นักแสดงโขน ภูมิใจได้ร่วมสืบทอดพิธีคำนับครูนาฏศิลป์ จัดทัพซ้อมร่วมกันครั้งแรก

พร้อมเพรียงสำหรับการแสดงโขนมูลนิธิฯ ตอน “สะกดทัพ”


นักแสดงโขนทั้งระดับศิลปินชั้นครู และเยาวชนจัดทัพพร้อมหน้า ร่วมสืบทอดพิธีคำนับครู และซักซ้อมการแสดงพร้อมกันครั้งแรก เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 2565 ตอน “สะกดทัพ” โดยพิธีคำนับครูนาฏศิลป์ มีคณะกรรมการจัดการแสดง คณะครูอาจารย์ ผู้อาวุโสด้านนาฏศิลป์ นักแสดง และนักร้อง นักดนตรี ร่วมพิธี ในวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคมนี้ ณ วิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวให้โอวาทแก่เหล่านักแสดงว่า “หลังห่างหายการแสดงถึง 2 ปี การแสดงโขน ตอนสะกดทัพ ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสพิเศษของนักแสดงที่จะได้แสดงเพื่อฉลองใน 2 โอกาสมหามงคลของคนไทย ได้แก่ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 70 พรรษา 28 กรกฎาคม 2565 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราต้องทำให้ดีที่สุด เพื่อชื่อเสียงของโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งเป็นที่ชื่นชมของประชาชนมาตลอดระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษในการแสดงโขนที่วิจิตรงดงามและเป็นมรดกของชาติให้คงอยู่สืบไป”

ดร. สุรัตน์ จงดา ผู้กำกับการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 2565 ตอน “สะกดทัพ” กล่าวถึงความสำคัญของพิธีคำนับครูว่า “เป็นโอกาสอันดีสำหรับนักแสดงเยาวชน ที่จะได้มีส่วนร่วมในการสืบทอดพิธีคำนับครู ซึ่งเป็นพิธีสำคัญในวงการนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ ด้วยถือกันว่า เพลงหน้าพาทย์ ดนตรีบางเพลง และท่ารำบางท่า เป็นเพลงและท่ารำที่ศักดิ์สิทธิ์เมื่อได้เริ่มกิจกรรมแรกด้วยพิธีนี้ จึงนับเป็นสิริมงคลสำหรับครู อาจารย์และศิลปินทุกคน โดยในโอกาสฤกษ์งามยามดีนี้ ตัวละครพระ โขนพระ นาง ยักษ์ และลิง ยังได้ซ้อมร่วมกันเป็นครั้งแรกอีกด้วย
ความพิเศษของการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน “สะกดทัพ” ในครั้งนี้ได้มีกระบวนท่ารำที่มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ เช่น กระบวนท่ารำของนางพิรากวน ซึ่งครูรัจนา พวงประยงค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย-ละคร) พ.ศ. 2554 ได้รับการสืบทอดมาจากครูตั้งแต่ในยุคกรมศิลป์ รวมถึงกระบวนท่าหนุมานรบมัจฉานุ ซึ่งนอกจากจะเป็นการสืบทอดกระบวนท่าดั้งเดิมแล้ว ยังมีกระบวนท่าใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา ต่างจากการแสดงชุดศึกมัยราพณ์ เมื่อ 10 ปีก่อน ที่ใช้บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 ซึ่งกรมศิลปากรปรับปรุงขึ้นมาใหม่ แต่ในครั้งนี้ใช้บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 จึงมีการตีบทที่แตกต่างกัน
“นอกจากนี้ยังมีกระบวนท่าหนุมานรบยุง ซึ่งมีการสร้างสรรค์กระบวนท่าขึ้นมาใหม่เพื่อความสนุกสนานบนรากฐานขององค์ความรู้ดั้งเดิม รวมถึงเพลงหน้าพาทย์ของตัวโขนยักษ์ เช่น หน้าพาทย์ดำเนิน พรามหณ์ของไมยราพ ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่สำคัญของโขนยักษ์ที่ใช้ในพิธีการบวช ถือเป็นหน้าพาทย์ศักดิ์สิทธิ์ ที่ใช้กับนักบวช หรือพรามณ์ ซึ่งเป็นท่ารำที่ได้รับการคิดขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่อใช้ในการแสดงโขนครั้งนี้โดยเฉพาะ”

ดร.เกิดศิริ นกน้อย ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดง และผู้กำกับเวทีในการแสดงโขน ตอน “สะกดทัพ” กล่าวว่า “นักแสดงโขนมูลนิธิฯ ในปีนี้ ประกอบด้วยกลุ่มศิลปิน และอาจารย์นาฏศิลป์ฝีมือดี นักแสดงของสำนักการสังคีต กรมศิลปากร ตลอดจนนักแสดงโขนมูลนิธิฯ ที่เคยผ่านการออดิชั่นจากปีก่อน ๆ รวมถึงนักแสดงเยาวชนที่ผ่านการทดสอบความสามารถโดยคัดเลือกจากวิทยาลัยนาฏศิลปในจังหวัดต่าง ๆ รวมกว่า 370 คน โดยนักแสดงแต่ละคนจะได้รับบทตามความสามารถใน ๕ ตัวละคร ได้แก่ ละครพระ โขนพระ ละครนาง โขนลิง และโขนยักษ์ ซึ่งทุกตัวละครต่างได้ทุ่มเทฝึกซ้อมกันอย่างสุดกำลังความสามารถ อย่างบทมัจฉานุ ที่แสดงโดยนักแสดงรุ่นเยาว์ ก็ต้องผ่านการฝึกซ้อมเคี่ยวกรำฝีมือ เพื่อให้มีความพร้อมในการแสดงอย่างเต็มที่สมแก่การรอคอย”
การแสดงโขน ตอน “สะกดทัพ” เป็นตอนที่มีฉากผจญภัยมากมาย ที่มาพร้อมความสนุกสนานจากเรื่องราวการต่อสู้ของ หนุมาน ยอดวานรทหารเอกของพระราม และ ไมยราพ พญายักษ์เจ้าเมืองบาดาล ผู้มีกล้องยาวิเศษพร้อมมนต์สะกด ได้รับบัญชาจากทศกัณฐ์ให้มาช่วยรบกับพระราม จึงลอบเข้าไปสะกดทัพพระราม แล้วจึงแบกพระรามพาแทรกแผ่นดินไปยังเมืองบาดาล เป็นเหตุให้หนุมานต้องตามไปช่วยพระราม ในระหว่างทางไปเมืองบาดาล หนุมานจะสามารถฝ่าฟันด่าน ๆ เพื่อไปช่วยพระรามกลับมาได้สำเร็จหรือไม่




การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ 2565 ตอน “สะกดทัพ” กำหนดจัดแสดงระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม ถึง 5 ธันวาคม 2565 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย สามารถซื้อบัตรเข้าชมได้ที่ไทยทิคเก็ต เมเจอร์ ทุกสาขา หรือ www.thaiticketmajor.com บัตรราคา 1,820 / 1,520 / 1,020 / 820 / 620 บาท รอบนักเรียน นักศึกษา บัตรราคา 200 บาท (หยุดพักการแสดงทุกวันจันทร์และอังคาร) ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก Khon Performance โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ