CSTD ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม เฟ้นหาเยาวชนนักเต้น แข่งขันระดับนานาชาติ
CSTD ประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม จัดงาน “CSTD ครั้งที่ 8” พาร์ท 2 เฟ้นหาเยาวชนนักเต้นอีกครั้ง! พร้อมแข่งขันระดับนานาชาติ
สถาบัน The Commonwealth Society of Teachers of Dancing หรือ CSTD ประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย, สถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และ สถาบัน CSTD ประเทศออสเตรเลีย จัดการแข่งขันศิลปะการเต้นระดับประเทศ “CSTD Thailand Dance Grand Prix ครั้งที่ 8” Part 2 (ซีเอสทีดี ไทยแลนด์ แดนซ์ กรังด์ ปรีซ์ ครั้งที่ 8 พาร์ท 2) ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี โดยปีนี้ สถาบันบางกอกแดนซ์ Zen & Soloist คว้ารางวัลชนะเลิศประเภทสถาบันยอดเยี่ยม จากคะแนนรวมประเภทกลุ่ม ขนาดเล็ก 4-6 คน (Ensembles) และ กลุ่มใหญ่เกิน 30 คน (Troupes) สองวันเต็มกับการแข่งขัน ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ เพื่อเฟ้นหาตัวแทนเยาวชนไทย เข้าร่วมแข่งขัน ศิลปะการเต้นนานาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CSTD Asia Pacific Dance Competition) ร่วมกับอีกกว่า 10 ประเทศทั่วโลก โดยในปีนี้มีเหล่าเยาวชนนักเต้นทั้งมือสมัครเล่นและระดับมืออาชีพ เข้าร่วมแสดงความสามารถบนเวทีมากถึง 750 คน จาก 9 รอบการแข่งขัน ท่ามกลางสายตาของผู้ชมในโรงละคร ซึ่งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด
การแข่งขัน “CSTD Thailand Dance Grand Prix ครั้งที่ 8” Part 2 นี้ ได้รับเกียรติจาก นายชัยพล สุขเอี่ยม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเป็นประธานในพิธี โดยได้เผยถึงงานในครั้งนี้ว่า “ในนามของกระทรวงวัฒนธรรม ได้เล็งเห็นศักยภาพของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจรักในศิลปะการเต้น มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนในการสนับสนุนการจัดการแข่งขัน CSTD Thailand Dance Grand Prix ครั้งที่ 8 พาร์ท 2 เพื่อคัดเลือกตัวแทนในประเทศไทยเข้าร่วม Asia Pacific Dance Competition ซึ่งถือเป็นมหกรรมการแข่งขันศิลปะการเต้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เวทีสำคัญในการส่งเสริมเยาวชนไทยให้ได้แสดงความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ด้านการเต้นให้เป็นที่ประจักษ์ต่อนานาประเทศ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นนักเต้นมืออาชีพ พร้อมสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย รวมถึงใช้ศิลปะการเต้นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเยาวชนให้เคารพกติกา มีระเบียบวินัย มีน้ำใจนักกีฬา โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานถ้วยรางวัล สำหรับผู้ชนะเลิศ เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจต่อไป”
ด้าน นางสาววัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้แทนสถาบัน “CSTD ประเทศไทย” กล่าวว่า “สถาบัน CSTD ประเทศไทย มีความตั้งใจในการพัฒนาศิลปะด้านการเต้น พร้อมยกระดับมาตรฐานการเต้นในประเทศไทย เพิ่มพูนศักยภาพบุคลากรทางด้านศิลปะการเต้น ไม่ว่าจะเป็นครูผู้สอนเต้น เยาวชนนักเต้นทั้งในระดับมืออาชีพและมือสมัครเล่น โดยจัดการแข่งขัน CSTD Thailand Dance Grand Prix ที่ประเทศไทยเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 8 โดยในปีนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากกระทรวงวัฒนธรรม และซีเอสทีดี ประเทศออสเตรเลีย พร้อมจัดการแข่งขันแบ่งเป็น 2 พาร์ท เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการความปลอดภัยต่อสถานการณ์โควิด-19 สำหรับพาร์ท 1 Solos & Championships จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา เป็นการแข่งขันประเภทเดี่ยว ในรูปแบบออนไลน์ แต่ยังคงความเข้มข้นในการแข่งขันเช่นเดิม โดยผู้เข้าแข่งขันแต่ละคนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม อยู่บนมาตรฐานระดับสากล ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างงดงาม มีผู้เข้าแข่งขันมากถึง 38 สถาบันจากทั่วภูมิภาค และมีเยาวชนเข้าแข่งขันถึง 520 ระบำ มาพร้อมรูปแบบการเต้นที่หลากหลายกว่า 11 สไตล์ นอกจากนี้เรายังได้ส่งตัวแทนเยาวชนเข้าร่วมมหกรรมการแข่งขันการเต้น Asia-Pacific Dance Competition ครั้งที่ 22 กับตัวแทนนักเต้นจาก 16 ประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาเยาวชนไทยสามารถคว้ารางวัล อย่าง President’s Cup – Most Outstanding Troupe จากเต้นประเภทกลุ่มดีเด่น ซึ่ง Bangkok Dance Academy (TeamBDA) นำโดย ครูหลอดไฟ นวินดา ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้ควบคุมการออกแบบ พาทีมเยาวชนไทยรับรางวัลใหญ่นี้ถึง 3 ปีซ้อน นับเป็นความภาคภูมิใจและเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงศักยภาพด้านเต้นของทีมนักเต้นเยาวชน รวมถึงครูผู้ฝึกสอน และนักออกแบบท่าเต้นไทย ที่ไม่เป็นรองใครในสายตาชาวโลก”
สำหรับการแข่งขัน “CSTD Thailand Dance Grand Prix ครั้งที่ 8” Part 2 นี้ ประกอบไปด้วยรูปแบบการแข่งขัน แบบ 2-3 คน (Duos/Trios), แบบกลุ่มขนาดเล็ก 4-6 คน (Ensembles), กลุ่มใหญ่เกิน 30 คน (Troupes) โดยมีผู้เข้าแข่งขันจากกว่า 38 สถาบันการเต้นทั่วประเทศ รวม 150 ระบำ 35 รอบการแข่งขัน ระยะเวลา 2 วัน ในรูปแบบการเต้นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น บัลเลต์, ระบำประจำชาติ, คอนเท็มโพรารี่ แดนซ์, แจ๊สแดนซ์, บัลเล่ต์ ลาลีเคิล, แท็ปแดนซ์, ฮิปฮออป, ร้องและเต้น, เต้นเล่าเรื่องราว เป็นต้น
ซึ่งผู้ชนะจากเวทีนี้จะได้เป็นตัวแทนเยาวชนไทย เข้าร่วมแข่งขัน ศิลปะการเต้นนานาชาติภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (CSTD Asia Pacific Dance Competition) พร้อมเผยแพร่วัฒนธรรมไทยผ่านศิลปะด้านการเต้นในระดับสากล รวมถึงนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการแข่งขัน ไปต่อยอดทางการศึกษาและการทำงานในอนาคต ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นสร้างแรงจูงใจให้เยาวชนไทยรู้สึกภาคภูมิใจในวัฒนธรรมไทยมากขึ้นอีกด้วย ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/cstdthailand