Close The Care Gap ลดวิกฤตปัญหาผู้ป่วยมะเร็ง สู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าโรคมะเร็งจัดเป็น 1 ใน 10 โรคไม่ติดต่อที่เป็นภัยคุกคามทางสุขภาพของประชากรโลก เฉพาะในปี พ.ศ. 2563 เพียงปีเดียว มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งสูงถึงกว่า 10 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ สมาพันธ์ควบคุมโรคมะเร็งสากล (UICC) จึงได้กำหนดให้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปี เป็น “วันมะเร็งโลก” เพื่อให้ทั่วโลกหันมาตระหนักถึงผลกระทบด้านต่างๆ จากจากโรคมะเร็ง และเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเอง

โรคมะเร็งถือเป็นปัญหาของระบบสาธารณสุขทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนในประเทศไทย แม้ว่าทุกวันนี้องค์ความรู้ทางการแพทย์และนวัตกรรมการรักษามะเร็งก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วและมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยรอดชีวิตจากมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับอดีต แต่โรคมะเร็งก็ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในคนไทย เนื่องจากยังมีผู้ป่วยมะเร็งอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพได้อย่างเท่าเทียม

งานเสวนาเนื่องในวันมะเร็งโลก “Close the care gap ลดวิกฤตปัญหาผู้ป่วยมะเร็ง สู่ความเท่าเทียมด้านการรักษา” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 มีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนทราบถึงภัยของโรคมะเร็ง ตระหนักถึงสิทธิการรักษาของตนเอง และเสวนาหาแนวทางยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งให้ดียิ่งขึ้น โดยได้รับเกียติจาก ศ. นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวเปิดงาน
จากนั้นเป็นการนำเสนอรายงานการศึกษา ในหัวข้อ Modernization of Thai HTA-Identifying Alternative Approaches in Thai HTA to Improve Cancer Patient Outcomes (รายงานการศึกษาเพื่อเสนอแนะแนวทางการเพิ่มการเข้าถึงการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยมะเร็ง) โดย Mr.Omar Akhtar ผู้อำนวยการด้วยวิจัยเศรษฐศาสตร์และผลลัพธ์ด้านสุขภาพของ บริษัท Ipsos จากนั้นเป็นการสรุปประเด็นสำคัญ โดยตัวแทนที่ร่วมจัดทำรายงานการศึกษาฉบับดังกล่าว ได้แก่ รศ.ภญ.ดร.รตท.หญิง ภูรี อนันตโชติ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายการเข้าถึงยารักษาโรคมะเร็ง, ผศ.นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล รองคณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา และ พญ.จอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา
รายงานการศึกษาดังกล่าวอภิปรายปัญหาการเข้าถึงการรักษาและนำเสนอแนวทางการแก้ไขที่ใช้ในต่างประเทศ ซึ่งผลักดันให้เกิดการเข้าถึงการรักษาด้วยยารักษามะเร็งชนิดใหม่ๆ อย่างทันท่วงที โดยแนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุด คือแนวทางการบริหารด้านการเงินการคลัง โดยใช้ “ข้อตกลงร่วมแบบกระจายความเสี่ยง” (Managed Entry Agreement; MEA) ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าจะเป็นกลไกลสำคัญที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในการรักษามะเร็งในประเทศไทย เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่ประสบปัญหาเดียวกันอยู่ในขณะนี้ ในประเทศไทยมีสิทธิความคุ้มครองด้านสุขภาพอยู่ 3 สิทธิ ได้แก่ สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือที่เรียกกันว่า “สิทธิบัตรทอง” ซึ่งเป็นสิทธิที่ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ, สิทธิประกันสังคม หรืออธิบายอย่างง่ายว่าเป็นสิทธิสำหรับลูกจ้างหรือพนักงานบริษัท และสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

นอกจากมะเร็งจะเป็นวิกฤตทางสุขภาพที่คร่าชีวิตประชากรมากมายในแต่ละปีแล้ว โรคนี้ยังส่งผลให้ประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรทางการแพทย์ งบประมาณ และผลิตภาพทางเศรษฐกิจจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แม้ว่าปัจจุบันนวัตกรรมการรักษามะเร็งจะก้าวหน้าไปมาก มียานวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy) หรือยาพุ่งเป้า (targeted therapy) แต่อย่างไรก็ตาม แนวทางการรักษามะเร็งที่มีประสิทธิภาพและผู้ป่วยในประเทศไทยสามารถเข้าถึงได้กลับยังเผชิญข้อจำกัดอยู่มากเมื่อเทียบกับ คำแนะนำโดยเครือข่ายความร่วมมือของศูนย์มะเร็งชั้นนำในสหรัฐอเมริกา (NCCN) ดังนั้นการจัดการเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยากลุ่มนี้ซึ่งอาจมีค่าใช้จ่ายสูง อาจต้องอาศัยการประยุกต์ใช้แนวทางจากต่างประเทศตามที่นำเสนอในรายงาน ให้สอดคล้องกับสิทธิความคุ้มครองด้านสุขภาพในบริบทของประเทศไทย
นอกจากนี้ ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก คุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในฐานะอดีตผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งโรคสงบมากว่า 6 ปีแล้วและสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข คุณศิรินทิพย์ยังได้นำเสนอข้อมูลความพร้อมและความต้องการเชิงลึกของผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย กล่าวคือ ผู้ป่วยมะเร็งมีความต้องการในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นจากแผนการรักษาและอาการข้างเคียง ด้านการดูแลและกำลังใจจากครอบครัว รวมถึงด้านการเข้าถึงการรักษามะเร็งซึ่งยังไม่ทั่วถึง เนื่องจากการกระจายตัวของโรงพยาบาล ความพร้อมของเครื่องมือและอุปกรณ์ รวมถึงข้อจำกัดในการเข้าถึงยารักษามะเร็งบางชนิด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งนั้นมักจะกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่เท่านั้น ส่งผลให้ผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัดต้องใช้เวลาเดินทางนาน รวมถึงกระบวนการวินิจฉัยหรือรักษาเมื่อเดินทางมาถึงสถานพยาบาลแล้วก็ยาวนานมากเพราะความแออัดของสถานพยาบาล ทำให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง นอกจากนี้ ระยะเวลาในการรอผลคุณศิรินทิพย์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า โรคมะเร็งเป็นโรคที่เราสามารถรับมือได้ เพียงแค่ใช้สติ กำลังใจ และแนวทางการรักษาที่เหมาะสม หากผู้ป่วยทุกคนมีสิ่งที่กล่าวมานี้ก็จะเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็งและกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
ภายในงานยังมีการจัดเวทีเสวนา “ทำอย่างไรให้คนไทยเข้าถึงการรักษามะเร็งอย่างเท่าเทียมและมีคุณภาพชีวิตที่ดี” ซึ่งได้รับเกียรติจกตัวแทนหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพของคนไทย ไม่ว่าจะเป็น ศ.ดร.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), รศ.นพ.เอกภพ สิระชัยนันท์ นายกสมาคมมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย, ผศ.พญ.เอื้อมแข สุขประเสริฐ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และคุณศิรินทิพย์ ขัติยะกาญจน์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้กล่าวว่า ในการดำเนินในการพิจารณาเรื่องแนวทางการรักษาโรคมะเร็งด้วยยาใหม่ต้องอาศัยช่วงเวลา อาจทำให้เกิดความล่าช้าและตอนนี้ก็กำลังศึกษากระบวนการทำงานของคณะบัญชียาหลัก และเห็นด้วยกับการมีหลาย ๆ ทางออก ตามแนวทางในการเสนอการบริหารงบประมาณตามรายงานฉบับนี้โดยอยากจะให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาช่วยกันเพื่อนำไปสู่รูปธรรมที่ดำเนินการได้จริง

“ภาพรวมปัญหาการเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งคือค่าใช้จ่าย ดังนั้น บทบาทของ สปสช. ก็คือการทำให้ราคาสมเหตุสมผล โดยแนวคิดหนึ่งที่ผมเชื่อมั่น คือ การร่วมมือกันเพื่อจัดการให้ราคาในภาพรวมลดลง ปีที่แล้ว สปสช. ได้นำเสนอโครงการ Cancer Anywhere ซึ่งผู้ป่วยสามารถเดินทางไปเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ใช้เวลารอคิวสั้นลงและค่าใช้จ่ายถูกลง แต่ยังคงคุณภาพการบริการที่น่าพึงพอใจ โครงการนี้มีส่วนทำให้ภาพรวมของงบประมาณประเทศลดลงบางส่วน นอกจากนี้ สปสช. ยังได้เชิญผู้เชี่ยวชาญหารือในการปรับปรุงบัญชีการเบิกจ่ายการรักษาโรคมะเร็ง Protocal โดยให้ผู้เชี่ยวชาญเสนอรายการยา โดยไม่ได้เอาเรื่องงบประมาณเป็นที่ตั้งแต่ยึดหลักการของประสิทธิภาพของยาในการรักษา ซึ่งพบว่ามียาที่อยากให้เราบรรจุอยู่ในโปรโตคอล 42 รายการ ตรงนี้เรากำลังหาระบบเพื่อให้คนไข้เข้าถึงยา โดยจะมีการพูดถึงคำศัพท์ใหม่ๆเช่น การนำ Managed Entry Agreement หรือทำข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้ยาโดยกำหนดเงื่อนไขการสั่งใช้และทำระบบการกระจายความเสี่ยงร่วมกับบริษัทผู้จำหน่าย ซึ่งจะทำให้เราเพิ่มโอกาสในการต่อรอง และอาจจะได้แพ็กเกจในการรักษาที่ดีขึ้น ทาง สปช. เองก็รับแผนข้อมูลทางวิชาการมาแล้ว เราก็จะได้จัดระบบขึ้นมาใหม่โดยนักวิจัย เมื่อมีความคืบหน้าอย่างไร ผมขออนุญาตแจ้งให้ทุกฝ่ายทราบอีกครั้งหนึ่ง” นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าว บทสัมภาษณ์จากตัวแทน สปสช. นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ในอนาคตผู้ป่วยโรคมะเร็งจะมีโอกาสเข้าถึงการรักษาด้วยยานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่หลากหลายขึ้น
ตอนท้ายของงาน ศ.ดร.พญ.จิรายุ เอื้อวรากุล คณบดีวิทยาลัยแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้กล่าวสรุปว่า “กิจกรรมในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่หลายภาคส่วนร่วมกันเสวนาแสวงหาแนวทางปรับปรุงการเข้าถึงการรักษาเพื่อผู้ป่วยมะเร็งในประเทศไทย ในโอกาสนี้ขอขอบคุณทุกท่าน ที่ร่วมกันแสดงความเห็นและแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ยินดีอย่างยิ่งที่จะร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ทั้ง สปสช. สวรส. มะเร็งวิทยาสมาคมฯ รวมถึงมูลนิธิเครือข่ายมะเร็ง เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนความเท่าเทียมในระบบสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานและยานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งมีส่วนเพิ่มโอกาสรอดชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดียิ่งขึ้น ตามพระปณิธานขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี”
ข้อมูลเพิ่มเติม : Modernization of Thailand Health Technology Assessment
https://www.ipsos.com/en-sg/modernization-thailand-health-technology-assessment
ข้อมูลเพิ่มเติม : Modernization of Thailand Health Technology Assessment-Ipsos-v8
https://www.chulabhornchannel.com/health-articles/2022/02/modernization-of-thailand-health-technology-assessment-ipsos-v8/