สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยจัดสัมมนาเตรียมความพร้อมองค์กรสู่อนาคตภายหลังวิกฤติ
28 มิถุนายน 2565 สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)ระดมเหล่าผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญในองค์กรระดับประเทศร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์นำเสนอแนวคิดการบริหารจัดการองค์กร เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูองค์กรภายหลังวิกฤติและเตรียมความพร้อมสู่อนาคตขององค์กรโดยในปีนี้ทางTMA ได้นำเสนองานภายใต้ธีม“Fit for Future”ซึ่งจัดขึ้นทั้งในรูปแบบออนกราวด์ และรูปแบบออนไลน์พร้อมเดินหน้าสู่การเป็น Thought Partner ให้แก่องค์กรธุรกิจในประเทศไทยเต็มตัว ธุรกิจในอนาคตไม่ได้เป็นเรื่องของคนสองคนอีกต่อไป
คุณจักรชัย บุญยะวัตรประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมอเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในหัวข้อ “Business of the Future”ว่า “ในอดีต การทำธุรกิจคือธุรกรรมระหว่างผู้ขายและผู้ต้องการจะซื้อ แต่โลกที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังโควิดทำให้ผู้เกี่ยวข้องในโลกธุรกิจเกี่ยวข้องกับภาพในระดับมหภาคมากขึ้น ทั้งในมิติPlanet, Product and Profit, และ People นอกจากนี้ คุณจักรชัยฯ ยังได้กล่าวถึงประเด็น Planet ว่าธุรกิจในอนาคตจะต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เพราะจะส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กร ที่ผ่านมาจะเห็นถึงวิวัฒนาการในการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรมาอย่างชัดเจนและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ที่องค์กรได้ใช้กรอบความยั่งยืนในการขจัดความเสี่ยง ชูธงเป็นกลยุทธ์องค์กร และรวมถึงเป็น Purpose ของธุรกิจที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดสร้างเป็นธุรกิจใหม่ได้ในอนาคต”
สำหรับประเด็น Product and Profit คุณจักรชัยฯ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “การดำเนินธุรกิจให้มีกำไรสำหรับโลกอนาคตจำเป็นต้องใช้โมเดลใหม่ทั้งในส่วนOperating Model และ Way of Work ซึ่งโควิด -19 ได้เปลี่ยนโลกจาก “การทำเหมือนเดิมได้เหมือนเดิม” เป็น “ทำเหมือนเดิมแล้วได้น้อยกว่าเดิม” เพราะจำนวนประชากรที่ลดน้อยลง และวิถีชีวิต วิธีคิดและพฤติกรรมของผู้คนที่เปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นในฝั่งลูกค้าและพนักงานต้องมีวิถีการทำงานและการบริหารจัดการบุคลากรแบบใหม่ การทรานส์ฟอร์มธุรกิจควรเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาในทุกขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจเพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล ลดต้นทุนและเพิ่มผลกำไรแก่ธุรกิจได้”
ในส่วน People คุณจักรชัยฯ กล่าวว่า “เป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ใช้เวลาเกินครึ่งในเรื่องนี้ ซึ่งคนเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน การดำเนินธุรกิจบนหลักการความยั่งยืนต้องแสดงถึงภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดีตามหลักการ ESG โดยผู้ผลักดันให้เกิดขึ้นได้คือ “คน” ในฐานะศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าเทคโนโลยีจะมีความสำคัญมากขึ้นเป็นอย่างมากก็ตาม แต่ความสำเร็จในการปรับไปสู่การเป็น Business of the Future ได้ เริ่มต้นที่ “คน” ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องสร้าง Engagement และมีกลไกที่ทำให้องค์กรสามารถดึงดูดและรักษาคนเก่งไว้ให้ได้”
พลิกเกมธุรกิจด้วยพลังของข้อมูล
ในการบรรยายพิเศษหัวข้อ “To be Fit for the Future”และการสัมมนาในหัวข้อ “Data is the Game Changer” และ “Addressing the Customer’s Pain Points” วิทยากรและผู้อภิปรายได้แบ่งปันความคิดเห็นและประสบการณ์เกี่ยวกับคุณค่าของข้อมูลและแนวทางการสร้างคุณค่าให้แก่ธุรกิจ
คุณอริยะ พนมยงค์กล่าวว่า “ในการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล องค์กรควรตั้งต้นที่การทำความเข้าใจเทคโนโลยีในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการสร้างสินค้าและบริการใหม่ และรวมไปถึงการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ บนเงื่อนไขว่าต้องมีจำนวนผู้ใช้งานเทคโนโลยีที่มากพอ เพราะในอุตสาหกรรมดิจิทัลรายได้ของธุรกิจไม่ได้มาจากผู้ใช้งาน แต่เป็นรายได้จากการโฆษณาและได้รับข้อมูลฐานลูกค้า ซึ่งต่างจากธุรกิจแบบดั้งเดิม โดยหัวใจหลักของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสิ่งที่คนภายนอกไม่เห็น และอาจเข้าใจผิวเผิน ดังนั้นจึงควรศึกษาเทคโนโลยีอย่างจริงจังในฐานะเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์เรื่องใดของธุรกิจกันแน่”
ดร.สุรัตน์ วงศ์รัตนภัสสรผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัทไอ.ซี.ซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้แนะนำให้องค์กรปรับเปลี่ยนธุรกิจโดยใช้ทั้งประสบการณ์และข้อมูลประกอบกันในทุกขั้นตอนการตัดสินใจ ดร.กฤษณะ งามสม Head of Business, The 1, Central Group ได้กล่าวว่า “การใช้ข้อมูลเพื่อเปลี่ยนธุรกิจควรเป็นทิศทางเชิงกลยุทธ์ที่มาจากผู้บริหาร ซึ่งเห็นประโยชน์และความสำคัญ จึงเริ่มใช้งานโดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเป็นตัวตั้ง เริ่มจากเรื่องที่ง่ายไปยากเพื่อให้บุคลากรตามได้ทัน และอาจให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสนับสนุนในการพัฒนาทักษะของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง”
ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประธานกลุ่มบริหารการตลาด TMA ได้กล่าวสรุปถึงประโยชน์ของการใช้ข้อมูลว่า “สามารถช่วยเพิ่มกำไร ลดต้นทุน และพัฒนาธุรกิจใหม่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับตลาดยุคใหม่ที่แนวคิดแบบเดิมที่มองลูกค้าทุกคนเหมือนกันใช้ไม่ได้อีกต่อไป”
คุณวชิระชัย คูนำวัฒนา Head of ServiceSolution Business บริษัท เอสซีจี ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า “การทำความเข้าใจ Pain Points ของลูกค้าเป็นจุดตั้งต้นของการพัฒนานวัตกรรมซึ่งเป็น Solutions ที่มาตอบโจทย์หรือแก้ไขปัญหาของลูกค้า ทำให้ต้องมีกระบวนการทำEmpathy มิใช่แค่การสัมภาษณ์เพื่อถามข้อมูลจากลูกค้าเท่านั้น ซึ่งทีมพัฒนาจำเป็นต้องมี Mindset ที่ลูกค้าและผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลางและเข้าใจOpen Innovation ที่องค์กรไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างให้สำเร็จด้วยตัวเอง”
คุณจิรพัฒน์ จันทร์เจิดศักดิ์ Innovation Management Director บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด กล่าวว่า “ในการพัฒนาไอเดียใหม่ องค์กรควรต้องรู้จักพื้นที่แกนกลางที่องค์กรมีศักยภาพและแข็งแกร่งเพื่อให้ไอเดียใหม่ที่เกิดขึ้นมาเกาะเกี่ยวและเติบโตไปด้วยได้ พร้อมทั้งต้องมีกระบวนการ Validation ไอเดียอยู่สม่ำเสมอเพื่อคัดไอเดียที่ไม่มีศักยภาพในการเติบโตเป็นธุรกิจออก”
ขณะที่ คุณเชิดชัย บุญชูช่วย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่แผนกลยุทธ์และบริหารการลงทุน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า “Technology Disruption ได้เปลี่ยนตลาดไปสู่ยุคที่ลูกค้าเป็นใหญ่ รูปแบบการแข่งขันทางการตลาดได้เปลี่ยนแปลงเมื่อผู้บริโภคเปลี่ยนจาก Consumer เป็น Prosumer ซึ่งนอกจากลูกค้าในฐานผู้บริโภคให้กลายเป็นผู้ผลิตได้เองด้วย ทำให้โมเดลธุรกิจเปลี่ยนไปสู่รูปแบบเครือข่ายที่เกิดการพึ่งพาแบบ Ecosystem ที่ช่วยสร้างมูลค่าให้แก่พันธมิตรในเครือข่ายและเติบโตร่วมกัน จากการส่งมอบคุณค่าเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า นอกจากการเปลี่ยนแปลงในฝั่งลูกค้าแล้ว ธุรกิจในอนาคตจะต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ในด้านบุคลากรขององค์กรเอง”คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล กลุ่มบริษัทเอไอเอส และกลุ่มบริษัทอินทัช คุณเฑวินทร์ สมงามCorporate HR Director เอสซีจี และคุณวริศร เผ่าวนิช กรรมการผู้จัดการ Techsauce Media ยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับการบริหารจัดการคนรุ่นใหม่และการรักษาสมดุลระหว่างความต้องการของคนต่างวัยในองค์กรไว้ว่า “ดิจิทัลดิสรัปชั่น ได้มาถึงก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 อย่างไรก็ตาม จนเมื่อมีโรคระบาดเกิดขึ้น จึงได้กลายเป็นสถานการณ์บังคับที่ทำให้ผู้คนต้องปรับตัว ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่ปรับตัวได้สำเร็จ กลุ่มคนที่ตั้งรับไม่ทันและไม่ต้องการไปต่อ รวมทั้งคนที่ต้องการไปต่อแต่ไม่มีความสามารถมากพอ ซึ่ง Mindset ของผู้นำองค์กรและวัฒนธรรมองค์กร รวมถึงวิธีคิดของ HR และการสื่อสารในองค์กรเป็นปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการออกแบบและพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมกับบริบทเฉพาะขององค์กรทั้งในสถานการณ์ขณะนี้และต่อไปในอนาคต โดยต้องไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม”
ความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นสิ่งแวดล้อมสัมพันธ์กับการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจเป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้
การสัมมนาในหัวข้อ Sustainable and Profitable Growthผู้อภิปรายทั้ง 3 ท่านได้แก่ Dr. Harald Link, Chairman of B.Grimm Group and President of B.Grimm Power Public Company Limited, Mr.Daniel Ross, Chief Investment Officer, BTS Group holdings Public Company Limited และ Mr. Anthony Watanabe, Vice President & Global Head of Environmental Sustainability,Indorama Ventures Public Company Limited ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเติบโตอย่างยั่งยืนและผลกำไรขององค์กรว่า “การดำเนินธุรกิจบนเส้นทางความยั่งยืนนั้นเป็นการเดินทางขององค์กรที่ต้องรักษาความตระหนักถึงความสำคัญ การจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยผู้นำองค์กรต้องมีวิสัยทัศน์เรื่องนี้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ องค์กรขนาดใหญ่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้มี Mindset ในเชิงบวกและดำเนินการตามมาตรฐานสากลต่าง ๆ ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยความท้าทายหลักที่องค์กรได้เผชิญที่ผ่านมาคือการให้ความรู้ การโน้มน้าวผู้คนเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญในการเปลี่ยงพฤติกรรมเพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงต้องมีกลยุทธ์ในการสื่อสารเพื่อสร้างการยอมรับในวงกว้างทั้งในองค์กรและในสังคม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังคมควรต้องดำเนินการต่อไปคือทำให้คนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นอนาคตประชากรของโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการมีส่วนร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยองค์กรสามารถสนับสนุนได้โดยสื่อสารกับพนักงานในฐานะสมาชิกของสังคม ขณะที่ชุมชนต้องให้สนับสนุนให้บุตรหลานได้สัมผัสถึงความสุขจากการใกล้ชิดธรรมชาติ นอกจากนี้ ธุรกิจในทุกขนาดยังควรเปลี่ยน Mindset โดยเริ่มต้นตั้งคำถามใหม่ว่าการดำเนินธุรกิจบนข้อผูกพันในด้านความยั่งยืนจะมีผลดีต่อองค์กรหรือพนักงานได้อย่างไร ซึ่งการเริ่มต้นคำถามใหม่จะทำให้วิธีคิดและวิธีการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนไป ความพยายามในการแก้ไขปัญหาใหม่จะเกิดเป็นคุณค่าใหม่ และในที่สุดอาจกลายเป็นธุรกิจเมื่อสเกลได้ถึงระดับหนึ่ง ซึ่งเมื่อสังคมพบกับความยั่งยืนแล้วจะตอบกลับเป็นกำไรสำหรับทั้งองค์กร สังคมและโลกในที่สุด”
คุณปิยพร พรรณเชษฐ์ประธานCorporate Performance Management Group – TMA(CPMG) กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทุกทิศทาง ตัวแปรธุรกิจและภูมิทัศน์เปลี่ยนทั้งหมดอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน องค์กรต้องปรับ Mindset รู้จักปรับเปลี่ยนและทดลองเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมกับองค์กรตัวเอง ซึ่งกลุ่ม CPMG จะชักชวนผู้บริหารต่าง ๆ มาทำ Framework Strategy เพื่อร่วมกันถอดบทเรียนและนำประสบการณ์ต่าง ๆ มาทำงานและเดินไปด้วยกันเพื่อให้องค์กรปรับตัวและสามารถรองรับกับความเปลี่ยนแปลงในบริบทต่าง ๆ ได้”
ด้าน ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประธาน Marketing Management Group –TMA(MMG)กล่าวว่า “กลุ่มการตลาดมีทิศทางส่งเสริมภาคธุรกิจใน3 แนวทางสำคัญคือเชื่อมโยง นักการตลาดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามาใน TMA เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้ไม่ตกหลุมพรางหลังโควิด-19สร้างความสัมพันธ์ให้กลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จได้มีโอกาสแบ่งปันความรู้ให้คนในอุตสาหกรรมเป็นวงกว้าง เชิดชูผู้ประสบความสำเร็จเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดข้อมูล และช่วยเหลือ ปกป้องคนที่กำลังทำธุรกิจ และขยายไปสู่การช่วยเหลือสังคมต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเชิงพฤติกรรมผู้บริโภค TMA มีหน้าที่ส่งเสริมให้ธุรกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืน และได้ดำเนินการรวบรวมและกระจายข้อมูลการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ในมุมการตลาดนอกจากผู้บริโภคแล้ว เทคโนโลยีในด้าน Digital Marketing ก็เปลี่ยนเช่นกัน ทำให้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การจับคู่ Mentor ผู้เชี่ยวชาญกับผู้ต้องการความช่วยเหลือและคำแนะนำ การสร้างนักการตลาดรุ่นใหม่โดยรุ่นพี่ที่ประสบการณ์พบกับรุ่นน้องตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างทรัพยากรบุคคลด้านการตลาดที่มีความสามารถ การรวบรวมความรู้และจัดคลาสออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกิจกรรมที่ได้เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอมาก่อนหน้านี้ และจะยังคงจัดต่อเนื่องต่อไป จึงเชิญชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมและชักชวนผู้เกี่ยวข้องมาร่วมกัน”