคราะห์ลายนิ้วมือด้วยเทคนิคดิจิตอลโฮโลกราฟีและปัญญาประดิษฐ์” เป็นเครื่องวิเคราะห์ลายนิ้วมือด้วยเทคนิคดิจิตอลโฮโลกราฟี ถูกออกแบบให้ทำการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคดิจิตอลโฮโลกราฟีเป็นเครื่องมือที่ช่วยในการคัดกรองผู้มีความเสี่ยงจากโรคมะเร็งโดยใช้ลายนิ้วมือด้วยการถ่ายภาพลายนิ้วมือจากเทคนิคดิจิตอลโฮโลกราฟีและนำภาพที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์สำหรับวิเคราะห์ลายนิ้วมือ จุดเด่น คือ เป็นเทคนิคที่เกิดจากการแทรกสอดของแสงที่มีความยาวอาพันธ์สั้น ซึ่งหาได้ง่ายทำให้เกิดภาพที่มีความคมชัดและความลึกของภาพและนำภาพลายนิ้วมือไปวิเคราะห์ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเบื้องต้นด้วยลายนิ้วมือ ซึ่งลดความเจ็บปวดและการได้รับรังสีเกินความจำเป็น
2. รางวัล GOLD MEDAL และ Special prize จาก Hong Kong Delegation ชื่อผลงาน “การคัดกรองมะเร็งเต้านมทางไกลโดยใช้ระบบบริหารจัดการภาพอัลตราซาวด์สามมิติอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีคลาวน์และปัญญาประดิษฐ์” เป็นระบบการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทางไกลโดยใช้เทคโนโลยีภาพอัลตราซาวด์สามมิติอัตโนมัติ (3D ABUS) บนคลาวด์ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ต่อการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ระบบสามารถตรวจจับตำแหน่งและขอบเขตของรอยโรคได้โดยอาศัยการเรียนรู้เชิงลึก (Deep learning) อีกทั้งมีการจำแนกก้อนเนื้อชนิดไม่เป็นอัตรายและชนิดที่มีแนวโน้มเป็นมะเร็งโดยอาศัยเทคนิค Radiomic ระบบดังกล่าวสามารถให้ค่าระดับความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมรวมทั้งข้อแนะนำการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโดยอัตโนมัติ มีจุดเด่นและความแปลกใหม่ คือ การสร้าง Workflow ในการให้บริการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเทคโนโลยีใหม่ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ ส่งผลให้การให้บริการมีต้นทุนต่ำและสามารถให้บริการในพื้นที่ห่างไกลได้
3. รางวัล GOLD MEDAL (with the congratulations of the jury) ชื่อผลงาน “เทคโนโลยีต้นทุนต่ำสำหรับการตรวจคัดกรองภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดด้วยปัญญาประดิษฐ์” เป็นเทคโนโลยีการตรวจภาวะตัวเหลืองสำหรับทารกแรกเกิดชนิดไม่รุกล้ำ โดยอาศัยอุปกรณ์ที่เข้าถึงได้ง่ายในทุกกลุ่มประชากร เพื่อให้ทารกทุกคนได้รับการเข้าถึงการตรวจคัดกรองและรักษาภาวะตัวเหลืองได้อย่างทันท่วงทีและเหมาะสม โดยผ่านทางอุปกรณ์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ สามารถใช้งานได้ง่าย ต้นทุนต่ำ เชื่อถือได้ และเพิ่มโอกาสการเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม อีกทั้งสามารถเชื่อมต่อข้อมูลไปยังโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิผ่านเทคโนโลยีคลาวน์ จุดเด่นหรือความแปลกใหม่ คือ ไม่มีอาการเจ็บเนื่องจากเป็นการตรวจชนิดไม่รุกล้ำ สามารถตรวจได้บ่อยเท่าที่ต้องการ ทุกคนทำการตรวจเองได้แม้ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ ราคาไม่แพง และใช้ได้ทุกที่มีอินเทอร์เน็ต
4. รางวัล SILVER MEDAL ชื่อผลงาน “คิวเอ เพาส์: ระบบประกันคุณภาพเชิงทำนายสำหรับเครื่องเร่งอนุภาคในงานรังสีรักษาผู้ป่วยมะเร็ง” เป็นแนวคิดใหม่ของระบบประกันคุณภาพเครื่องเร่งอนุภาคในงานรังสีรักษาที่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานเชิงรุกสำหรับบำรุงรักษา โดยแก้ไขข้อบกพร่องของเครื่องเร่งอนุภาคก่อนที่เกิดความผิดพลาดของเครื่องมือที่เกิดกับค่าความคาดเคลื่อนทางคลินิกที่กำหนดไว้ ระบบนี้จะอาศัยข้อมูลประกันคุณภาพในอดีตกับการวิเคราะห์เชิงคาดการณ์หรือเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ เพื่อประเมินความล้มเหลวของเครื่องเร่งอนุภาคในอนาคต ประโยชน์ที่ได้รับ ได้แก่ การลดความเสียหายที่ไม่คาดคิด เพิ่มเวลาการทำงานของเครื่องและความน่าเชื่อถือ ตลอดจนการปรับปรุงความปลอดภัย นอกจากนี้ระบบจะช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องเร่งอนุภาค ลดเวลาการหยุดทำงานของเครื่องที่ไม่ได้คาดคิด ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการทำงานในแผนกรังสีรักษา และการรักษาผู้ป่วยที่กำลังดำเนินการอยู่ จุดเด่นหรือความแปลกใหม่ คือ การนำเทคนิคปัญญาประดิษฐ์ในการประกันคุณภาพ ร่วมกับการควบคุมคุณภาพตามหลักวิศวกรรมด้วยเทคนิค SPC เพื่อที่จะตรวจสอบความผิดปกติของเครื่องมือ แต่ยังอยู่ในค่าความคลาดเคลื่อนที่แนะนำโดยมาตรฐาน (ทำให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของเครื่องประกันคุณภาพได้อย่างทันถ่วงที)
ทั้งนี้ ประโยชน์จากการเข้าร่วมงาน คือ ประเทศไทยมีผลงานเชิงนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนผลงานได้รับการเผยแพร่ในเวทีระดับนานาชาติและมีโอกาสได้รับการพัฒนาต่อยอดเพื่อการนำไปใช้งานจริง ตลอดจนปรับปรุงให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อการรักษา เพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายที่อาจเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคในการรักษาต่อไป