เปิดประวัติ “สรพงศ์ ชาตรี” พระเอกดังในตำนาน

อาลัยพระเอกดังในตำนาน “เอก – สรพงศ์ ชาตรี” จากไปในวัย 73 ปี ด้วยโรคมะเร็งปอด
นับเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของวงการบันเทิงไทย เมื่อพระเอกดังในตำนาน เอก – สรพงศ์ ชาตรี เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ในวัย 73 ปี เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 10 มีนาคม 2565 หลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ภายหลังทราบข่าวแฟน ๆ และคนในวงการบันเทิง ต่างแสดงความไว้อาลัยอย่างมากมาย

โดย สรพงศ์ เป็นดาราเจ้าบทบาทที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในช่วงปลายยุค 70 ถึงกลางยุค 80 เเละยังคงมีชื่อเสียงในอาชีพการเเสดงมาจนถึงปัจจุบัน ได้รับเลือกเป็น “ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง” ในปี พ.ศ. 2551
ชื่อ “สรพงศ์ ชาตรี” ที่ใช้ในการแสดง ผู้ตั้งให้คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ และหม่อมอุบล ยุคล ณ อยุธยา โดยคำว่า “สร” มาจาก อนุสรมงคลการ, “พงศ์” มาจาก สุรพงศ์ โปร่งมณี (ผู้พามาฝากตัวกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม) และ “ชาตรี” มาจาก ชาตรีเฉลิม
ด้านการศึกษา จบชั้น ป.4 แล้วบวชเรียนตั้งแต่อายุ 8 ปี ที่วัดเทพสุวรรณ พระนครศรีอยุธยา และ วัดดาวดึงส์ บางยี่ขัน ธนบุรี จนกระทั่งลาสิกขาบทเมื่อ พ.ศ. 2512 และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ศิลปศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในปี พ.ศ. 2552
เมื่ออายุได้ 19 ปี และได้พบกับหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ซึ่งชักชวนให้มาอาศัยอยู่ที่วังละโว้ ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ เริ่มงานแสดงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2512 เป็นตัวประกอบ และเป็นเด็กยกของในกองถ่ายละครเรื่อง “นางไพรตานี” ฉายทางช่อง 7 และเล่นเป็นตัวประกอบในละคร “ห้องสีชมพู” และ “หมอผี” ซึ่งหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เป็นผู้กำกับหลังจากเดินทางกลับจากเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา
มีผลงานภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์เรื่อง “สอยดาว สาวเดือน” เมื่อ พ.ศ. 2512 รับบทเป็นลูกน้องนักเลงที่มีเรื่องกับ ชนะ ศรีอุบล ที่รับบท สมิง ซึ่งเป็นพระรองของเรื่องในร้านเหล้าโดยที่ออกมาฉากเดียวและไม่มีบทพูดและถูกสมิงยิงตาย
จากนั้นในภาพยนตร์เรื่องที่ 2 คือเรื่อง “ต้อยติ่ง” ในปีเดียวกัน ยังคงรับบทเป็นตัวประกอบที่ออกมาฉากเดียวในช่วงท้ายเรื่องและไม่มีบทพูดเช่นเคย และ ภาพยนตร์เรื่องที่ 3 คือเรื่อง “ฟ้าคะนอง” เมื่อ พ.ศ. 2513 ยังคงรับบทเป็นตัวประกอบที่ออกมาฉากเดียวแต่เริ่มมีบทพูด โดยรับบทเป็นผู้โดยสารรถสองแถวคันเดียวกับนางเอกคือ “ภาวนา ชนะจิต” ที่ต้องการเดินทางไปหาดฟ้าคะนอง
กระทั่งได้รับบทพระเอกเต็มตัวครั้งแรก ในภาพยนตร์เรื่องที่ 4 คือเรื่อง “มันมากับความมืด” (พ.ศ. 2514) ผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม จากนั้นได้รับบทในภาพยนตร์ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม แทบทุกเรื่อง ทั้งบทพระเอก พระรอง และเป็นผู้ช่วยผู้กำกับในบางครั้ง มีผลงานแสดงกว่า 500 เรื่อง
ได้รางวัลตุ๊กตาทองครั้งแรกจากเรื่อง “ชีวิตบัดซบ” และ “สัตว์มนุษย์” สองปีติดต่อกัน และมีชื่อเสียงในต่างประเทศจากเรื่อง “แผลเก่า” (พ.ศ. 2520) นับว่าประสบความสำเร็จสูงสุด

“สรพงศ์” ได้รับรางวัลทางการแสดงจากหลายสถาบัน เช่น “รางวัลตุ๊กตาทองพระสุรัสวดี” ดารานำชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง สัตว์มนุษย์ , ชีวิตบัดซบ , มือปืน , มือปืน 2 , สาละวิน , เสียดาย 2 “รางวัลสุพรรณหงส์” ดารานำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์เรื่อง “ถ้าเธอยังมีรัก , มือปืน และนักแสดงประกอบชายจากเรื่อง “องค์บาก 2” ส่วน “รางวัลชมรมวิจารณ์บันเทิง” นักแสดงชายยอดเยี่ยมจากเรื่อง มือปืน 2 , สาละวิน
“สรพงศ์” ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 5 เบญจมาภรณ์มงกุฎไทย (บ.ม.) ใน พ.ศ. 2524 และ ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 4 จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.) พ.ศ. 2552
และนอกเหนือจากการแสดงแล้ว ในช่วงอายุหนึ่ง “สรพงศ์” ยังเคยเป็นนักร้องมีผลงานถึง 5 อัลบั้มด้วยกัน คือ หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็ก, เล็ดสะโก, คนกันเอง, ขาดคนอีสานแล้วจะรู้สึก , หัวใจเดาะ
โดยในปี 2533 เปิดตัวครั้งแรกในฐานะนักร้องกับทางค่าย อาร์.เอส. ในสไตล์ลูกทุ่งสนุกสนาน ชื่ออัลบั้ม หัวใจไม่ได้เสริมใยเหล็ก มีเพลงฮิตก็คือชื่ออัลบั้ม และในปีเดียวกันก็ออกอัลบั้มที่ 2 ชื่อชุด “เล็ดสะโก” ยังคงเป็นแนวเพลงสไตล์เดิม มีเพลงดังคือเพลง “พ่อให้มา”

สำหรับชีวิตส่วนตัว “สรพงศ์ ชาตรี” มีบุตรทั้งหมด 4 คน คือ ขวัญ พิมพ์อัปสร , เอิง พิศุทธินี , เอม พิศรุตม์ และ อั้ม พิทธกฤต
ซึ่ง “ขวัญ พิมพ์อัปสร” บุตรคนแรกเกิดกับ “โย – ทัศน์วรรณ เสนีย์วงศ์” ส่วนบุตรอีก 3 คน เกิดกับ “พิมพ์จันทร์ ใจวงศ์” ปัจจุบันสมรสกับ “ดวงเดือน จิไธสงค์” รองมิสไทยแลนด์เวิลด์ พ.ศ. 2529 และรองนางสาวไทย พ.ศ. 2530

ปัจจุบัน “สรพงศ์” ยังตำแหน่งประธานมูลนิธิสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เมตตาบารมี อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (จากผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านศิลปะร่วมสมัย) สาขาศิลปะการแสดงในคณะกรรมการส่งเสริมศิลปะร่วมสมัย อีกด้วย
โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา มีกระแสข่าวการป่วยของ “สรพงศ์ ชาตรี” ออกมา ซึ่งทาง บิณฑ์” และ “เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์” 2 นักแสดงที่สนิทสนม ได้ออกมาอัปเดตเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ยืนยันว่า สรพงศ์ ป่วยมะเร็งปอด ไม่ใช่มะเร็งสมองตามกระแสข่าวลือ และกำลังรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยมีครอบครัวดูแลอย่างใกล้ชิด
ย้อนกลับไป 5 ปีที่แล้ว สรพงศ์ได้ตัดชิ้นมะเร็งที่ปอดด้านซ้ายและรักษาตามอาการมาตลอด กระทั่งแข็งแรงดีก็กลับไปถ่ายละคร กระทั่งเดือนมีนาคมปี 2564 โรคมะเร็งกลับมากำเริบอีก
โดยเชื้อมะเร็งได้แพร่กระจายไปตามร่างกาย และถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพราะมีอาการสำลักอาหารขณะทานกล้วยน้ำว้า และเข้ารับการรักษาตัวในห้องไอซียู ก่อนที่จะเสียชีวิตในเวลา 15.51 น วันนี้ 10 มีนาคม 2565 ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ สิริอายุ 73 ปี ท่ามกลางความอาลัยจากคนในวงการบันเทิงและแฟน ๆ ทั่วประเทศ
ทางสยามรัฐ วาไรตี้ ขออาลัยกับการจากไปของ สรพงศ์ ชาตรี มา ณ. โอกาสนี้


ที่มา วิกิพีเดีย