อว. มอบหน้ากากอนามัย 10,000 ชิ้นให้กทม. “เอนก” ชี้เป็นผลงานคนไทยเพื่อคนไทยพร้อมหนุนต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์

ด้าน “ชัชชาติ” เล็งจัดสรรงบกทม. จัดซื้อหน้ากากฯและนวัตกรรมฝีมือคนไทย
อว. มอบหน้ากากอนามัยชนิด N95 ให้กรุงเทพมหานคร 10,000 ชิ้นผลงานวิจัยฝีมือคนไทยมีประสิทธิภาพกรองฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ป้องกันเชื้อโรคแนบกระชับกับใบหน้าปลอดภัยไม่ระคายเคืองและแพ้ต่อผิวหนังใช้ป้องกันสารคัดหลั่งลดความเสี่ยงการติดเชื้อทางการแพทย์ได้ “เอนก” ชี้เป็นผลงานโดยคนไทยเพื่อคนไทยพร้อมหนุนต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ด้าน “ชัชชาติ” เล็งจัดสรรงบกทม. จัดซื้อหน้ากากฯและนวัตกรรมฝีมือคนไทย
เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีมอบหน้ากากอนามัยชนิด N95 ให้กรุงเทพมหานคร โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้รับมอบหน้ากากอนามัยชนิด N95 จำนวน 10,000 ชิ้น เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมของ กทม. ในการป้องกันปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และโรคระบาดโควิด-19 โดยมี นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษา รมว.อว., ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว., ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (ศลช.), ดร.จิตต์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการ ศลช. และ นายสมปรารถนาสุขทวี รอง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมด้วยผู้บริหาร อว. เข้าร่วมงาน ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัด อว. ถ.พระราม 6 กรุงเทพฯ




ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า “ประเทศไทยต้องพึ่งตัวเองให้ได้ในทางเทคโนโลยี และเราต้องส่งออกเทคโนโลยีของไทยได้ด้วย ซึ่งหน้ากากอนามัยชนิด N95 ที่ส่งมอบในวันนี้เป็นตัวอย่างของนวัตกรรมที่เป็นผลจากการที่เรามีหน่วยงาน เช่น ศลช. หรือ TCELS และ วช ที่ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในการเพิ่มคุณสมบัติและประสิทธิภาพหน้ากากอนามัย N95 เพื่อบุคคลากรทางการแพทย์ และประโยชน์ในมิติต่างๆ ด้วยวัตถุดิบในประเทศ ผ่านการวิจัย คิดค้น ทดลอง และทดสอบ จนสามารถผลิตนวัตกรรมหน้ากากอนามัย N95 ให้มีคุณประโยชน์หลายทาง ทั้งการป้องกันโรคโควิด-19 และการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เป็นการลดการนำเข้าหน้ากากอนามัยจากต่างประเทศ ต่อยอดสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทย จึงเป็นอีกหนึ่งโครงการแห่งความสำเร็จ ที่สามารถพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจของไทยอย่างแท้จริง”
“นี่จึงเป็นผลงานโดยคนไทย เพื่อคนไทย ใช้วัตถุดิบในไทย และมีราคาถูกกว่าของนำเข้าจากต่างประเทศ เราจึงต้องสนับสนุนคนไทย และธุรกิจไทยที่พัฒนานวัตกรรมเช่นนี้ได้ ที่สำคัญ การส่งมอบหน้ากากอนามัยชนิด N95 ในครั้งนี้ เป็นเรื่องของการแบ่งปัน เพราะจะช่วยให้ กทม. นำไปใช้ประโยชน์ให้แก่เจ้าหน้าที่ หรือคนที่จำเป็นต้องใช้หน้ากากอนามัยชนิด N95 กรุงเทพฯ ต้องเป็นเมืองแห่งการแบ่งปัน ที่ต่างชาติชอบกรุงเทพฯ และเมืองไทยเพราะเห็นน้ำใจแบ่งปันของคนไทย และ กระทรวง อว ก็จะเป็นกระทรวงแห่งการแบ่งปันเช่นกัน” ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก กล่าว

ด้าน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า “กทม. ไม่กังวลเรื่องโควิด 19 แต่กังวลเรื่องฝุ่น เรามีพนักงานเก็บขยะกว่า 10,000 คน พนักงานกวาดถนน 9,500 คน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง จาก 9 เดือนที่ผ่านมา ผลงานที่ตนภาคภูมิใจ คือการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเปลี่ยนวิธีการทำงานของราชการ โดยใช้ Traffy Fondue ที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หน่วยงานภายใต้ อว. เข้ามาช่วย แสดงให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ช่วยแก้ปัญหาเมืองได้ กรุงเทพฯ ถือเป็น city lab ขนาดใหญ่ เราต้องใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี มาช่วยแก้และจัดการปัญหา จึงรู้สึกยินดีที่ได้ร่วมงานและเป็นส่วนหนึ่งของ อว. และตนเห็นด้วยกับ รมว.อว. ในเรื่องการแบ่งปัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ และเป็นพันธะสัญญาของสังคมที่เราช่วยเหลือกันโดยไม่อิงตามกฎหมายหรือข้อบังคับอะไร และในอนาคต กทม. จะจัดสรรงบประมาณ เพื่อจัดซื้อหน้ากากอนามัย รวมถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างที่ผลิตโดยฝีมือคนไทยต่อไป”



ดร.จิตติ์พร ธรรมจินดา ผู้อำนวยการศลช. กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อต้นปี 2563 ได้เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ศลช. และ วช. จึงได้ร่วมริเริ่มจัดทำโครงการพัฒนานวัตกรรมหน้ากากอนามัยชนิด KN95 และนำไปสู่หน้ากากอนามัยชนิด N95 ได้สำเร็จในปี 2565 ซึ่งนวัตกรรมของหน้ากากอนามัยนี้ คือ เส้นใยไฟเบอร์ระดับนาโนเมตร และมีเทคนิคของการเคลือบเส้นใยด้วยสารยับยั้งไวรัส โดยเส้นใย และเทคนิคพิเศษนี้เป็นเทคโนโลยีจาก SCG โดยได้นำมาพัฒนาเป็นหน้ากากอนามัยชนิด N95 รุ่นปัจจุบัน ภายใต้ชื่อ “หน้ากากอนามัย MEL-B N95” ซึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่น คือ สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ 99.99% และวัสดุที่ใช้สามารถป้องกันไวรัสได้ 99.53% มีประสิทธิภาพในการกรองอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอน ได้ 98.96% และคุณภาพการป้องกันของหน้ากากอนามัย อยู่ในระดับที่ 3 จึงเป็นหน้ากากที่เหมาะสำหรับใช้งานทางการแพทย์ อีกทั้งนวัตกรรมนี้ยังได้รับความสนใจจากเอกชนจำนวนหนึ่ง ที่ประสงค์จะร่วมต่อยอด พัฒนา สู่เชิงพาณิชย์ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดของภาคเอกชนในประเทศให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขัน ลดการนำเข้า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้เป็นผลิตภัณฑ์ของคนไทย ใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศไทย มีราคาที่ถูกกว่าผลิตภัณฑ์นำเข้าด้วยคุณสมบัติที่เทียบเคียงกันอยู่ที่ร้อยละ 30 และที่สำคัญที่สุด คือ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป”


ขณะที่ นายสมปรารถนา สุขทวี รองอำนวยการวช. กล่าวว่า “วช. เป็นหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมหลักของประเทศ มีเป้าหมายในการนำผลสำเร็จจากงานวิจัยและนวัตกรรมมาเพิ่มประสิทธิภาพ แก้ปัญหาสำคัญและเป็นวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ โดย วช. ได้สนับสนุนการวิจัย และนวัตกรรมที่สามารถสร้างชุดข้อมูลการระบาดวิทยา เรื่องลักษณะพันธุกรรมของเชื้อไวรัสการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ชุดตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วแม่นยำ การพัฒนายาและวัคซีน อุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ทดแทนทางการแพทย์ อาทิ หน้ากาก N95 ชุดหน้ากากป้องกันเชื้อโรคแบบคลุมศีรษะพร้อมชุดกรองอากาศประสิทธิภาพสูง (หรือ PAPR) การวิจัยเพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษา เป็นต้น และในปัจจุบัน วช. ยังได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมที่มีศักยภาพ และสามารถต่อยอดขยายผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงมาอย่างต่อเนื่องอีกหลากหลายนวัตกรรม”


