“ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา” เต็งหนึ่ง ว่าที่นายกแพทยสภา เผยแนวการทำงานเพื่อประชาชน

หลังจากผลการการเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาวาระ พ.ศ. ๒๕๖๖-๒๕๖๘ เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ที่ กระทรวงสาธารณสุข ที่ผ่านมาผลปรากฏว่า ได้รับคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 6,091 คะแนน เนื่องด้วย เป็นบุคคลากรทางการแพทย์ที่ทรงคุณวุฒิ เป็นปราชญ์ และมีคุโณปการ เป็นที่ยอมรับของวงการแพทย์ไทย คือ ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา และถูกจับตามองว่าเป็นเต็งหนึ่ง ว่าที่นายกแพทย์สภา คนต่อไปโดยผลจะประกาศออกหลังจากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่จะถึงนี้ ซึ่งวันนี้ ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ได้ให้เกียรติมาพูดคุยถึงทิศทางที่จะมาช่วยทำให้วงการแพทย์ไทย และประเทศไทยมีอะไรต่อไปบ้าง

อาจารย์(ศ.เกียรติคุณ นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา)เริ่มเข้ามาในเป็นกรรมการแพทย์สภาเมื่อไหร่เพราะอะไร

  • ผมได้เริ่ม พ.ศ. 2528 เข้ามาตอนนั้นผมเป็นประธานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขากุมารเวชศาสตร์ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เนื่องจากอยากแก้ไขเรื่องการอบรม ให้ดีขึ้น หลังจากสมัครก็ได้รับคัดเลือกให้เป็น รองเลขาแพทยสภา ทันที่ ทำให้ได้เข้ามาทำงานดูเรื่องการศึกษาเป็นหลัก วางเกณฑ์มาตรฐาน แพทยสภา การสอบใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่ใช้กันมาถึงปัจจุบัน

อาจารย์ได้รับเลือกให้เป็นนายกแพทยสภากี่สมัยและได้รับคะแนนเป็นอันดับสูงสุดกี่สมัยสาเหตุน่าจะเป็นเพราะอะไร

  • ถ้านับจากการดำรงตำแหน่งเต็มสมัย คือ 7 สมัย และ ไม่เต็มวาระอีก 2 สมัย ส่วนที่ได้รับคะแนนอันดับที่ 1 จะได้เป็น 15 สมัย ส่วนสาเหตุคงมาจากการที่สมาชิกได้เห็นผลงานที่เคยทำไว้ และไว้ใจอยากให้เข้ามาทำงานต่อเพื่อทุกฝ่ายครับ

แพทยสภาไทยเป็นองค์กรที่มีบทบาทอำนาจเขียนไว้ในกฎหมายค่อนข้างมากอาจารย์เห็นด้วยหรือไม่

  • ต้องบอกก่อนว่าบทบาทอำนาจเขียนไว้ในกฎหมายที่มองว่าค่อนข้างมากนั้น จริงๆแล้วเป็นการครอบคลุมในหน้าที่การทำงานของแพทยสภาเท่านั้น โดยหน้าที่ของแพทยสภา คือ การดูแลจริยธรรม ของแพทย์ให้อยู่ในระเบียบ วินัย มีมาตรฐาน ไม่โกงคนอื่น ค่อยช่วยเหลือให้ความรู้เวลามีเหตุการณ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องทางการแพทย์ นั้นเองครับ เป็นที่ให้คำปรึกษารัฐบาลในด้านการแพทย์

ความสง่างามของแพทยสภาต้องเป็นองค์กรอิสระไม่ขึ้นกับศูนย์รวมอำนาจหรือการเมืองเห็นด้วยหรือไม่

  • เห็นว่าควรเป็นองค์กรอิสระ เพราะเป็นเรื่องของวิชาชีพ ที่มาทำงานเพื่อประโยชน์ ทั้งประชาชน และแพทย์ ให้มีความสุขทั้งในการทำงานและดำรงชีวิต ที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาจนวงการแพทย์ไทยเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติเห็นได้จากที่มีการเดินทางเข้ามารักษาในประเทศไทยมากขึ้นทุกปี อีกเรื่องที่อยากทำต่อไปคืออยากให้แพทย์ไทยเก่งๆที่อยู่ต่างประเทศกลับมาช่วยพัฒนาประเทศไทยกันครับ

ทราบว่าที่ผ่านมา 2-3 สมัยอาจารย์ไม่ได้ลงสมัครด้วยเป็นเพราะอะไรและทำงานเฉพาะวิชาการอย่างเดียวใช่หรือไม่

  • ผมไม่ได้เป็นนายกแพทยสภามา สามสมัยแล้ว เนื่องจากหลายคนมีความเห็นว่าไม่ควรดำรงตำแหน่งที่สำคํญเกินสองวาระติดต่อกัน ในสมัยที่แล้วผมไม่ได้สมัครเป็นกรรมการแพทยสภา ผมได้เห็นถึงปัญหาของเด็กไทยที่เกิดน้อยลง เด็กติดการใช้สื่อสังคม ติดเกม ทำให้คุณภาพการพัฒนาการของเด็กๆแย่ลง จึงได้เข้าไปทำงานให้ที่ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานราชวิทยาลัยกุมารและนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาตรงนั้นก่อนครับ

ครั้งนี้มีความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างไรที่จะให้แพทยสภามีบทบาทเพื่อแพทย์ประชาชนอย่างแท้จริง เช่นการใช้วิชาการแพทย์นำองค์กรเพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชนและให้คำแนะนำต่อรัฐบาล

  • ผมมองว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ การเป็นที่พึ่งให้ผู้ป่วย แพทย์ต้องมีมาตรฐานไม่หลอกลวง ในส่วนรัฐบาลทำดีเพื่อประชาชนนั้น ทางแพทย์ก็ต้องให้คำแนะนำทำงานร่วมกัน ตามความสามารถของแต่ละภาคส่วนเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือผลประโยชน์ ความสุข ของประชาชนคนไทย

ครั้งนี้ยังได้รับคะแนนเลือกตั้งมากที่สุดมีความสัมพันธ์กับความต้องการของสมาชิกแพทย์ให้อาจารย์เป็นนายกแพทย์สภาหรือไม่

  • หลายๆท่านอาจเข้าใจว่าได้คะแนนอันดับ 1 คือได้เป็นนายกแพทยสภา แต่จริงๆแล้วจะมีการโหวดผ่านกรรมการแพทยสภา 64 ท่าน ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่จะถึงนี้ก่อนครับถึงจะชัดเจนว่าได้รับตำแหน่งนี้ครับ แต่ก็ขอขอบคุณหลายท่านที่โทรเข้ามาแสดงความยินดีหลังจากเห็นผลคะแนนด้วยครับ ในส่วนกรรมการแพทยสภาที่มีจำนวนมากนั้น อาจจะทำให้มีหลายท่านมองว่าทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงานไหม ผมเองก็จะมีการคุยและปรับให้ จำนวนน้อยลง เพื่อไม่เป็นการรบกวนหลายๆท่านที่ติดงานประจำ และจะช่วยให้การทำงานของแพทยสภาเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว

ในฐานะที่จะเป็นแคนดิเดตนายกแพทยสภาครั้งนี้อาจารย์สมศักดิ์มีความในใจหรือข้อความที่จะส่งถึงกรรมการแพทย์สภา และ แพทย์ อย่างไร

  • อยากเห็นการทำงานร่วมกันแบบไม่มีการแบ่งพรรค แบ่งพวก ทำงานเพื่อประชาชน และประเทศชาติให้มากที่สุดครับ

ทิศทางวงการแพทย์ไทยจะเป็นอย่างไรต้องติดตามได้หลังประกาศผลโหวด จากวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 ที่จะถึงนี้

About Author