DGA เปิดเวทีกลางเชื่อมโยง เสริมพลังข้อมูลเปิดภาครัฐ ระหว่าง รัฐ และ เอกชน
DGA เปิดเวทีกลางเชื่อมโยง เสริมพลังข้อมูลเปิดภาครัฐ ระหว่าง รัฐ และ เอกชน ปลดล็อกพลังแห่งข้อมูลเปิดภาครัฐ จัดงานวันข้อมูลเปิดนานาชาติ ประจำปี 2566
สถาบันนวัตกรรมและธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Innovation and Governance Institute : DIGI) ภายใต้ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA จัดงาน วันข้อมูลเปิดนานาชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้ หัวข้อ “Unlock the Power of Open Data with Give and Take : ปลดล็อกพลังแห่งข้อมูลเปิดภาครัฐ” Give คือการที่ภาครัฐเปิดให้ประชาชนเข้าถึงชุดข้อมูลเปิดภาครัฐได้โดยอิสระ Take คือการที่ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถนำชุดข้อมูลเปิดไปต่อยอดสร้างแผนธุรกิจ การวิเคราะห์มิติข้อมูล และการสร้างนวัตกรรมจากข้อมูล โดยได้รับเกียรติจาก ดร. นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ประธานกรรมการ DGA กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ DGA และคณะผู้บริหาร เข้าร่วมปลดล็อกพลังแห่งข้อมูลเปิดภาครัฐในครั้งนี้ โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐชั้นนำและภาคเอกชนที่เชี่ยวชาญในการใช้ประโยชน์จากข้อมูล มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์บนเวทีเสวนาในช่วง 2 ช่วงเวลาสำคัญคือ
Give Session : ผู้ให้ ที่จะมาแนะนำชุดข้อมูลเปิดภาครัฐสำคัญ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนและภาคธุรกิจ นำโดยแพทย์หญิงป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผอ.สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล กรุงเทพมหานคร คุณสุภอรรถ โบสุวรรณ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน คุณอภิสิทธิ์ สุขสาคร ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ก.ล.ต. คุณปฏิภาณ อินหว่าง นักวิชาการคอมพิวเตอร์ชำนาญการพิเศษ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
Take Session : ผู้รับนำไปใช้ประโยชน์จากข้อมูลเปิดภาครัฐ รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผอ.สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) คุณสีหนาท ล่ำซำ CEO บริษัท Robinhood และ คุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ CEO บริษัท Creden Data เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2566 ณ ศูนย์ C Asean อาคาร ไทยเบฟ ควอเตอร์ กรุงเทพฯ
ดร. นพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ประธานกรรมการ DGA กล่าวว่า “ข้อมูลเปิดภาครัฐ” เป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่ต้องใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) นำไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยียุคใหม่เพื่อพัฒนาระบบการบริหารงานภาครัฐและการให้บริการสาธารณะ โดยมีเป้าหมายไปสู่การให้บริการอัจฉริยะ (Smart Service) ที่ขับเคลื่อนตอบสนองความต้องการหรือความจำเป็นของประชาชน (Citizen Driven) ให้ได้รับความพึงพอใจในการรับบริการจากภาครัฐ ซึ่งหน่วยงานรัฐเองก็จะสามารถใช้งบประมาณการดำเนินโครงการ ต่าง ๆ ได้อย่างคุ้มค่าตรงตามเป้าหมาย สามารถสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ส่งผลให้มีขีดความสามารถการแข่งขันสูงขึ้น ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ และพัฒนาห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ให้ไทยก้าวทันโลกและเท่าเทียมนานาประเทศได้
ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการ DGA กล่าวเพิ่มเติมว่า DGA มุ่งหวังว่างานในวันนี้จะเป็นตัวเชื่อมระหว่างรัฐและเอกชน ให้เกิดความมีส่วนร่วมในการสร้างนวัตกรรมจากการใช้ข้อมูลภาครัฐให้ได้ประโยชน์สูงสุด และสามารถต่อยอดนวัตกรรมบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของภาครัฐและภาคประชาสังคม ในการใช้งานบริการรัฐบาลดิจิทัลได้สะดวกมากยิ่งขึ้น DGA ได้เล็งเห็นถึงพลังของข้อมูลจึงได้เดินหน้าจัดตั้งศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ ผ่านเว็บไซต์ data.go.th เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเข้าถึงข้อมูลเปิดภาครัฐของประเทศที่สะดวก รวดเร็ว และเข้าถึงได้ตลอดเวลา ซึ่งปัจจุบันมียอดการเข้าใช้งานสะสมแล้วกว่า 3 ล้านคน มีชุดข้อมูลเปิดภาครัฐจำนวนเกือบ 8 พันชุดข้อมูล ซึ่งรวบรวมจากกว่า 200 หน่วยงาน โดยใน 1 ปีที่ผ่านมา มียอดดาวน์โหลดกว่า 540,000 ครั้ง คิดเป็นกว่า 60% ของยอดสะสมทั้งหมดที่ราว 8 แสนครั้ง โดยมีการนำข้อมูลเปิดภาครัฐไปพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกดาวน์โหลดไปวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำเสนอหรือกำหนดนโยบายต่างๆ ข้อมูลตรวจสภาพอากาศรายวัน เป็นข้อมูลที่ผู้พัฒนานำไปใช้ในการตรวจสภาพฝุ่น เพื่อนำไปรายงาน หาสาเหตุ และวิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหา นอกจากนี้ก็มีข้อมูลพิกัด LAT/LONG ที่ตั้งตำบล เรียกว่าเป็นชุดข้อมูลพิกัดตั้งต้นในการพัฒนาระบบหรือ application ที่มีการระบุพิกัดสำหรับนักพัฒนาระบบที่ให้ความสนใจมาดาวน์โหลดไปใช้กันมาก และข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีการอัปเดตทุกวันจากเจ้าของข้อมูล ทำให้ได้รับความสนใจและมียอดดาวน์โหลดเยอะที่สุดต่อเนื่องตลอด 2 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ข้อมูลเปิดภาครัฐ บนเว็บไซต์ data.go.th ได้รับความนิยมนำไปต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง เพราะข้อมูลเผยแพร่อยู่ในรูปแบบไฟล์ที่สามารถแสดงตัวอย่างข้อมูล (Preview) แสดงข้อมูลด้วยภาพ (Visualization) และเอพีไอ (API) แบบอัตโนมัติให้กับชุดข้อมูลที่เผยแพร่ รวมทั้งยังสามารถจัดการชุดข้อมูลและเมทาดาตาของข้อมูลได้อีกด้วย