“กรมธนารักษ์” แจงแล้ว มูลนิธิชยันโตฯ ครอบครองพื้นที่โดยมิชอบ โยนกองทัพบกเป็นผู้ดูแล
ลั่นสำนักพุทธยื่นเรื่องขอเป็นวัดแต่เพิ่งทำหนังสือยกเลิก 1-2 วัน หลัง “ศรีสุวรรณ” ไปร้อง
กรณี “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการองค์การสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ร้องสอบสถานที่ตั้งของสำนักสงฆ์ “ธรรมสถาน วิโมกสิวาลัย” หรือเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นมูลนิธิชยันโต โพธิธรรมรังสี ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของวัดท่าไม้ของ “หลวงพี่อุเทน” อยู่ในพื้นที่ราชพัสดุตามพระราชกฤษฎีกาหวงห้ามที่ดิน เพื่อประโยชน์ในราชการทหาร พ.ศ.2481 โดยกรมธนารักษ์กระทรวง การคลัง เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ฯ ว่าได้มีการขออนุญาตใช้ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ จนทำให้เกิดเป็นประเด็นอยู่ไม่น้อย
รายการโหนกระแสวันที่ 23 มี.ค. 65 ดำเนินรายการโดย “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 สัมภาษณ์ ศรีสุวรรณ จรรยา มาพร้อม “ประภาส คงเอียด” อธิบดีกรมธนารักษ์ เพื่อชี้แจงถึงประเด็นนี้
พี่ไปร้องอะไรเขาก่อน?
ศรีสุวรรณ : ก็สืบเนื่องจากคดีคุณแตงโม หลวงพี่อุเทนไปบวชให้สองผู้ต้องหา ในคดีนี้ สถานที่บวชตอนแรกคิดว่าอยู่วัดท่าไม้ สมุทรสาคร แต่เอาเข้าจริงไปตรวจที่สำนักสงฆ์ที่สวนผึ้ง ราชบุรี ผมก็ไปเจาะดูว่าสำนักสงฆ์อยู่ที่ไหนอย่างไร ดูสถานที่อุดมสมบูรณ์ รกครึ้มอยู่ติดภูเขา เราก็แปลกใจว่าพื้นที่ตรงนี้น่าจะไม่ใช่พื้นที่ที่ใครก็ยึดถือครอบครองได้ น่าจะอยู่ในพื้นที่ของทางราชการหรือเปล่า ผมก็ไปตรวจสอบว่าเป็นที่ในเขตปฎิรูปที่ดินหรือเปล่า เป็นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติหรือเปล่า หรือเป็นที่หวงห้ามของทางราชการทหารหรือเปล่า ไปสืบค้นในพระราชกฤษฎีกาต่าง ๆ ก็สรุปว่ามันน่าจะอยู่ในพื้นที่เขตหวงห้ามของทางราชการทหาร ปี 2481 ก็เลยทำหนังสือเรียนไปยังท่านอธิบดีกรมธนารักษ์ว่าขอให้ท่านไปตรวจสอบดูสิ เพื่อยืนยันว่าสำนักสงฆ์แห่งนี้ อยู่ในพื้นที่ของทางราชการหรือเปล่า และมีการขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือเปล่า เลยทำหนังสือไปถึงท่านอธิบดีตั้งแต่วันเสาร์-อาทิตย์ ก็ทราบว่าท่านอธิบดีก็สั่งการไปยังธนารักษ์พื้นที่ให้ไปตรวจสอบดู เมื่อวานท่านอธิบดีก็ลงไปพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงอีกครั้ง
ไปร้องเพราะอาจจะไม่ถูกต้อง เลยอยากให้ไปตรวจสอบดูก่อน เชื่อว่าชาวบ้านอาจไม่เข้าใจว่าที่ราชพัสดุคืออะไร?
ประภาส : คือที่ใด ๆ ที่อยู่ในความครอบครองดูแลของรัฐ ยกเว้นในส่วนของป่าสงวน จะเป็นไปตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ แต่ถ้าที่อื่นๆ นอกเหนือเขตป่าสงวน อุทยาน หรือที่ใดๆ ที่ไม่ใช่กรมสิทธิ์ของหน่วยงานของรัฐ ก็ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุตามกฎหมาย ทีนี้วัตถุประสงค์หลักคือใช้ในราชการ ส่วนที่เหลือจากการใช้ประโยชน์ในราชการ ก็นำมาจัดหาประโยชน์ ปกติที่ทราบกันคือให้เช่า หรือหาประโยชน์อย่างอื่นก็แล้วแต่กรณี สำหรับส่วนของธรรมสถานแห่งนี้ที่ไปตรวจสอบเมื่อวาน ก็อาจคลาดเคลื่อนในเรื่องเนื้อที่ คือบริเวณธรรมสถานพื้นที่ทั้งหมด 38 ไร่
ไม่ใช่ 70 ไร่?
ประภาส : ใช่ครับ และได้ข้อสรุปว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ราชพัสดุแน่นอน อย่างท่านศรีสุวรรณร้องเรียนมาคือใช่เลย ที่แห่งนี้อยู่ในเขตหวงห้ามใช้ในราชการทหารมาตั้งแต่ 2481 ข้อเท็จจริงก็ตรงกัน
ใครเป็นคนดูแล?
ประภาส : กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบก เป็นผู้ดูแลพื้นที่นี้
ตรงจุดนั้นคนไปดูแลหรือเข้าไปทำประโยชน์คือใคร มอบหมายให้หน่วยงานไหน?
ประภาส : ชื่อว่ากองบัญชาการกองพลพัฒนา ชื่อโดยละเอียดอาจจำไม่ได้
ที่ราชพัสดุที่ดูแลโดยกรมธนารักษ์ มีสองอย่าง หนึ่งให้เช่า สองให้ใช้ ให้ใช้คือให้หน่วยงานราชการใช้อำนวยประโยชน์หรือพัฒนาพื้นที่จุดนั้นให้เกิดประโยชน์กับสังคมและชาวบ้าน สองถ้าเหลือจากตรงนั้นอีกจุดนึงเรียกว่าให้เช่า เช่นมีที่ตรงทะเล อาจต้องลงทะเล ต้องการใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างหรือพัฒนาที่แปลงนั้นให้ดีขึ้นไป คุณก็ต้องไปเช่าตรงจุดนั้น นี่คือให้เช่าและให้ใช้ ย้อนกลับมาที่ท่านบอกว่าที่ตรงนั้นทหารดูแลอยู่ แล้วอยู่ดี ๆ มาอยู่กับทางวัดท่าไม้ได้ยังไง?
ประภาส : ข้อยุติก็แน่นอน เข้าไปใช้โดยไม่มีสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมาย นี่ตอบแบบตรงไปตรงมา เพราะยังไม่ผ่านกระบวนการขอใช้หรือขอเช่าในที่ราชพัสดุ ซึ่งการใช้คือใช้ในราชการ ในกรณีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในปี 2561 สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรีได้ทำหนังสือมาถึงธนารักษ์พื้นที่ราชบุรี เพื่อให้ออกไปสำรวจพื้นที่ วัตถุประสงค์คือเพื่อให้ใช้ในกิจของวัด นั่นหมายถึงต้องมีสถานะเป็นวัดก่อนถึงใช้ได้ โดยผ่านสำนักพุทธ ก็ถือว่าใช้ในราชการ วัดทั่วไปก็ทำอยู่ลักษณะนี้ หมายถึงว่าทำในนามสำนักพุทธ แต่ปรากฏว่าข้อเท็จจริงท้ายที่สุด สภาพตรงนี้ไม่สามารถยกฐานะเป็นวัดได้ เพราะตามกฎหมายกฎระเบียบ ต้องอยู่ห่างกันไม่น้อยกว่า 5 กิโลเมตรจากวัดอื่น
นั่นหมายความว่าถ้าจะไปตั้งจุดไหนที่มีวัด ต้องไปดูวัดโดยรอบก่อน ถ้า 5 กิโลเมตรมีวัดอยู่แล้ว จะเป็นวัดไม่ได้ ตรงจุดนี้มีวัดอยู่ในระยะ 5 กิโลเมตร?
ประภาส : ครับ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้น เลยตั้งเป็นวัดไม่ได้ ทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดราชบุรี ก็เลยขอยกเลิกการใช้ แต่ก็เรียนข้อมูลเลยว่าเพิ่งขอยกเลิกไปเมื่อวันสองวันนี่เอง
เพราะอะไร?
ประภาส : คงเป็นหลังจากที่ท่านศรีสุวรรณร้อง ก็ส่งหนังสือมาขอยกเลิก และเปลี่ยนเป็นขอเช่าในนามของมูลนิธิ
แล้วจะเช่าใคร ในเมื่อเป็นพื้นที่ค่ายศรีสุริยวงศ์?
ประภาส : การขอเช่า โดยกฎระเบียบกรมธนารักษ์ เนื่องจากอยู่ในความครอบครองดูแลของหน่วยทหาร ดังนั้นถ้าจะให้เช่าก็ต้องได้รับการอนุญาตยินยอมจากหน่วยงานที่ใช้ที่ราชพัสดุก่อนถึงมาเดินขั้นตอนกรมธนารักษ์ ตอนนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ถ้าเขาจะยื่นขอเช่าก็ต้องยื่นไปทางหน่วยทหารที่ดูแลอยู่อย่างที่ผมเรียน และผ่านขั้นตอนว่าอยู่ในวิสัยที่จะอนุญาตได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องดูกฎระเบียบของกระทรวงกลาโหมด้วยว่ากรณีนี้จะอนุญาตให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องเป็นขั้นตอนกระทรวงกลาโหมไป ถ้ากระทรวงกลาโหมอนุญาต จึงจะมาดำเนินการที่กรมธนารักษ์ครับ นั่นคือขั้นตอนการขอเช่า ซึ่งปกติขอเรียนว่าสภาพที่ดินบริเวณนั้นมีการบุกรุกมาอย่างต่อเนื่อง บริเวณรอบๆ วัดก็มีการบุกรุก ส่วนใหญ่ก็เช่ากันในระบบกรมธนารักษ์เรียบร้อยแล้ว ตามโครงการธนารักษ์ประชารัฐอย่างที่ท่านได้รับทราบ คือเอาประชาชนที่บุกรุกที่สาธารณะทั้งหลาย และสามารถมาดำเนินการเช่า คือเขายอมรับว่าที่นั่นคือที่ของราชพัสดุ และมาดำเนินการขอเช่ากับกรมธนารักษ์ ถามว่าประชาชนเหล่านี้ก็คือผู้บุกรุกเหมือนกัน แต่เพียงแค่ว่าไม่มีการดำเนินการในส่วนคดีอาญา เพราะว่าเป็นประชาชน เขาครอบครองเพื่อทำทำกิน เป็นที่อยู่อาศัย
ทำย้อนหลังเหรอ?
ประภาส : ไม่ครับ ไม่มีการทำย้อนหลัง ทำสัญญาเมื่อไหร่ก็มีผลเมื่อนั้น
กรณีวัดท่าไม้หรือพระอาจารย์อุเทน พอไปครอบครองแล้ว ไม่เคยมีการขอ แล้วความผิดบังเกิดมั้ย?
ประภาส : ผมก็ตอบโดยข้อกฎหมาย ไม่มีเจตนาก้าวล่วงบุคคลใด ก็คือแสดงว่าที่ผ่านมาเป็นการกระทำที่เข้าไปโดยมิชอบแน่นอน ไม่ถูกต้องครับ และการที่จะจัดให้เช่าก็ไม่ได้หมายความว่าไปลบล้างการกระทำที่เกิดขึ้น สมมติเข้ามาอยู่ในระบบของสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าความผิดทั้งหมดเป็นอันระงับไป โดยเฉพาะคดีอาญา ถ้าเกิดจะดำเนินคดีอาญา ถามว่าเช่าแล้วทำให้คดีอาญาระงับหรือเปล่าก็ไม่นะครับ ยังดำเนินคดีอาญาอยู่
แล้วกรณีแบบนี้ ที่ทำย้อนหลังไม่ได้ เพราะข่าวบอกว่าจะเหมือนมีการจ่ายค่าเช่าย้อนหลัง?
ประภาส : ไม่มีคำว่าค่าเช่าย้อนหลัง แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้ครอบครองโดยมิชอบ ตั้งแต่ต้น และขณะนี้จะทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ ที่ผ่านมาทั้งหมดต้องชดใช้ เขาเรียกว่าค่าเสียหายครับ ในจำนวนเท่ากับจำนวนที่อาจให้เช่าได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าเสียค่าเช่าย้อนหลังนะครับ สัญญาเช่ามีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาครับ
กรมธนารักษ์ไม่เคยย้อนไปดูตั้งแต่แรกเหรอ ว่าเขาไปสร้างตรงนั้น พอมีปัญหาเรื่องปอ-โรเบิร์ตไปบวชถึงมีประเด็นขึ้นมา ภาษาชาวบ้านเขาเรียกว่าล้อมคอก แบบนี้มันเหมือนทำให้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทำกันมาอยู่ใครก็ทำแบบนี้ก็ได้ ไปทำก่อนไม่ต้องบอกใครก็ได้ พอมีเรื่องแล้วไปไล่เก็บ อย่างนี้เหรอ?
ประภาส : อันนี้เป็นคำถามที่ควรต้องถาม ผมว่าเป็นประเด็นสำคัญด้วย ว่ากรมธนารักษ์ปล่อยปละละเลยหรือเปล่า ต้องเรียนว่าที่ดินที่เป็นที่ราชพัสดุทั้งหลาย ถ้าส่งมอบให้ส่วนราชการใดเป็นผู้ดูแลแล้ว ตามกฎหมาย ส่วนราชการนั้นมีหน้าที่ต้องดูแลรักษาใช้ประโยชน์ และป้องกันการบุกรุกด้วย แต่ไม่ใช่ว่ากรมธนารักษ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องนะครับ กรมธนารักษ์คือผู้ที่ดูแลในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยกระทรวงคลัง ฉะนั้นต้องมีหน้าที่ดูแลร่วมกัน แต่ถามว่าหน่วยงานไหนที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ต้องพูดว่าหน่วยงานที่ครอบครองดูแลและใช้ประโยชน์ในที่นั้นอยู่ แต่กรมธนารักษ์ก็ต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกัน
ท่านจะโยนไปที่กองพลพัฒนาที่ 1 ค่ายศรีสุริยวงศ์ เพราะเขาดูที่แปลงนี้อยู่ กรมธนารักษ์มอบให้เขาเป็นคนใช้ประโยชน์?
ประภาส : ไม่ใช่เป็นการโยนครับ โดยข้อกฎหมายมันคือหน้าที่ร่วมกัน ถ้าผมจะพูดปัดตัวเอง ก็สามารถพูดได้ว่าผมมอบให้ส่วนราชการอื่นไปดูแลแล้ว ผมไม่มีหน้าที่ แต่ไม่ใช่ครับ หน้าที่กรมธนารักษ์คือหน้าที่เจ้าของกรรมสิทธิ์คือกระทรวงคลัง เพราะฉะนั้นในส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก็มีหน้าที่ดูแลร่วมกัน และทราบข้อมูลจากท่านผู้บัญชาการเมื่อวาน ว่าตั้งแต่ปี 2551 ต่อเนื่องมา ท่านก็เข้าไปดู โดยมีผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าไปดู และได้รับแจ้งจากสถานปฏิบัติธรรมแห่งนั้นว่ากำลังจะยกฐานะเป็นวัด แน่นอนว่าโดยวิสัยชาวพุทธทั้งหลายคงคิดว่าเป็นวัดเป็นอะไรก็มีการผ่อนผันกันมา แต่ท้ายที่สุดขณะนี้เป็นวัดไม่ได้แล้ว ถ้าจะมาขอเช่าโดยมูลนิธิอันนั้นก็เป็นเรื่องที่หน่วยทหารและกรมธนารักษ์ต้องพิจารณาหาข้อยุติร่วมกันว่าควรให้เช่าได้หรือไม่ แล้วเช่าเพื่อการนี้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องว่ากันต่อไป
พี่ศรีบอกว่าไม่ใช่แล้ว มีข้อติดข้องหมองใจ?
ศรีสุวรรณ : ที่บอกว่ามีมูลนิธิจะแปลงสภาพไปเป็นผู้เช่าในนามมูลนิธิชยันโต ผมไปสืบค้นในสำนักทะเบียนกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทยแล้ว ไม่มีชื่อนี้อยู่ในสารบบ ไม่ว่าจะชยันโต หรือโพธิธรรมรังสี ไม่มีนะ มีแต่เพียงชื่อมูลนิธิสิริสาโรภิกขุ อันนี้มีจริง แต่จดทะเบียนที่สมุทรสาคร คนเป็นประธานมูลนิธิคือพระอุเทน สิริสาโร ซึ่งเข้าใจว่าถ้าจะใช้ในนามมูลนิธิก็น่าจะเป็นมูลนิธิสิริสาโรนี่แหละที่ไปวิ่งขอ แต่ว่าผมคิดว่าทางกองทัพบกโดยกองพลทหารพัฒนาไม่น่าอนุญาตให้ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ชายแดน เลยจากตัวสำนักสงฆ์ไปก็เป็นเขากระโจม ซึ่งที่จะมีการเดินไปปักธุดงค์ของพระอุเทน และผู้ต้องหาทั้งสองคน ซึ่งจะมีค่ายทหาร ตชด. เต็มไปหมด การที่จะอนุญาตให้บุคคลหรือมูลนิธิไปใช้ประโยชน์ของทางราชการในที่ตรงนั้น ผมคิดว่าไม่น่าจะถูกต้อง และไม่น่าจะเหมาะสม แต่อย่างไรเสีย เรื่องนี้ผมคงทำหนังสือค้านไปยังกองทัพบก ไปยังกองพลพัฒนาที่ 1 และยื่นหนังสือตรวจสอบไปถึงองค์กรส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ด้วย ว่าอบต. สวนผึ้ง อนุญาตให้มีการปลูกสร้างสิ่งปลูกสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเจดีย์ ศาลาปฏิบัติธรรมหรือศาลาการเปรียญอะไรก็แล้วแต่ อนุญาตได้อย่างไร เพราะพื้นที่ดังกล่าวยังไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือสิทธิที่จะครอบครองเลย แล้วไปอนุญาตให้มีสิ่งปลูกสร้างถาวรวัตถุไม่น่าจะถูกต้องตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร
พี่ศรีจะบอกว่าคนดูแลที่แปลงนั้นอยู่ น่าจะรู้ตั้งแต่แรกว่ามีการสร้างเป็นวัดเป็นเจดีย์ ทำไมไม่มีการห้ามกัน พอวันนี้มีเรื่องก็มานั่งไล่กันแบบนี้?
ศรีสุวรรณ : ใช่ ไม่น่าจะถูกต้อง โดยเฉพาะหน่วยงานในท้องถิ่นที่ต้องมีคำตอบ มีเหตุผล เพราะอยู่ในพื้นที่ที่ท่านรับผิดชอบเอง กรมธนารักษ์อาจไม่เห็น ไกลหูไกลตา แต่คนในพื้นที่ต้องรับรู้อยู่แล้ว จะมาโบ้ยว่าไม่รับรู้ไม่รับทราบไม่ได้ เรื่องนี้ผมจะตามต่อให้ถึงที่สุด
ท่านอธิบดีมองยังไง?
ประภาส : ในส่วนของการก่อสร้างสถานที่แห่งนี้ผมก็ไม่ก้าวล่วง เพราะเป็นอำนาจการปกครององค์กรส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่รู้ว่าผ่านขั้นตอนอนุญาต อนุมัติมาอย่างไร โดยหลักพื้นฐานก็อย่างที่ท่านศรีสุวรรณพูด มันต้องแสดงถึงเอกสารเอกสิทธิ์ในที่ดินนั้นด้วยถึงจะไปก่อสร้างได้ แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบกันต่อไป ในเรื่องพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ผมไม่ก้าวล่วง เพราะไม่ใช่หน้าที่กรมธนารักษ์โดยตรง แต่ผมเพิ่มเติมแทนกองทัพนิดนึง เพราะท่านไมได้อยู่ในที่นี้ด้วย ที่ผมลงไปคุยข้อเท็จจริงกัน ท่านก็ลงไปดูพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่ว่าเนื่องจากเป็นวัด และมีข้ออ้างจะทำเป็นวัด สำนักพุทธก็ขอใช้ ท่านเลยไม่ได้ติดใจ เป็นวิสัยชาวพุทธ นั่นคือส่วนนึง
ท่านกำลังจะบอกว่าในมุมกองทัพหรือคนปกครอง คือค่ายศรีสุริยวงศ์ เขาแจ้งว่าตอนแรกจะทำเป็นวัด เลยโอเคให้ทำ เพราะสำนักพุทธจะมาขอใช้ร่วมด้วย เลยไม่มีการตรวจสอบ ปล่อยให้ทำแบบนี้เหรอ?
ประภาส : ไม่ครับ ในส่วนสร้างอาคาร ท่านคงไม่ได้เกี่ยวข้อง เนื่องจากว่าต้องไปขออนุญาตทางท้องถิ่น เพียงแต่ว่าท่านที่เป็นผู้ดูแลก็รับทราบว่ามีการก่อสร้าง แต่เนื่องจากจะทำเป็นวัด ประกอบกับปี 61 ก็มีการยื่นจากสำนักพุทธมาเช่นเดียวกันว่าจะทำเป็นวัด แต่ข้อยุติ ณ ขณะนี้คือไม่ได้แล้ว เท่านั้นเองครับ
สำนักพุทธยื่นให้ด้วย?
ประภาส : ใช่ครับ ที่ผมเรียนไป เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 61 สำนักพุทธยื่นมาที่พื้นที่ราชบุรี เพื่อให้ลงสำรวจพื้นที่ โดยอ้างว่าพื้นที่แห่งนี้จะใช้เป็นที่ของวัด ต่อมาจึงได้มีการยกเลิก และข้อยุติ ณ ขณะนี้คือทำเป็นวัดไม่ได้ อย่างที่เรียนมาแล้ว
ศรีสุวรรณ : เขาขอสำรวจพื้นที่ พอสำรวจปุ๊บไม่เข้าเงื่อนไข ก็อยู่ในระยะห่างไม่เกิน 5 กิโลเมตร ก็จบไป
ณ วันนี้ทางฝั่งกองพลพัฒนาที่ 1 เขาไม่ทราบเรื่องเหรอ?
ประภาส : ไม่ถึงขนาดไม่ทราบ แต่เนื่องจากว่ามีการดำเนินการเพื่อเป็นวัด ถ้าเป็นวัดก็ขอใช้ได้ครับ และส่วนหน่วยทหารก็สามารถอนุญาตได้ ถ้าเป็นวัด แต่ตอนนี้ไม่ได้แล้ว เลยมาเปลี่ยนวิธีการมาขอในนามมูลนิธิ แต่จะได้หรือไม่ได้ ต้องเรียนว่าเขายังไม่ได้ยื่นขอใดๆ ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ได้ด้วย
พี่ศรีมองว่าไม่เหมาะ?
ศรีสุวรรณ : ถูกต้องครับ ยังไงผมก็ต้องคัดค้านอยู่แล้ว เพราะบอกแล้วว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ชายแดน เป็นพื้นที่ความมั่นคง ในพระราชกฤษฎีกาก็ระบุชัดเจน การเอาพื้นที่ดังกล่าวที่ประกาศเป็นความมั่นคง ซึ่งเขาประกาศมาตั้งแต่กาญจนบุรีจนถึงสวนผึ้ง ไม่ใช่พื้นที่ 5 แสนไร่ ดังนั้นไม่ควรเอาพื้นที่นี้มาใช้ประโยชน์ใจกิจการอื่นนอกจากความมั่นคงเท่านั้น ถ้าปัจจุบันยังคงอยู่ก็มีสองทางเลือกที่ต้องทำ ทางเลือกแรกมีความผิด ความผิดสำเร็จแล้ว ต้องดำเนินการนะครับ ใครก็แล้วแต่เข้าไปยึดครอบครองถือประโยชน์ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย อาจต้องแจ้งความดำเนินคดีฟ้องร้อง เพราะกรมธนารักษ์ก็ยึดถือกฎหมายข้อนี้มาเยอะ ผมเองก็ช่วยเหลือชาวบ้านเกี่ยวกับคดีที่ทางกรมธนารักษ์แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีฟ้องร้องกันเยอะไปหมด เช่นที่พื้นที่ดินในคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว ท่านก็ฟ้องชาวบ้านไปเยอะแยะ ท่านก็ใช้สิทธิ์ตามกฎหมายถูกต้อง เราก็สู้กันไป เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน วัดท่าไม้มาใช้พื้นที่โดยไม่ขออนุญาตก็ถือว่าเป็นความผิด ตามกฎหมายอาญา ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย แต่ท่านจะดำเนินการเองหรือให้กองทัพบกไปร้องทุกข์กล่าวโทษก็เป็นเรื่องของทางราชการที่ต้องดำเนินการ นี่เป็นประเด็นที่ผมคิดว่าต้องดำเนินการ ไม่ใช่ว่าไม่เป็นไร มาขอเช่าแล้วก็ยุติกันไป ผมคิดว่าไม่ได้ ส่วนเรื่องท้องถิ่นก็ต้องไปว่าเรื่องท้องถิ่นว่าดำเนินการเรื่องนี้ หลับหูหลับตาหรือเปล่า อะไรต่างๆ เป็นต้น
ยังไงท่าน?
ประภาส : อย่างที่ท่านศรีสุวรรณพูดมา หลักการคือถูกต้องครับ แต่ต้องเรียนว่าการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหายคือกองทัพบก และหน่วยธนารักษ์ แต่ว่าการที่จะดำเนินคดีอาญาหรือไม่ เดี๋ยวต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นคืออะไร เพราะว่ามีประชาชนที่บุกรุกอยู่ในบริเวณนั้นอีกเยอะเลยครับ
ไม่ใช่แค่วัดแห่งนี้?
ประภาส : ถูกต้องครับ มีบุคคลที่ไปครอบครอง เกษตรกรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ถ้าดำเนินคดีอาญาเฉพาะวัด หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งมันเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ แต่ไม่ใช่ว่าไม่ทำอะไรนะครับ เดี๋ยวต้องไปดูกันและหารือร่วมกันให้ได้ข้อยุติ ระหว่างกรมธนารักษ์กับกองทัพบก ส่วนรายละเอียดในส่วนอื่นที่มีการฟ้องคดีกัน ต้องเรียนว่าในบางพื้นที่ถ้าส่วนราชการใดเขามีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการและเร่งด่วนในการต้องทำ คือกรมธนารักษ์ที่ต้องฟ้อง เพราะหน่วยที่เขาจะใช้ประโยชน์เขามีความจำเป็นต้องใช้ อย่างในกทม. เราจำเป็นต้องฟ้อง แต่ในส่วนพื้นที่ตรงนี้ ต้องมาดูอีกว่าจะมีผลกระทบอย่างไร
ถ้าไปดูแล้ว คุยกันแล้ว กับทางกองทัพ มีโอกาสยึดคืนมั้ย?
ประภาส : ก็อย่างที่ผมเรียน ถ้าไม่อยู่ในสถานะที่จะอนุญาตได้ ก็ต้องดำเนินการ คือยึดคืน หรือส่งคืนตามขั้นตอน กฎหมายเป็นแบบนี้ครับ
พี่ศรีว่าไง?
ศรีสุวรรณ : ก็อย่างที่อธิบดีว่า ทุกประการ ผมยืนยันอย่างไรเสียพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ความมั่นคงแห่งชาติต้องเอาคืนมา แม้วัดนี้ชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เคารพนับถือของใครก็แล้วแต่ แต่คิดว่ากฎหมายต้องเป็นกฎหมายเท่านั้น
จะไปร้องทางกองพลพัฒนาที่ 1 มั้ย?
ศรีสุวรรณ : ต้องร้องด้วยครับ
ไม่กลัวเหรอ?
ศรีสุวรรณ : ไปกลัวอะไร ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทั้งหมด ทหารก็อยู่ภายใต้กฎหมายครับ
ตอนนี้ประชาชนรักพี่ 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว?
ศรีสุวรรณ : ขอบคุณครับ