เคลียร์ให้ชัด! ปลดล็อกกัญชาพ้นยาเสพติดประเภท 5 กู้คืนเศรษฐกิจไทยได้ ไม่ใช่ทางการแพทย์อย่างเดียว

ภายหลังวันที่ 25 มกราคม 2565 โดยที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้กัญชาและกัญชงพ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามที่คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษเสนอให้พิจารณา โดยในที่ประชุมมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
โดยได้ข้อสรุปเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขให้กัญชาและกัญชงพ้นจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งร่างดังกล่าวจะมีการระบุชื่อยาเสพติดประเภท 5 ประกอบด้วย ฝิ่น เห็ดขี้ควาย ส่วนสกัดของกัญชาที่มีสาร ทีเอชซี (THC) เกิน 0.2 เปอร์เซ็นต์ ถ้าจะปลดล็อกส่วนสกัดของกัญชาจำเป็นต้องออกข้อกำหนดควบคุมและให้เกิดความมั่นใจว่า จะนำมาใช้ทางการแพทย์ การศึกษา การวิวิจัย อุตสาหกรรม และการใช้ทางสุขภาพ หรือผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่ใช่นำไปใช้ทางที่ผิด เช่น การเสพเพื่อให้มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท


พล.ท.สีหเดช ดีสนธิโชติ อดีตรองผู้อำนวยการ กอ.รมน.จังหวัดเพชรบุรี ในฐานะประธานสถาบันพัฒนาส่งเสริมปลูกกัญชาทางการแพทย์ กล่าวว่า “ถือเป็นข่าวดีและเรื่องที่ดีในความพยายามขับเคลื่อนกัญชาเสรีให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เวลานี้กำลังเดินหน้าให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ผมในฐานะประธานสถาบันพัฒนาส่งเสริมปลูกกัญชาทางการแพทย์ ร่วมกับ วิทยาลัยสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้เข้าพบกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบุรี เพื่อติดตามโครงการ waldo18 ที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี เรื่องการปลูกกัญชาทางการแพทย์เชิงพาณิชย์ เพราะตั้งแต่เริ่มการประกาศใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติด ฉบับที่ 7 เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 เพื่อปลดล็อกกัญชาใช้ทางการแพทย์ และในปี 2563 ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ให้ชุมชนสามารถปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ภายใต้เงื่อนไขต้องขออนุญาตจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน โครงการ waldo18 ซึ่งให้บริการสำหรับผู้ที่สนใจอยากปลูกกัญชาทางการแพทย์ (ในระบบปิด) ได้ดำเนินการเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรได้ปลูกกัญชาทางการแพทย์ สามารถสร้างรายได้แก่ประชาชน เป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ชุมชนเข็มแข็ง และมีเป้าหมายคือไปสู่ตลาดต่างประเทศ เพียงแค่สมัครเป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ ก็สามารถเข้าร่วมโครงการฯ นี้ได้

แต่มีคำถามที่เกิดขึ้นคือ แม้รัฐบาลจะปลดล็อกส่วนต่าง ๆ ของกัญชาออกจากยาเสพติด แต่ช่อดอก ใบติดช่อดอก และเมล็ดกัญชา ยังเป็นยาเสพติด ทำให้ไม่เอื้อต่อการปลูกของแต่ละครัวเรือน และการนำไปใช้ประโยชน์เพื่อดูแลสุขภาพ นำไปสู่การถอดกัญชาออกจากยาเสพติดประเภทที่ 5 ให้สอดคล้องกับประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 ซึ่งวันนี้ผมคิดว่าจะต้องเคลียร์ประเด็นเรื่องดังกล่าวให้เกิดความชัดเจนว่า สรุปแล้วสามารถทำอะไรได้บ้าง หรือไม่ได้บ้าง จะทำในรูปแบบไหน อย่างไร เพราะคงไม่สามารถใช้คำว่าแล้วแต่ดุลยพินิจของพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ซึ่งวันนี้หลายคนยังคงมีความสับสนเกี่ยวกับประเด็นสำคัญในเรื่องนี้


คำว่าปลูกได้บ้านละ 6 ต้น แท้ที่จริงแล้วมีข้อปฏิบัติที่ชัดเจนอย่างไร เพราะกฎหมายที่ออกมาคือ การปลูกเพื่อนำมารักษาทางการแพทย์ แต่เอาจริงๆ ผลิตผลจากกัญชายังสามารถทำอะไรได้อีกเยอะแยะมากมาย ยกตัวอย่าง ผู้ปลูกสามารถขายช่อดอกให้กับหน่วยงานของรัฐที่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง ทำให้พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง
อีกประเด็นที่สำคัญคือ หากมีประชาชนอยากเข้าร่วมโครงการ waldo18 ซึ่งให้บริการสำหรับผู้ที่สนใจอยากปลูกกัญชาทางการแพทย์ใน (ระบบปิด) และเขาเหล่านั้นไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี จะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้หรือไม่ หรือจำเป็นต้องย้ายทะเบียนบ้านมาใหม่ หรืออีกกรณีคือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) เกี่ยวกับเรื่องการกู้เงิน จะต้องย้ายทะเบียนบ้านมาเพื่อกู้เงินหรือไม่ ประเด็นเหล่านี้ยังไม่มีใครออกมาพูดถึง ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการดำเนินงานในเรื่องของ “กัญชาคือพืชเศรษฐกิจ” ที่สามารถกอบกู้และฟื้นคืนเศรษฐกิจของเทศไทยได้อย่างยั่งยืน ซึ่งรัฐบาลควรจะเป็นศูนย์กลางความร่วมมือ ประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานภายนอก ในการใช้ประโยชน์จากกัญชาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงส่งเสริม สนับสนุนองค์ความรู้ เป็นช่องทางในการให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับกัญชาที่ถูกต้อง รวดเร็ว แก่ประชาชนและสาธารณะ


ผมมองว่ารัฐบาลแค่ปลดล็อกกัญชาและกัญชงออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 (ตามที่คนบางกลุ่มร้องขอ) แต่เหมือนยังไม่มีความชัดเจนกับแนวทางการควบคุมดูแลผู้ปลูกรายย่อยได้ จุดนี้ผมว่าคนที่มีใบอนุญาติครบถ้วนอย่างโครงการ waldo18 ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ จะได้ประโยชน์อย่างมาก เพียงแต่ต้องนำเสนอวิธีการหรือแนวทางการควบคุมผู้ปลูกรายย่อย และเป็นพ่อบ้านควบคุมดูแลลูกบ้านทั้งหมด ไม่ว่าที่ไหน อยู่ในเพชรบุรีหรือไม่ โดยมีวิธีควบคุมดูแลและรายงานให้กับทางรัฐบาล ภายใต้กฏหมายที่กำหนด”


ทั้งนี้ โครงการ waldo18 คือ สถาบันพัฒนาส่งเสริมปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ได้ดำเนินการสร้างโรงเรือนระบบปิดที่ได้มาตรฐานให้พี่น้องเกษตรกรได้เรียนรู้วิธีการปลูกกัญชาทางการแพทย์อย่างถูกต้อง เพื่อให้สามารถสร้างรายได้แก่พี่น้องประชาชน และมีเป้าหมายคือไปสู่ตลาดต่างประเทศ โดยสถาบันฯ มีที่ตั้งโครงการอยู่ที่ อาคาร Waldo 18 ที่แหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเร็วๆ นี้เตรียมจะเปิดเป็นนิคมเกษตรนวัตกรรม waldo18 เพื่อเป็นศูนย์รวมบุคคลผู้สนใจเกี่ยวกับกัญชาทุกด้านอย่างเป็นระบบ ในทุกมิติ สร้างและส่งเสริมนักปลูกมืออาชีพ/ด้านข้อมูลพันธุ์พืช เมล็ดพันธุ์ รวมถึงการให้ความรู้ทางกฎหมาย วิชาการ เป็นสื่อกลาง ช่วยเหลือ ประสานงาน ระหว่างภาครัฐและส่งเสริมนักปลูก เกษตรกรยุคใหม่ เพื่อให้เกิดการยกระดับวิถีเกษตรกรรมสมัยใหม่สู่มาตรฐานสากล เพื่อให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่สู่การค้า และการอุตสาหกรรมอย่างมีเสถียรภาพทั้งในประเทศและระหว่างประเทศอย่างแท้จริง

About Author