อธิบดีณัฐพล ดันงานวิจัยไทยขึ้นห้าง ตอบโจทย์ S-Curve ต้องตา WD เชื่อมั่นโลจิสติกส์ระบบ ASRS ของคนไทย
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และในฐานะประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ เผย Spearhead ดันงานวิจัย “ระบบอาคารคลังสินค้าอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติ Auto Storage and Retrieval System : ASRS” สำเร็จ สร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นให้กับ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมาใช้ระบบ ASRS จากฝีมือคนไทย โดยระบบดังกล่าวช่วยลดต้นทุน ลดข้อผิดพลาด และเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถบริหารจัดการคลังสินค้าและวัตถุดิบ รวมทั้งลดการนำเข้าระบบ ASRS จากต่างประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี จะมีมูลค่าความต้องการระบบ ASRS เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับแต่งตั้งจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ โดยเน้นดำเนินการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในมิติต่าง ๆ รวมถึงนโยบายของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งขับเคลื่อนและผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) รวมถึงแก้ปัญหาด้านต้นทุนด้านโลจิสติกส์ที่ส่งผลแก่ผู้ประกอบการ
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) จึงได้นำนโยบาย DIPROM CARE เข้ามาช่วยดำเนินการโดยการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติของคนไทยมาปรับใช้กับโลจิสติกส์อุตสาหกรรม สามารถลดข้อผิดพลาดและลดพื้นที่ในการจัดเก็บ เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการคลังสินค้าและวัตถุดิบ ด้วยการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนภายใต้การนำของ Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนางานวิจัย “ระบบอาคารคลังสินค้าอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติ Auto Storage and Retrieval System : ASRS” เพื่อสร้างโอกาสสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ให้สามารถนำระบบ ASRS มาใช้งานได้ภายใต้งบประมาณและสถานที่ที่จำกัด ซึ่งระบบ ASRS เป็นการนำวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้กับระบบอาคารคลังสินค้าอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบอุปกรณ์และเครื่องจักรสำหรับระบบอัตโนมัติ ได้แก่ เครนยกสินค้าในแนวสูง ชั้นวางสินค้า (Stacker Crane) ชั้นวางสินค้า (Storage Rack) และโปรแกรมบริหารงานคลังสินค้า (Warehouse Management System) ที่คนไทยพัฒนาขึ้นเองภายในประเทศ ช่วยยกระดับระบบโลจิสติกส์ในประเทศไทย ซึ่งระบบ ASRS เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนา System Integrator ที่เป็นผู้ประกอบการคนไทยได้ร่วมพลิกอุตสาหกรรม Automated Warehouse ของประเทศ และสามารถพัฒนาก้าวสู่การเป็นผู้นำในการส่งออกเทคโนโลยีระบบ ASRS สู่อาเซียนในอนาคต
นอกจากนี้ ระบบ ASRS ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขัน ทั้งในด้านต้นทุน และประสิทธิภาพในการผลิตให้กับผู้ประกอบการ พร้อมเร่งผลักดันให้นวัตกรรมทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ประสบความสำเร็จ เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ขึ้นห้าง สามารถขายทำกำไรได้จริง ใช้งานได้ดีเยี่ยมทำได้โดยนักวิจัยไทยในประเทศไทย พิสูจน์แล้วว่าช่วยลดต้นทุนถึงจุดคุ้มทุนเร็ว
โดยที่ผ่านมา ทางคณะวิจัยและ บริษัท แม่น้ำเมคคานิกา จำกัด ได้นำผลงานจากโครงการฯ ไปขยายผลทางธุรกิจกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายแล้ว อย่างน้อย 3 ราย และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ดีเอสวี โซลูชั่นส์ จำกัด และยังคงมุ่งมั่นที่จะต่อยอดปรับปรุงระบบจากเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะขยายผลเปิดให้บริการต่อภาคอุตสาหกรรมไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้านในการลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพในส่วนของห่วงโซ่อุปทานในสถานประกอบการ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในการใช้ระบบ ASRS จากฝีมือคนไทย
ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ รองประธาน บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ใช้ระบบ ASRS จากทีมนักวิจัยคนไทยที่ได้ทุนจาก Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยี 4.0 ที่จะมาช่วยพัฒนากระบวนการบริหารจัดการคลังสินค้าในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นการลดความผิดพลาด ลดต้นทุน ลดการใช้แรงงาน ลดการใช้พลังงาน ซึ่งถือเป็นระบบที่ตอบโจทย์แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างลงตัวอีกด้วย
โอกาสนี้ Mr.Sam Loke กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอสวี โซลูชั่นส์ จำกัด รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคุณรุ่งรัตน์ ศิริรัตนาพานิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม่น้ำเมคคานิกา จำกัด ร่วมด้วยคณะผู้วิจัย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ได้เยี่ยมชมผลงานระบบ ASRS เนื่องจากระบบ ASRS ส่วนใหญ่ที่มีในปัจจุบัน เน้นเฉพาะโครงการที่มีงบลงทุนสูง และยังใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่เป็น SME
โดยระบบ ASRS ที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการฯ นี้ มีทั้งแบบ Low Rise ความสูงน้อยกว่า 12 เมตร เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก งบลงทุนต่ำ และแบบ High Rise ความสูง 23 เมตร เหมาะกับผู้ประกอบการที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีการเติบโตสูง ซึ่งการพัฒนา “ระบบ ASRS” นี้จะสามารถช่วยลด
การนำเข้าระบบจากต่างประเทศได้ คาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี จะมีมูลค่าความต้องการระบบ ASRS เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี