Healthy City กับ 3 ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้คนกรุงเทพฯ มีสุขภาพดี
ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลาย การเปิดเทอมใหม่ของเด็กนักเรียน ที่มาพร้อมกับการจราจรแสนติดขัด ผนวกกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่เข้าสู่ฤดูฝนเต็มตัว เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามาฉับพลัน จนอาจทำให้หลายคนเริ่มหวั่นวิตกกับการรับมือ โดยเฉพาะในด้านสุขภาวะ จนทำให้ประเด็นเรื่อง Healthy City ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในช่วงนี้
บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ หรือ N Health ผู้นำด้านบริการตรวจสุขภาพและวิเคราะห์ทางการแพทย์โดยนักเทคนิคการแพทย์ ที่อยู่เบื้องหลังภารกิจของโรงพยาบาลชั้นนำมากมาย เล็งเห็นความสำคัญของการมีสุขภาพที่ดีของประชาชน ที่จำเป็นจะต้องอยู่บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าการมีสุขภาพที่ดีนั้นต้องมีการดูแลอย่างเป็นองค์รวม ไม่สามารถแยกองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งออกไปได้ ทั้งร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณ และสังคมสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องอยู่หลายประการ
นางสาวณัฏฐา จันทร์เปล่งแก้ว ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ (N Health) กล่าวว่า “การมีสุขภาพที่ดีนั้น ถือได้ว่าเป็นความรับผิดชอบของคนทุกคน เราจำเป็นต้องรู้ว่าในแต่ละช่วงเวลานั้นร่างกายเรามีสภาวะเป็นอย่างไร หรือเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเรา สิ่งที่ทาง N Health พยายามทำมาอย่างต่อเนื่องก็คือจุดประกายให้ผู้คนหันมาให้ความเป็นเจ้าของกับสุขภาพของตนเอง และพยายามทำให้การมีสุขภาพที่ดีนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย
การจะมีสุขภาพที่ดีได้ ขึ้นอยู่กัน 3 ปัจจัยหลัก ก็คือ Genetic หรือพันธุกรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่มีมาแต่กำเนิด ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่การทำความรู้จักกับพันธุกรรมของตัวเองอย่างถ่องแท้ จะช่วยให้สามารถปกป้องตัวเองจากความเสี่ยงทางด้านสุขภาพได้ ซึ่งปัจจุบันในทางเทคนิคการแพทย์ ก็มีความก้าวหน้าในการตรวจวิเคราะห์ที่ลงลึกถึงระดับยีนส์แล้ว
ประการที่สองคือ Environment หรือสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยที่ค่อนข้างยากที่จะปรับเปลี่ยนหรือควบคุม เพราะไม่สามารถลงมือทำคนเดียวได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่าย ตั้งแต่ในระดับนโยบายลงมาจนถึงสิ่งที่เราสามารถจับต้องได้ เช่น การควบคุมมลพิษ การมีพื้นที่สีเขียวในเมือง คุณภาพของน้ำที่เราใช้และดื่มกิน เป็นต้น”
ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์อย่างมากในประเด็นเรื่อง Healthy City ที่กำลังถูกพูดถึงในสังคม โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลก ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็น เมืองสุขภาพดี หรือ Healthy City โดยมีการกำหนดนิยามไว้ว่า เมืองสุขภาพดีนั้นไม่ได้หมายถึงสภาวะอันเฉพาะเจาะจง หรือผลลัพธ์อันเป็นปัจจุบันของเมืองหนึ่ง ๆ แต่การจะกำหนดได้ว่า เมืองไหนเป็นเมืองสุขภาพดีนั้น ต้องพิจารณาพันธสัญญา ตลอดจนกระบวนการและโครงสร้างของเมืองนั้น ที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีได้ (A healthy city is not one that has achieved a particular health status. It is conscious of health and striving to improve it. Thus any city can be a healthy city, regardless of its current health status. The requirements are: a commitment to health and a process and structure to achieve it.) กล่าวง่าย ๆ คือเป็นการมองที่ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการที่ดี ที่จะนำไปสู่การมีสุขภาพดีของประชาชนนั่นเอง
หากกรุงเทพมหานครจะก้าวสู่การเป็นมหานครสุขภาพดีได้นั้น จำเป็นต้องมีปัจจัยที่สำคัญตามที่ WHO ระบุไว้ อันได้แก่ การมีความมุ่งหมายในระดับนโยบายที่ชัดเจน มีภาวะผู้นำที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในภาคส่วนต่าง ๆ รวมไปจนถึงมีการบูรณาการความร่วมมือในทุก ๆ ภาคส่วน
ทั้งนี้ แม้จะมีการกำหนดนิยามไว้กว้าง ๆ แต่ WHO ก็ได้เผยถึงคาแร็กเตอร์ของเมืองสุขภาพดีเอาไว้หลายข้อ ว่าเมืองที่มีสุขภาพดีนั้นมักจะมีแนวโน้มต่าง ๆ เช่น มีสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่สะอาดและปลอดภัยคุณภาพสูง รวมถึงคุณภาพที่อยู่อาศัยของประชาชนด้วย มีระบบนิเวศที่มีเสถียรภาพในปัจจุบันและมีความยั่งยืนในระยะยาว มีชุมชนที่เข้มแข็ง สนับสนุนซึ่งกันและกัน และไม่แสวงหาผลประโยชน์ ประชาชนมีส่วนร่วมและควบคุมการตัดสินใจที่จะส่งผลต่อชีวิต สุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีในระดับสูง เป็นต้น
“ปัจจัยประการสุดท้ายของการมีสุขภาพดีคือ เรื่องของ Lifestyle หรือ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเราเอง ปัจจัยนี้เป็นปัจจัยที่เราสามารถควบคุมได้อย่างเต็มที่ 100% โดยที่ไม่ต้องรอนโยบาย หรือสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ เราสามารถเริ่มต้นได้จากการลด ละ เลิก สิ่งที่มีโทษต่อสุขภาพ และหันกลับมาใส่ใจการบริโภคและการออกกำลังได้เลยทันที” ณัฏฐา กล่าวเพิ่มเติม
“ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า 3 ปัจจัยที่มีผลต่อการมีสุขภาพที่ดีนั้นมีทิศทาง ทั้งจากภายในและภายนอก มีทั้งที่ควบคุมได้ ควบคุมได้บ้าง และควบคุมไม่ได้เลยแต่ยังสามารถป้องกันได้ Healthy City อาจต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือในการผลักดัน แต่การป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพของแต่ละบุคคลเป็นสิ่งที่เราทำเองได้และสามารถเริ่มต้นได้ทันที” ณัฏฐา กล่าวสรุป
อ้างอิง
https://www.euro.who.int/en/health-topics/environment-and-health/urban-health/who-european-healthy-cities-network/what-is-a-healthy-city
https://www.euro.who.int/en/health-topics/environment-and-health/urban-health/who-european-healthy-cities-network/what-is-a-healthy-city/healthy-city-checklist