Voices of Thai Cancer Patients เสียงผู้ป่วยมะเร็งเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO จัดให้โรคมะเร็งเป็น 1 ใน 10 โรคไม่ติดต่อที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพ และโรคมะเร็งยังเป็นสาเหตุหลักที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 35 เปอร์เซ็นต์ โดยในประเทศไทยโรคมะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของประเทศตั้งแต่ปี 2542 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

โรคมะเร็งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยจากสิ่งแวดล้อม และปัจจัยภายใน เช่น พฤติกรรมการกินอาหารที่เปลี่ยนไป การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยลง รวมถึงพันธุกรรม ฯลฯ ถึงแม้ว่าจะมีนโยบายในการรับมือกับโรคมะเร็ง แต่อัตราการเสียชีวิตก็ยังเพิ่มขึ้นและการตรวจพบโรคมะเร็งเมื่อโรคมีการลุกลามไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของเกือบทุกประเทศ

เพื่อตระหนักถึงความรุนแรงของสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมะเร็ง มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง (Thai Cancer Society) โดยได้รับความร่วมมือจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา “Town Hall Meeting: Voices of Thai Cancer Patients เสียงผู้ป่วยมะเร็งเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยได้รับเกียรติจาก นายแพทย์จักรกริช  โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ และรองศาสตราจารย์นายแพทย์เอกภพ สิระชัยนันท์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ร่วมด้วยคุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง มาร่วมพูดคุยและตอบคำถาม   ดำเนินรายการโดย คุณแบงค์ พชร ปัญญายงค์

โดยภายในงานเสวนามีการพูดคุยถึงหัวข้อต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือโรคมะเร็งในประเทศไทย (Cancer Preparedness in Thailand) ตั้งแต่ปัญหาที่ผู้ป่วยมะเร็งต้องเผชิญรวมไปถึงปัญหาของแพทย์ผู้รักษาที่ต้องเผชิญในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง อุปสรรคปัญหาในการรักษา และนวัตกรรมในการรักษามะเร็ง พร้อมข้อเรียกร้องและเสนอแนะจากผู้ป่วย เพื่อส่งถึงผู้กำหนดนโยบายและหน่วยงานภาครัฐ ได้ตระหนักและเข้ามาร่วมแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านั้น นอกจากนี้ทาง สปสช. ได้ให้ข้อมูลและตอบคำถามเรื่องระบบการบริการรักษาพยาบาลโรคมะเร็ง ความก้าวหน้าของการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์และความครอบคลุมสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง

ในงานเสวนามีเสียงของผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง จากมูลนิธิเครือข่ายมะเร็งพูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำของสิทธิในการรักษาสิทธิต่างๆ โดยในปัจจุบันสำหรับผู้ป่วยมะเร็งแล้วยังมีปัญหาที่ต้องเผชิญเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ในรักษามะเร็ง ซึ่งคนไข้ในแต่ละสิทธิได้รับการดูแลแตกต่างกัน อยากเรียกร้องให้มีความเท่าเทียมกัน และอยากให้อยู่ในสิทธิสิทธิเดียว นอกจากนี้ยังมีคำถามถึงสิทธิการเข้าถึงการบริการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นนโนบายที่ประกาศใช้ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

คุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ได้สรุปเสียงของผู้ป่วยมะเร็งในเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการว่ายังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ นอกจากนี้คุณศิรินทิพย์ ยังมีการนำเสนอรายงานการศึกษา ความพร้อมและความต้องการเชิงลึกของผู้ป่วยมะเร็ง ญาติผู้ดูแล และบุคคลากรทางการแพทย์ด้านโรคมะเร็งในไทย ดังนี้


1. การพบแพทย์ช้าและได้รับการวินิจฉัยที่ไม่ตรงโรค นําไปสู่การรักษาที่ล่าช้า ซึ่งเสี่ยงต่อการเติบโตของมะเร็ง ส่งผลให้มีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีประกอบกับการคัดกรองส่วนใหญ่มักมีค่าใช้จ่ายสูงและผู้ป่วยยังไม่มีความรู้ด้านสุขภาพดีพอ ส่วนปัญหาของทีมแพทย์ คือ โครงสร้างพื้นฐานการบริการสุขภาพ เช่น เครื่อง MRI และ CT scan มีจำกัด และอาการของมะเร็งเริ่มต้นส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ซึ่งกุญแจสำคัญในการควบคุมโรคมะเร็งที่ดี คือ การป้องกันและการตรวจคัดกรองแต่เนิ่นๆ ผ่านการให้ความรู้ด้านสุขภาพ


2. การได้รับการแจ้งจากแพทย์ว่าเป็นมะเร็งและขาดข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ทําให้ผู้ป่วยกังวล ดูแลตัวเองผิดวิธี ตัดสินใจเปลี่ยนแผนการรักษาหรือรักษาไม่ต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยและผู้ดูแลจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนและได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ผ่านแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ
3. ขั้นตอนการรักษาและการเข้าไม่ถึงการรักษา อาจถูกจํากัดด้วยวงเงินสิทธิการรักษา รวมถึงระยะทางในการเดินทางมาโรงพยาบาล และการขาดความรู้

ทั้งนี้ยังได้มีการนำเสนอถึงข้อเสนอแนะจากกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งต่าง ๆ ดังนี้

1. ปรับปรุงสิทธิการรักษาที่เท่าเทียมสำหรับทุกกองทุน (ข้าราชการ, ประกันสังคม, บัตรทอง)

2.การขยายชุดสิทธิประโยชน์เพื่อตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคมะเร็ง เช่น มะเร็งปอด (Low dose CT Scan) และการป้องกันมะเร็งปากมดลูกด้วยการฉีดวัคซีน HVP ในกลุ่มที่ตกหล่น

3. Health Literacy การสร้างความรู้ความเข้าใจในตัวโรค การดูแลตัวเองรวมถึงการสื่อสารระหว่างทีมหมอและคนไข้

4. โครงการ Cancer Anyway ควรสามารถใช้ได้ในทุกสิทธิ

5. การออกนโยบายที่เปิดกว้างสำหรับยานวัตกรรมการรักษา ที่ไม่ใช่พิจารณาแค่ความคุ้มค่าทางการเงินเท่านั้นแต่มุ่งที่คุณภาพชีวิตด้วย

6. การรักษาผู้ป่วยมะเร็งควรมีจิตแพทย์ร่วมในทีมรักษา รวมถึงผลักดันการรักษาแบบประคับประคองให้มากขึ้น

รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันทน์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวว่า “ในเรื่องของเครื่องไม้ เครื่องมือมากขึ้น ทั้ง IMRT และ โปรตอน หรือเครื่องมือต่าง ๆ ที่สามารถทำให้เจาะจงไปที่ตัวมะเร็งได้ดีขึ้น มีผลข้างเคียงน้อยลง และยุคนี้ยังมีการคิดค้นยาใหม่ ๆ มากขึ้น อย่างเช่น ยามุ่งเป้า และยากลุ่มที่เรียกว่า Immunotherapy (ภูมิคุ้มกันบำบัด) ที่ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และไปทำลายเซลล์มะเร็ง ซึ่งในปัจจุบันก็มีใช้มากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากจะมียาใหม่ ๆ แล้วเราก็ยังมีความสามารถในการเลือกคนไข้ได้ด้วยว่า ใครเหมาะสมกับยาตัวไหนมากที่สุดด้วยวิธีการตรวจชิ้นเนื้อและเลือดของคนไข้ นำไปตรวจทางวิทยาศาสตร์ก็จะสามารถระบุได้ชัดเจนมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้นขอเรียนว่า ไม่ใช่ว่าคนไข้โรคมะเร็งทุกคนจะต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีใหม่เสมอไป การรักษาที่ดี ๆ ที่เป็นมาตรฐาน ผลข้างเคียงไม่ได้มากเกินไปก็ยังมีความจำเป็นในการรักษาคนไข้ส่วนใหญ่”

นพ.สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถานบันมะเร็งแห่งชาติ ได้กล่าวพร้อมตอบคำถามว่า “ต้องบอกว่า มะเร็งแต่ละชนิดเราเทน้ำหนักทางนโยบายไม่เท่ากันในแต่ละขั้นตอน มะเร็งบางมะเร็งคัดกรองยาก รักษาก็ยากไปอีก ป้องกันได้ดีด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม  ถ้ามีลักษณะอย่างนี้เราก็จะเน้นไปทางป้องกัน ยกตัวอย่างเช่น มะเร็งตับมันชัดเจนอยู่แล้ว โดยเฉพาะทางภาคอีสานในบ้านเราที่กินอาหารสุกๆ ดิบ ๆ มีเรื่องของพยาธิใบไม้ตับ อันนี้มันเป็นเรื่องของพฤติกรรม ถ้าปรับตรงนี้ได้มันก็จะลดจำนวนลงได้มหาศาล ในขณะที่การคัดกรองก็ยากแล้ว การรักษานั้นก็ยาก เราจึงเน้นไปที่การป้องกัน”


“ตอนนี้เราพยายามดูในเรื่องของการคัดกรอง อะไรที่สามารถปรับวิธีการคัดกรองได้ อย่าง การเก็บตัวอย่างส่งตรวจได้ด้วยตัวเอง บางคนเดินทางมาตรวจเสียเวลาไปครึ่งวัน เสียรายได้ เราก็เลยออกโครงการของขวัญปีใหม่ที่ใช้ วิธีการเก็บตัวอย่างด้วยตัวเองคล้ายๆ กับ ATK แต่เก็บแล้วเอาไปส่งตรวจ ไม่ต้องไปขึ้นขาหยั่งที่โรงพยาบาล มันก็จะตัดปัญหาต่างๆ ได้ แต่ถ้าถามว่าทำไมมันยังลงที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ คือพอทำเสร็จมันมีเรื่องของการซื้ออุปกรณ์มาและเคลียร์เรื่องการเบิกจ่ายซึ่งตอนนี้เคลียร์เรียบร้อยไปแล้ว และมันก็มาจังหวะพอดีกับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ลงไปทำแคมเปญไม่ได้ แต่ตอนนี้เตรียมไว้หมดแล้ว ดำเนินการได้หลังเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เสร็จ หลังวันอาทิตย์นี้ครับ”

“เรื่องของการรักษา ทางมะเร็งวิทยาสมาคม ได้บอกไปแล้วว่ามันมีความก้าวหน้ามากขึ้นซึ่งก็พยายามเอาตัวนี้เข้าไปในนโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการ Cancer Anywhere อีกที พอคุณตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ถ้ามีผลวินิจฉัยที่แน่นอนแล้วว่าเป็นมะเร็ง เข้าสู่สิทธิการรักษา ไปที่ไหน ต่อที่โรงพยาบาลไหนก็ได้ ไม่ต้องไปตามระบบปกติละ ข้อมูลก็จะส่งผ่านระบบ IT ขึ้น Clouds จะไปโรงพยาบาลที่ไหนก็ได้ เข้าคลาวน์ได้หมดไม่ต้องกลับไปเอาข้อมูลต้นทาง อันนี้ยกตัวอย่าง พอเกิดค่าใช้จ่ายก็เข้า สปสช. กลางไปเลย โรงพยาบาลต้นทางก็ไม่ต้องกลัวว่าจะไปกินค่าใช้จ่ายโรงพยาบาลเค้า ทำให้การเข้าถึงบริการดีมากขึ้น อันนี้ยกตัวอย่างนะครับ” นพ.สกานต์ กล่าว

เรื่องการเข้าถึงข้อมูลและการรักษาโรคมะเร็ง นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. ได้ตอบคำถามดังนี้ “เรื่องแรกก่อนเลยเราให้สิทธิคนไทยทุกสิทธิ ไม่ว่าจะข้าราชการ ประกันสังคม สามารถเข้าถึงการคัดกรองได้ อย่างอาจารย์สกานต์พูดถึง ตอนนี้เราก็ได้ทำการศึกษาแล้ว แต่มีสิ่งที่กังวลแค่นิดเดียว คือ ถ้าเราให้ผู้ป่วยไปเก็บตัวอย่างตรวจเอง ตอนนี้ก็คุยกับอาจารย์หลายๆ ท่านอยู่ว่าจริงๆ ทำไมเราทำแค่ มะเร็งปากมดลูกล่ะ มะเร็งลำไส้ก็ทำได้ คนไข้ก็เก็บอุจจาระจากที่บ้านแล้วก็ส่งตรวจ จริงๆ มีตัวเทสได้ด้วยซ้ำไปเพราะมันมีลักษณะของการตรวจคล้าย ๆ พวก ATK เพียงแต่กังวลว่า ถ้าเราแจกไปแล้วเนี่ย เค้าเอาตัวอย่างที่ตรวจส่งกลับคืนมาไหม บางคนไม่อยากตรวจ ตรวจแล้วเดี๋ยวเป็น เดี๋ยวรับไม่ได้ อันนี้คือเรื่องแรก”


“เรื่องที่ 2 การทำให้สิทธิคัดกรองเกิดความครอบคลุม ปัญหาคือการเดินทางไปเอาที่ตรวจยังไง กำลังคิดอยู่ว่าต่อไป ถ้าเราสามารถเอาไปวางที่ร้านยา ตามคลินิก สถานพยาบาลต่าง ๆ ได้ที่เข้าระบบ คนไข้ก็ไปรับเลยแล้วก็เก็บตัวอย่าง เพียงแต่ตรวจเสร็จแล้วก็ต้องมีคนแนะนำ วิธีการเก็บอย่างไร การจัดส่งไปตรวจแล้วต้องส่งไปที่ไหนได้ อันนี้เป็นขั้นตอนการจัดการนะครับ คิดว่าเรื่องของการคัดกรองเนี่ยไม่มีปัญหา คนไทยทุกคนสามารถได้สิทธิหมดแน่ เพียงแต่ทำยังไงให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้ อันนี้เป็นเรื่องใหญ่ ในเรื่องของการรักษาเหมือนที่ได้เกริ่นไปแล้วเราจะพยายามทำให้ยาทุกตัว ไม่ว่าจะสิทธิไหนก็ควรได้รับการรักษาตามเกณฑ์มาตรฐานนะครับ จริงๆ ต้องขอบคุณอาจารย์ทางมะเร็งหลายๆ ท่านที่มาเขียนสูตรการรักษามะเร็งแต่ละประเภท ถ้าเป็นระยะนี้ต้องใช้ยาตัวไหน ๆ”

“เราตระหนักและพยายามที่จะหาทางเอายานอกบัญชียาหลักเข้าบัญชีอย่างรวดเร็ว เพราะแต่ละวันที่เสียไปคือชีวิตคุณ การเปลี่ยนสิทธิ การรับบริการในโรงพยาบาล เราต้องคุยกันพอสมควร เราเอาประชาชนเป็นตัวตั้ง เห็นถึงปัญหาร่วมกันแล้วทำให้มันเกิดขึ้นครับ”

นพ.จักรกริช ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งสำคัญอีกเรื่อง ซึ่งงานวันนี้เสียงจากผู้ป่วยมะเร็ง สะท้อนถึงความทุกข์ยาก ทั้งของผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน เนื่องจากคนไข้เยอะ บุคคลากรทางการแพทย์มีอยู่จำกัด รวมถึงการกระจายตัวด้วย ทำยังไงให้เราในฐานะผู้มีประสบการณ์มาร่วมด้วยช่วยกัน เหมือนกับที่คุณศิรินทิพย์บอก เรามาช่วยบุคคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ไหม อะไรที่แบ่งปันกันได้เช่น การให้คำแนะนำควรจะมีจิตแพทย์  ซึ่งกว่าจะผลิตจิตแพทย์ได้สักคนซึ่งใช้เวลานาน เราเลยคิดว่าเรามีผู้ป่วยอยู่ในมือที่มีประสบการณ์มาก่อน สามารถเล่าให้คำแนะนำจากประสบการณ์ตรง ทำไมเราไม่ให้คนเหล่านี้มาเป็นเครือข่าย จับมือกับโรงพยาบาล ชวนคนไข้ที่หายแล้วมาช่วยที่โรงพยาบาลหรือมานั่งคุยให้คำแนะนำกับผู้ป่วย อันนี้ที่ผมขอเสริมนะครับ”

ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคมะเร็งรวมถึงการรักษา สามารถสอบถามหรือดูข้อมูลได้ช่องทางไหนบ้าง ทางนายแพทย์จักรกริช  โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. ได้กล่าวว่า “ช่องทางแรกก็คือ โทร 1330 อันนี้เป็นช่องทางแรกเลย ถ้าเกิดไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน และในส่วนของต่างจังหวัด จริงๆ แล้วโรงพยาบาลทุกที่เค้ามีข้อมูล และสามารถให้คำแนะนำได้ เพียงแต่ข้อมูลจากนโยบายจนถึงคนปฎิบัติหน้างานอาจจะตกหล่นไปบ้าง ถ้ายังสงสัยก็สามารถโทรกลับมายัง 1330 ได้ครับ”

ทางด้านรองศาสตราจารย์นายแพทย์เอกภพ สิระชัยนันท์ นายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ทางมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทยมีเว็บไซต์ให้ข้อมูล ให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยแล้วก็ผู้ที่สนใจ สามารถค้นคำว่า Thai Cancer ได้นะครับ แล้วก็จะขึ้นว่า ‘มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย’ ในนั้นก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับ มะเร็งคืออะไร? การรักษาเป็นอย่างไร? ซึ่งอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านมะเร็งวิทยาได้ให้ข้อมูลไว้และยังมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของเคมีบำบัดด้วยครับ ท่านสามารถหาข้อมูลได้ว่าการทำเคมีบำบัดจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร? เราไม่อยากให้มีความเชื่อถือผิดๆ ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบในการรักษาครับ”

คุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง ให้ข้อมูลว่า “เรามี 2 ส่วนนะคะ คือ ส่วนแรกเรามี LINE แอดนะคะ สามารถดูไลน์สแควร์ search คำว่า ‘อาสาเพื่อนมะเร็ง’ ก็จะเจอพี่ ๆ น้อง ๆ เพื่อนมะเร็ง ส่วนที่ 2 ก็คือ Facebook Pages : Thai Cancer Society : TCS (www.facebook.com/thaicancersociety) ซึ่งจะมีข่าวประกาศงานอีเวนท์ต่างๆ ที่เราจัดให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้แล้วในเว็บไซต์ www.thaicancersociety.com จะมีขั้นตอนการรักษาว่าถ้าพรุ่งนี้เป็นมะเร็งต้องทำยังไง? ถ้าพรุ่งนี้ฉันต้องการเข้าโครงการ Cancer Anywhere ฉันต้องเตรียมอะไรบ้าง? ซึ่งสามารถ search คำว่า ‘มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง’ ค่ะ”

และในคำถามสุดท้ายที่ว่า “ถ้าพรุ่งนี้ฉันเจอมะเร็ง สิ่งแรกที่ควรทำ ต้องทำอย่างไร?” คุณศิรินทิพย์ ได้กล่าวว่า “สิ่งแรกที่ควรทำเลย คือต้องมีสติและยอมรับว่าตอนนี้เรากำลังเป็นโรค พอเรามีสติแล้ว เรายอมรับความจริงได้ ความทุกข์ความกังวลมันจะหายไป แล้วเราจะเริ่มเริ่มตั้งหลักกับมันยังไง ขอแค่มีสติแล้วก็กำลังใจก่อนในการที่จะเริ่มต้นเส้นทางการรักษาค่ะ”

ทางด้าน นพ.จักรกริช แนะนำว่า “ผมขอต่อจากสตินิดนึงละกันนะครับ พอเราได้สติแล้ว เราต้องรู้จักวางแผนว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง เรื่องแรกก็คือต้องเอาตัวเองก่อนเลยว่า เราจะต้องไปหาหมอที่ไหน นโยบายเราก็ให้ไปที่ไหนก็ได้ที่คิดว่ามีความพร้อม ที่สำคัญขอย้ำนิดหนึ่งนะครับว่าเราไปเนี่ยเราควรต้องรักษาต่อเนื่องได้ด้วย ไปตรงนั้นทีตรงนี้ที มันคือต้องไปเริ่มต้นจากศูนย์หมดนะครับ เพราะบางทีเราก็ต้องไปตรวจชิ้นเนื้อใหม่ นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของข้อมูลที่เพียงพอกกับการต้องวางแผนในการดูแลตัวเอง และเรื่องที่ 2 ผมคิดว่าอาจจะต้องวางแผนกับคนในครอบครัวกับการวางแผนในอนาคตของตัวเอง เพราะว่ามันจะมีเรื่องของค่าใช้จ่ายที่อาจจะไม่ใช่ค่ารักษา อย่าง ค่าเดินทาง ถ้าเจ็บป่วยแล้วต้องให้เคมีบำบัด อาจต้องหยุดงานหรือเกิดเราอยู่ในระบบบริษัทเอกชนบางแห่งที่เค้าให้เราออกจากงานเลย อันนี้ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญครับ”

“ต่อจากทั้งสองท่านนะครับ คือ มีแพลนแล้วก็พาตัวเองไปหาผู้ที่เชี่ยวชาญที่เชื่อถือได้พูดง่าย ๆ ก็คือแพทย์ทางด้านโรคมะเร็ง ประกอบกับการหาข้อมูลในแหล่งที่เชื่อถือได้ มะเร็งวิทยาสมาคมฯ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง 3 เว็บไซต์ผมคิดว่ามีข้อมูลมากพอสมควรที่ท่านจะไปศึกษาหรือเตรียมตัว และฝากไว้อีกข้อเดียวคือความร่วมมือกับผู้รักษา ตัวเองต้องพร้อมที่จะรับฟังเก็บข้อมูล ซักถามให้รู้เรื่อง ว่าตัวเองนี่แหละอยู่กับตัวเองมากที่สุด แพทย์อยู่แป๊ปๆ มาเจอนาน ๆ ที แต่ถ้าเราเก็บข้อมูล ดูแลตัวเองดี รู้เรื่องดี สื่อสารกับแพทย์ดี ผมว่ามันประสบความสำเร็จในการรักษาได้เยอะเลยครับ” นายแพทย์สกานต์ กล่าวเสริม


นายแพทย์เอกภพ ได้กล่าวแนะนำเพิ่มเติมส่งท้ายว่า “ขอเสริมอีกนิดนึงนะครับว่า เมื่อท่านได้ข้อมูลมาแล้วขอให้พิจารณาว่าจะเชื่อหรือไม่ ถ้าข้อมูลเป็นแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ อันนี้ผมคิดว่าท่านสามารถเอาข้อมูลนี้มาใช้ประโยชน์ได้เลย หรือแม้ว่าท่านมีคำถามอะไรขึ้นมา อย่าไปถามใครทั่ว ๆ ไปซึ่งเราไม่รู้ว่าจะได้คำตอบที่ถูกต้องหรือไม่ รบกวนว่ามาสอบถามแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่าจะได้คำตอบที่ถูกต้อง แล้วก็มีความเชื่อใจในแพทย์ผู้ดูแลรักษาท่านด้วยเพราะหลายครั้งเราเสียโอกาสในการรักษาที่ถูกต้อง ถ้าเกิดความกลัว เกิดความกังวลขึ้นมาเนื่องจากการตัดสินใจผิด ๆ แล้วก็หายจากระบบการรักษาไปรักษาทางอื่นแทน ซึ่งอันนี้ก็จะทำให้เสียโอกาสที่จะได้ผลลัพธ์การรักษาที่ดีครับ”

สามารถติดตามข้อมูลงาน “Town Hall Meeting : Voices of Thai Cancer Patients เสียงผู้ป่วยมะเร็งเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น” รับชมได้ทาง Facebook Live : Thai Cancer Society / SPRiNG News /กรุงเทพธุรกิจ / Nationonline มูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง https://www.facebook.com/thaicancersociety/videos/3752886421501771/

About Author