โครงการแลกเปลี่ยนหนังสือภาพสำหรับเด็ก ไต้หวัน-ไทย ยกขบวนหนังสือภาพจากไต้หวัน งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50

โครงการแลกเปลี่ยนหนังสือภาพสำหรับเด็ก ไต้หวัน-ไทย ยกขบวนหนังสือภาพดีกรี Golden Tripod Awards จากไต้หวัน จัดคอลแลปส์นักเขียนนิทานชื่อดังชาวไต้หวันและไทย พร้อมเสวนาแลกเปลี่ยนณ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50

โครงการแลกเปลี่ยนหนังสือภาพสำหรับเด็ก ไต้หวัน-ไทย ยกขบวนหนังสือภาพดีกรี Golden Tripod Awards จากไต้หวัน จัดคอลแลปส์นักเขียนนิทานชื่อดังชาวไต้หวันและไทย พร้อมเสวนาแลกเปลี่ยน ณ งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 “งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งที่ 20” ได้จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม ถึง 6 เมษายน 2565 ณ สถานีกลางบางซื่อ โดยในปีนี้ ฝ่ายวัฒนธรรม สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ได้มาในธีม “หนังสือภาพสำหรับเด็ก” ซึ่งนอกจากจะยกขบวนหนังสือภาพดีกรีรางวัล Golden Tripod Awards จากไต้หวันมาจัดแสดงภายในงานแล้ว ยังได้เชิญนักเขียนนิทานชื่อดังชาวไต้หวันและไทยทั้ง 4 ท่าน หลี่หรูชิง, เหยียนข่ายซิ่น, ปรีดา ปัญญาจันทร์ และชีวัน วิสาสะ มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน พร้อมจัดกิจกรรมเสวนาแลกเปลี่ยน “โครงการแลกเปลี่ยนหนังสือภาพสำหรับเด็ก ไต้หวัน-ไทย (Taiwan-Thailand Picture Book Exchange 2022;TTpicbook 2022)” เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 บนเวทีกิจกรรมในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ โดยนักเขียนไต้หวันได้เข้าร่วมผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์


ภายในงานมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ อาทิ คุณทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ, คุณอนุรักษ์ กิจไพบูลทวี อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ, ผู้แทนจากสมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ, ผู้แทนจากสถาบันเกอเธ่, คุณ Nicolas Verstappen นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เหล่านักวาดภาพประกอบ และบรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึง สวีเว่ยหมิน (Herbert Hsu) รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำเทศไทย ยังได้มากล่าวเปิดงานด้วยตนเองอีกด้วย บรรยากาศในงานเป็นไปอย่างคึกคัก

สวีเว่ยหมิน (Herbert Hsu) รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำเทศไทย กล่าวว่า “เด็กคือรากฐานและอนาคตของชาติ หัวข้อในปีนี้คือหนังสือภาพสำหรับเด็ก ซึ่งไม่เพียงมีบทบาทในด้านการศึกษาที่ช่วยให้เด็กๆได้ซึมซับและเรียนรู้ผ่านภาพและตัวอักษร แต่ยังเป็นสื่อกลางที่ดีที่สุดที่ช่วยให้ไต้หวันเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในระดับนานาชาติ” นอกจากนี้ คุณทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ยังกล่าวด้วยว่า “กิจกรรมแลกเปลี่ยนหนังสือภาพในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไต้หวัน-ไทย และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมงานในครั้งนี้”


โครงการแลกเปลี่ยนหนังสือภาพสำหรับเด็ก ไต้หวัน-ไทย ในครั้งนี้ นักเขียนไต้หวันและไทยได้ทุ่มเทอย่างหนักในการสร้างสรรค์ผลงาน ก่อเกิดเป็น 2 เรื่องราว ได้แก่ “การเดินทางของพลทหารหลินวั่ง / วันสนุก” โดย หลี่หรูชิง และ ชีวัน วิสาสะ และ “ฉันออกไปข้างนอกหน่อยนะ / ออกเดินทางไปหาเพื่อน” โดย เหยียนข่ายซิ่น และ ปรีดา ปัญญาจันทร์ ที่ดำเนินเรื่องจากซ้ายไปขวาและขวาไปซ้าย จนมาบรรจบและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันตรงกลาง “การเดินทางของพลทหารหลินวั่ง / วันสนุก” ในครั้งนี้ หลี่หรูชิง เจ้าของห้ารางวัล Golden Tripod Awards ได้พา “ช้างหลินวั่ง”แห่งความทรงจำของชาวไต้หวันมายังประเทศไทย พบกับ “คุณเงา” และผองเพื่อน ของ ชีวัน วิสาสะ นักเขียนนิทานรุ่นใหญ่ของไทย ที่จะมาแบ่งปันความสุขด้วยกันในวันสนุก และ “ฉันออกไปข้างนอกหน่อยนะ / ออกเดินทางไปหาเพื่อน” ที่เหยียนข่ายซิ่น นักวาดภาพประกอบหนังสือเรียนผู้อยู่เคียงข้างทุกการเรียนรู้และการเติบโตของเด็กไต้หวัน และ ปรีดา ปัญญาจันทร์ นักเขียนนิทานไทยที่เชื่อว่าไม่มีเด็กไทยคนไหนไม่เคยอ่านหนังสือของเขา ทั้งสองได้พาตัวละครออกเดินทางจากบ้านเกิดของตนเพื่อไปพบเพื่อนจากแดนไกล ระหว่างทางผู้อ่านจะได้พบกับความงามของบ้านเกิดของทั้งสอง พร้อมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและรอยยิ้มไปด้วยกัน


โครงการ ฯ ได้จัดนิทรรศการที่บูธ B26 ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 50 เป็นระยะเวลา 12 วัน โดยมีจัดแสดงหนังสือภาพที่นักเขียนไต้หวันและไทยได้ร่วมกันสร้างสรรค์ รวมถึงหนังสือภาพจากไต้หวันที่ได้รับรางวัล Golden Tripod Award อีกทั้งภายในบูธยังมีกำแพงแห่งจินตนาการให้ผู้เยี่ยมชมได้มาร่วมกันสร้างสรรค์ โดยนิทรรศการในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้อ่านชาวไทยอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะหนังสือภาพจากไต้หวันที่มีผู้สนใจและสอบถามกันเป็นจำนวนมาก


เพื่อสานต่อ “โครงการแลกเปลี่ยนการ์ตูนไต้หวัน-ไทย (Taiwan-Thailand Comics Exchange: ttcomics 2020)” ในปีนี้ ฝ่ายวัฒนธรรม สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยอีกครั้ง โดยมี Vision Thai เป็นผู้ดำเนินงาน จัดกิจกรรม “โครงการแลกเปลี่ยนหนังสือภาพสำหรับเด็ก ไต้หวัน-ไทย” แลกเปลี่ยนข้ามพรมแดน ข้ามวัฒนธรรม ข้ามแพลตฟอร์ม พร้อมหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งวัฒนธรรมไต้หวันอย่างต่อเนื่องจนแตกกิ่งก้านสาขาไปยังทั่วโลก

About Author