“LGBTQIA+” ความหลากหลายที่ต้องเข้าใจ “พลังชาวสีรุ้ง”

ปัจจุบันเรามักจะได้ยินคำว่า “LGBTQIA+” หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่บ่อยครั้ง โดยองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดประเภทของโรคระหว่างประเทศ หรือ ICD ฉบับล่าสุด โดยย้ายหัวข้อ ‘การมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด’ ออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม และย้ายไปอยู่ในหมวด ‘กรณีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางเพศ’ เพราะการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดนั้นไม่ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิต

แนวปฏิบัติสำหรับครอบครัวที่มีลูกหลานเป็น LGBTQIA+

ปัญหากลุ่ม LGBTQIA+ ต้องเผชิญที่สำคัญที่สุดไม่ได้มีแค่เพียงบรรทัดฐานทางสังคม แต่ยังมีปัญหาในเรื่องการยอมรับจากคนในครอบครัว เนื่องจากคนกลุ่มนี้อาจต้องทำตามความหวังของพ่อแม่ หรือต้องรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล ซึ่งเป็นเรื่องสวนทางกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มความหลากหลายทางเพศ ครอบครัว หรือคนรอบข้างอาจยังขาดความรู้ความเข้าใจในตัวตน หรือวิถีทางเพศของคนกลุ่มนี้ จึงควรเรียนรู้แนวปฏิบัติเมื่อพบว่าลูกหลานเป็น LGBTQIA+ ดังนี้

  • ไม่เปรียบเทียบ ควรส่งเสริมการรู้คุณค่าในตนเอง ไม่ควรเปรียบเทียบลูกหลานกับใคร เพราะจะเป็นการสร้างความกดดันส่งผลให้ไม่อยากเปิดใจกับเรามากยิ่งขึ้น
     
  • สื่อสารในเชิงบวก มีการสื่อสารระหว่างกัน เน้นการมองผลดีมากกว่าผลเสีย หมั่นพูดคุย เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้บอกเล่าเรื่องราว และรับฟังความคิดเห็นด้วยความเข้าใจ
     
  • ให้ความสำคัญ ใส่ใจ และชื่นชมในสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่ควรเยินยอเกินจริง
     
  • ให้โอกาสได้เรียนรู้ โดยอาจดูแลอยู่ห่าง ๆ หรือคอยให้ความช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
     
  • สังเกตพฤติกรรม วัยรุ่นที่เป็นเพศที่สามอาจต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ คนในครอบครัวจึงต้องคอยสังเกตพฤติกรรมที่อาจเป็นสัญญาณว่าตนเองรู้สึกแปลกแยกจากสังคม หรือมีพฤติกรรมการแสดงออกทางเพศที่ไม่เหมาะสม ใช้ความรุนแรง มีอาการซึมเศร้า เป็นต้น

About Author