ไอเดียเด็กมัธยม กับคอนเสิร์ตการกุศล ซีโร่คาร์บอน

เพื่อผู้พลัดถิ่นจากภัยธรรมชาติในโครงการ UNHCR ครั้งแรกในประเทศไทย

เพราะเด็กในวันนี้ มีไอเดียและพลังมากกว่าที่คิด ถึงเวลาที่วัยรุ่นจะขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้ดีขึ้น อย่างที่ 2 เซเลบเพื่อนซี้ พราว ธนวิสุทธิ์ และติณณ์ ตติยมณีกุล ที่คิดเห็นตรงกัน เกี่ยวกับความวิกฤตของปัญหาของผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่มีสาเหตุมากจากการเกิดก๊าซคาร์บอนที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ จนทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกและทำให้โลกร้อนขึ้น และเพื่อต้องการสร้างกระแสให้ทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการช่วยดูแลโลกให้เกิดความสมดุล โดยเริ่มต้นจากการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ได้มากที่สุด

จากวิกฤตการณ์ดังกล่าวนำมาสู่ไอเดียสร้างสรรค์จัดคอนเสิร์ตการกุศล ‘Home Hope Charity Concert’ คอนเสิร์ตจากการร่วมมือของพลังเล็ก ๆ จัดขึ้นที่ เอสพาร์ค รังสิต เพื่อให้สังคมได้รับรู้ถึงความเข้มแข็งของผู้ลี้ภัย ที่มีแนวคิดพิเศษเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์อย่างเป็นรูปธรรม หรือ ‘Net Zero Carbon Footprint Concert for Climate Refugees’ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยพยายามควบคุมกิจกรรมให้สร้างคาร์บอนน้อยที่สุด โดยเชิญชวนทุกคนร่วมเป็นอีกหนึ่งพลังในการยืนหยัดเคียงข้างพวกเขา ซึ่งการจัดคอนเสิร์ตครั้งนี้อยู่ภายใต้การสนับสนุน และได้รับคำปรึกษาจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHCR หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติที่อุทิศการทำงานเพื่อผู้ลี้ภัยมากว่า 72 ปี

ในงานนี้นอกจากจะได้ศิลปินวัยรุ่นมาร่วมแสดงคอนเสิร์ตอย่าง แพทริค อนันดา และวง Yesindeed วงดนตรีเปิดหมวดที่ดังสุดๆ ในกลุ่มวัยรุ่นแล้ว ยังมีเซเลบคนดังมาให้กำลังใจอย่างคับคั่ง และเป็นการรวมตัวของผู้ปกครองของเด็กนักเรียน โรงเรียนนานาชาติอีกหลายโรงเรียนเพื่อแสดงอุดมการณ์ร่วมกัน โดยรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะมอบเป็นเงินบริจาคให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เพื่อช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อไป

ติณณ์ ตติยมณีกุล และ พราว ธนวิสุทธิ์

ทั้งนี้ พราว ธนวิสุทธิ์ ได้บอกเล่าถึงเหตุผลในการริเริ่มจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า “ถ้าให้พูดตรง ๆ ย้อนไปตอน เป็นเด็กวัยรุ่นธรรมดา ก็จะคิดว่าในโลกใบนี้มีคนเป็นหมื่นล้านคน แค่เรารับถุงพลาสติกใหม่ทุกครั้งที่เราซื้อของ หรือแค่ใช้หลอดและแก้วพลาสติกเวลาดื่มน้ำ คงไม่ได้ทำร้ายสิ่งแวดล้อมและโลกของเรามากนัก แต่เมื่อศึกษาเรื่องโลกร้อนและวิกฤตการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง ทำให้หนูรู้ว่าสิ่งที่เราทำส่งผลเสียต่อธรรมชาติอย่างมาก ยิ่งได้รู้ซึ้งตอนที่ได้ไปร่วมกิจกรรมกับ UNHCR ว่าจากความละเลยที่เราคิดว่าเป็นแต่เรื่องเล็ก ๆ แต่กลับส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อคนกลุ่มอื่นๆ ยิ่งกับผู้ลี้ภัยในบางกลุ่มที่เขาต้องเจอกับวิกฤต ซ้อนวิกฤต คือ ประสบปัญหาต้องลี้ภัย หรือ ผลัดถิ่นจากภัยธรรมชาติ ยิ่งเป็นสิ่งที่กระตุ้นเตือนให้หนู ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างที่เราสามารถทำได้ จึงได้เกิดเป็นคอนเสิร์ตนี้ขึ้นมาเพื่อที่เราจะได้เป็นตัวแทนของหนึ่งในกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่จุดประกายกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เริ่มได้จากตัวเราเอง และตระหนักถึงปัญหาของผู้ลี้ภัย กับ Net Zero Carbon Footprint Concert ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ซึ่งหนูก็ตื่นเต้นมากที่ได้รับการตอบรับและความสนใจมากมายจากทุกคนในครั้งนี้ค่ะ”

ด้าน ติณณ์ ตติยมณีกุล เล่าว่า “เมื่อได้ไปร่วมกิจกรรมกับทาง UNHCR ที่ได้จัดขึ้นหลาย ๆ ครั้ง ทำให้เรียนรู้ว่าถุงพลาสติก 1 ใบ ต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปีหรือหากนำไปเผาก็จะทำให้เกิดสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ทำให้เกิดมลภาวะทำให้โลกร้อน ที่พวกเราสัมผัสกันได้อย่างทุกวันนี้ ยิ่งกว่านั้นจากภาวะโลกร้อนยังส่งผลให้ปี 2564 มีคนที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นอยู่ภายในประเทศของตนเองมากถึง 23 ล้านคน จากสภาพภูมิอากาศรุนแรง เช่น น้ำท่วม พายุ และความแห้งแล้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจมาก ดังนั้นผมกับพราวที่มีความเข้าใจ และความคิดที่ตรงกันว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อเป็นพลังเล็กๆ ที่ทำให้เยาวชนและสังคมไทยเห็นความเร่งด่วนในการช่วยบรรเทาปัญหานี้ แค่เริ่มในสิ่งที่เราทำได้ง่ายๆ เช่นลดการใช้พลาสติก หันมาใช้ของที่สามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้ง หรือเป็นของจากธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ ใช้การเดินแทนการใช้รถในระยะทางใกล้ๆ ที่สำคัญอยากให้ช่วยบอกต่อแนวคิดนี้ต่อครอบครัวและคนใกล้ชิด เพื่อที่พลังเล็กๆ จะได้รวมกันเป็นกระแสและแบบอย่างให้คนอื่นๆ ในสังคมได้ทำตามด้วยครับ”

ผุ้สนันสนุนการจัดงานคอนเสิร์ต

ความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ล้วนเกิดมาจากจุดเริ่มต้น และความพยายามเล็ก ๆ เสมอ นี่ก็เป็นอีกครั้งที่จะแสดงให้เห็นว่าพลังของวัยรุ่นสามารถส่งต่อให้สังคมไทยในวงกว้าง ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม

About Author