สวก. นำร่องราชบุรีต้นแบบ ขับเคลื่อนโครงการ Sandbox ควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกร

พัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนให้เกษตรกร
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ผลักดัน โครงการ Sandbox ในการวางระบบการควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกร ที่ได้รับผลกระทบจากโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร นำร่องพื้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นเมืองต้นแบบ มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร ด้วยนโยบาย BCG MODEL พร้อมเป็นตัวอย่างการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ โดยประยุกต์ใช้หลักการ คอมพาร์ทเมนท์ในพื้นที่ต้นแบบเพื่อเลี้ยงสุกรให้ปลอดโรค ทดสอบวัคซีนและชุดตรวจสอบโรคที่พัฒนาขึ้นจากงานวิจัยของ สวก. เป็นเครื่องมือเฝ้าระวัง และควบคุมป้องกันโรค
จากผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตคอมพาร์ทเมนท์การเลี้ยงสุกรปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งได้รับงบประมาณจาก สวก. เมื่อปี 2561 พบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะจัดตั้งคอมพาร์ทเมนท์เพื่อเลี้ยงสุกรปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยในประเทศไทย แต่ต้องเริ่มทำในระดับเล็ก อาทิ Integrated compartment หรือ Partially integrated/ single compartment และต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างเคร่งครัด เช่น ต้องไม่นำเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อยที่มีพันธุกรรมแตกต่างจากวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคเข้ามาในพื้นที่อย่างเด็ดขาด เพื่อให้ฟาร์มคงสถานะปลอดโรคไว้ได้

ดร. สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร กล่าวถึงการขับเคลื่อน Sandbox ด้วยนโยบาย BCG MODEL ว่า “สิ่งที่ สวก. ขับเคลื่อนเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร กับ BCG MODEL โดยเฉพาะในจังหวัดราชบุรี ที่มีปัญหาโรคระบาดโรคปาก และเท้าเปื่อยและโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร นั้น เป็นเรื่องสำคัญของเกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เองก็เลือกที่จะทำงานในพื้นที่จังหวัดราชบุรีเป็นต้นแบบ การวางระบบศึกษาวิจัยในลักษณะ Sandbox จึงมีความสำคัญมาก เพราะจะต้องทดลองทำในพื้นที่ต้นแบบก่อน เพื่อเห็นปัญหา สาเหตุที่แท้จริง และหาวิธีแก้ไขได้ ในมุมของ Sandbox เรามองถึงพ่อแม่พันธุ์ที่ปลอดโรค การควบคุม การเคลื่อนย้ายสัตว์ การจัดการ ตั้งแต่เรื่องวัคซีน การเฝ้าระวัง มาตรการในการลดความเสี่ยงต่างๆ เช่น การกำจัดของเสียและซากสุกรที่เป็นโรคในฟาร์ม รวมถึงการกำหนดกฎระเบียบในการเข้าออกฟาร์มของผู้คนทั่วไป สิ่งเหล่านี้จะเป็นมาตรการเบื้องต้นที่ได้จากงานวิจัย และจะนำไปขยายผลต่อพื้นที่อื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาโรคปากและเท้าเปื่อยและโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร”

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ประธานอนุกรรมการ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG MODEL สาขาเกษตร กล่าวถึง นโยบาย BCG MODEL ว่า “เป็นแนวคิดการพัฒนาแบบใหม่ โดยให้ความสำคัญ กับเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดการสร้างมลภาวะ ในภาพของ BCG MODEL เรามองว่า ทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการนำเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาเศรษฐกิจ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มเกษตรและอาหาร สุขภาพเละการแพทย์ พลังงานเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กลุ่มอุตสาหกรรมหลักต่างๆ จะได้รับการพัฒนาโดยใช้เงื่อนไขของ BCG MODEL ซึ่งในภาพรวมของการเกษตรนั้น ตั้งเป้าเอาไว้ 3 สูง คือ ประสิทธิภาพสูง มาตรฐานสูง และรายได้สูง สิ่งที่สะท้อนกลับมา คือ เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ปัญหาระยะยาว รวมทั้งการเพิ่มมูลค่าสินค้า การเชื่อมโยงระบบการตลาด ทำให้เกิดความเข้มแข็ง ความยั่งยืนของชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ สิ่งที่อยากเห็นจากแนวคิดนี้อีกก็คือ การเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจด้วยกัน หมายถึง ทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา เข้ามามีบทบาทร่วมกันเพื่อดูแลเกษตรกร เช่น กรณีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทย ก็ได้มีการบูรณาการจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่

น.สพ.บุรินทร์ สรสิทธ์สุขสกุล ปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี กล่าวเสริมถึงโรคปากและเท้าเปื่อย และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ว่า “เป็นโรคที่อุบัติใหม่ในบ้านเราที่ก่อให้เกิดความเสียหายในสุกรได้มากถึง 90-100 เปอร์เซนต์ จึงต้องเข้มงวดในการเฝ้าระวัง และป้องกันโรคไม่ให้เข้าสู่ฟาร์ม ทั้ง 2 โรค เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส จึงต้องมีระบบป้องกันที่ดี เช่น ระบบป้องกันทางชีวภาพ หรือที่เรียกว่า biosecurity เพื่อป้องกันเชื้อจากแหล่งต่างๆ เข้าสู่ฟาร์ม รวมทั้ง ต้องมีการทำลายเชื้อโรค ดูแล เผ้าระวัง และตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรค การศึกษาวิจัยนี้เป็นความร่วมมือของหลายภาคส่วน ได้แก่ สวก. กรมปศุสัตว์จังหวัดราชบุรี คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมผู้เลี้ยงสุกร จังหวัดราชบุรี ที่ได้ร่วมมือกันแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร ทำให้เกิดการเลี้ยงสุกรที่ปลอดภัย ยั่งยืน”

ก่อนเกิดโรคระบาดในสุกรของจังหวัดราชบุรี มีปริมาณสุกรแม่พันธุ์ ประมาณ 220,000 ตัว เมื่อใช้หลักการ Sandbox เข้ามาช่วยวางระบบป้องกัน คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณแม่พันธุ์สุกรกลับมาเลี้ยงได้ ราว 100,000 – 150,000 ตัว โครงการ Sandbox วางระบบการควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกร ราชบุรี จึงนับเป็นเรื่องใหญ่ ที่สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เล็งเห็นและให้ความสำคัญ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนให้เกษตรกร
ติดตามแนวคิดงานวิจัยโครงการ Sandbox วางระบบการควบคุมโรคและฟื้นฟูฟาร์มสุกร ราชบุรี เพิ่มเติม ผลงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจ และการพัฒนา และทุนวิจัยได้ที่ สวก. https://www.arda.or.th/
