THAI SUBCON ลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนา ทดสอบชิ้นส่วนอากาศยาน
วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ในงานประชุมใหญ่สามัญสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทยประจำปี 2564 ณ ห้อง Grand Hall 201ศูนย์การประชุมและนิทรรศการไบเทค สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (Thai Subcon) ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISDA) และบริษัทอุตสาหกรรมการบิน จำกัด (TAI) จัดพิธีลงนาม MOU ร่วมมือกัน ในการส่งเสริมและพัฒนาการดำเนินธุรกิจของแต่ละฝ่ายเพื่อร่วมมือกันพัฒนาขีดความสามารถของทั้งสี่ฝ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดในการผลักดันการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (S-Curve 7) และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ (S-Curve 11) โดยผลักดันให้เกิดการส่งเสริมการสร้าง และการผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน บริภัณฑ์ภาคพื้น และอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยาน เพื่อสนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยานพร้อมกับการสนับสนุนจากห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานในการทดสอบชิ้นงาน และให้การรับรองคุณภาพความปลอดภัยในการใช้งานตามมาตรฐาน AS9100D ทำให้ผู้ใช้งานมีความเชื่อมั่นในคุณภาพ และความปลอดภัยในชิ้นส่วนอากาศยานที่ผลิตภายในประเทศ
โดยได้รับเกียรติจาก ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบัน วว. พลอากาศเอกศุภชัย สายเงิน กรรมการผู้จัดการ TAI นายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคม Thai Subcon และ นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจว่าด้วยการสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาทดสอบชิ้นส่วนอากาศยานในวันนี้
และในโอกาสนี้ ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล ผู้อำนวยการ สำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศ GISTDA นาวาอากาศโทสุรศักดิ์ ภู่ทอง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ TAI นายสมควร จันทร์แดง ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ Thai Subcon และ ดร.พัชทรา มณีสินธุ์ รองผู้ว่าการบริการอุตสาหกรรม วว. ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน
ทั้ง 4 องค์กรจะร่วมกันดำเนินการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1) ศึกษาวิจัยและพัฒนาผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการดัดแปลง ปรับปรุงอากาศยาน/อากาศยานไร้คนขับ/อวกาศยาน ที่สร้างทดแทนผลิตและซ่อมบริภัณฑ์ภาคพื้น รวมทั้งอุปกรณ์สนับสนุนการซ่อมบำรุงอากาศยานและประสานงานกับหน่วยผู้ใช้งานในการรับรองมาตรฐาน เพื่อนำผลการวิจัยและพัฒนาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 2) พัฒนาห้องปฏิบัติการในประเทศให้มีขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์ ทดสอบคุณภาพของชิ้นส่วนอากาศยานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้ได้มาตรฐานของประเทศและมาตรฐานสากล 3) สนับสนุน ส่งเสริมผู้ประกอบการการวิจัย พัฒนา และผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในเชิงพาณิชย์ 4) จัดฝึกอบรมและจัดประชุมวิชาการการเผยแพร่บทความทางวิชาการและ / หรือการจัดทำโครงการให้คำปรึกษาและแนะแนวการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาตรฐานการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 5) ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์องค์กรของทั้งสี่หน่วยงานให้เป็นที่รู้จัก และยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน 6) สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่จะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับการรับรองมาตรฐานคุณภาพชิ้นส่วนอากาศยานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 7) ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างองค์กรในการกำหนดแนวทางการพัฒนาการผลิตชิ้นส่วนอากาศยานและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 8) สนับสนุนข้อมูลข่าวสาร เอกสารทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานในการบริหารการจัดการองค์กรและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน
ยิ่งไปกว่านั้นสมาคม THAI SUBCON ยังได้มีการลงนาม MOU ความร่วมมือทางธุรกิจเพื่อสร้างความสัมพันธ์ และต่อยอดทางธุรกิจ ร่วมกับบริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ซึ่งได้รับเกียรติจากนายเกียรติศักดิ์ จิระขจรวงศ์ นายกสมาคม Thai Subcon นายพนัส วัฒนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทพนัส แอสเซมบลีย์ ลงนามความร่วมมือร่วมกัน
โดยมีนายวีระชัย ตรีพรเจริญ ประธานคลัสเตอร์อุตสาหกรรมระบบราง สมาคม Thai Subcon และนายเกริก กลมเกลียว ผู้จัดการส่วนงานวิศวกรรม ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน เพื่อร่วมพัฒนาชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนสำคัญในอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ การขนส่ง หรืออุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และร่วมสร้างโซ่คุณค่า (Supply Chain) ให้แข็งแกร่งภายในประเทศ ทั้งในปัจจุบันและที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ภายใต้ โครงการ Supply Chain Management เพื่อต่อยอดทางธุรกิจ ต่อไป บริษัทพนัสฯ นั้นมีประสบการณ์มากกว่า 50 ปี ในการผลิตอุปกรณ์การขนส่งที่มีคุณภาพ และยังต่อยอดขยายสายการผลิตไปสู่รถบรรทุกที่ใช้ในข้ารางชการทหาร การย้ายเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับอุตสาหกรรมการบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อยอดธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมระบบราง ซึ่งเป็นที่มาที่ไปของการลงนามความร่วมมือในวันนี้ร่วมกับสมาคม Thai Subcon ที่ก่อตั้งมากว่า 20 ปี และมีโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนเป็นสมาชิกมากกว่า 400 ราย