“สมจิตร จงจอหอ” ช็อกภรรยาป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง

“สมจิตร จงจอหอ” ช็อกภรรยาป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง เป็นหนักเดินไม่ได้ ถึงขั้นมีการสั่งเสียเอาไว้!

สมจิตร จงจอหอ ที่วันนี้ขอควงภรรยาสาวอุ๋ม ศศิธร และลูกๆ น้องกำปั้นและน้องจันทร์เจ้า มาเปิดใจครั้งแรกหลังภรรยาตรวจพบว่าป่วยเป็นโรคพุ่มพวง ทำให้เดินไม่ได้ อาการหนักถึงขั้นสั่งเสีย พร้อมเผยที่แรกลูกชาย น้องกำปั้น เป็นเด็กสมาธิสั้นตั้งแต่อายุ 10 ขวบ สมองช้ากว่าอายุจริงถึง 5 ปี ผ่านทางรายการ คุยแซ่บSHOW ทางช่อง วัน31 ที่มีพีเค ปิยะวัฒน์, ชมพู่ ก่อนบ่ายฯ และอาจารย์เป็นหนึ่ง เป็นพิธีกรดำเนินรายการ

พี่สมจิตรเพิ่งรู้อาการป่วยของภรรยา?
สมจิตร : ครับ ต้องให้เขาเล่า เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นความผิดปกติของร่างกายเขาเองในช่วงที่เขาเป็น
อุ๋ม : เป็นโรคที่ภูมิตัวเองไปทำลายภูมิตัวเอง ครั้งแรกที่เกิดขึ้นคือมันมีก้อนตรงคอเรามันใหญ่ขึ้นมา เราก็ไปหาคุณหมอ คุณหมอกลัวจะเป็นมะเร็งเลยเจาะน้ำตรงก้อนคอไปตรวจหามะเร็งก็ไม่พบ คุณหมอก็หาใหม่อีก

พอไม่พบว่าเป็นมะเร็งใจชื่นขึ้นมาหน่อยไหม?
อุ๋ม : ก็ใจชื่นขึ้นมาเยอะเลย คุณหมอก็เจาะเลือดไปตรวจอีก แล้วมันไม่หายเราเป็นก้อนก็ปวดตามข้อ มีผื่นคันตามตัว ปวดข้อจนกระทั้งแขนขาไม่มีแรงเลย

ตัวก้อนนั้นมีอาการเจ็บไหม?
อุ๋ม : ไม่เจ็บเลย แต่ว่ามันโตขึ้นเรื่อยๆ แต่มาเจ็บตามแขน ตามขา เจ็บเหมือนโดนเข็มทิ่มเราตลอดเวลา จนเราหยิบจับของไม่ได้ แขนเราไม่มีแรง เราก็ถามตัวเองว่าเราเป็นอะไร

ตอนนั้นอยู่เคียงข้างเลยไหม?
สมจิตร : อยู่ครับ อยู่บ้านตลอดตอนเขาป่วย ก็ยังอำเขาเล่นเลยว่าคางเขาทูม สวย ขายยังไง ขายไหม เขาก็บอกว่าไม่ขายเก็บไว้กินเอง อำไป อำมา ก็เลยพาไปหาหมอ ตี3 ลุกขึ้นมาปวดแบบคนมาบิดกระดูกเขา เราก็นึกไม่ออกว่าความเจ็บปวดเขาขนาดไหน แต่รู้ว่าถ้าผู้หญิงคนนี้พูดถึงความเจ็บปวดแสดงว่ามันหนักมาก ต้องลุกขึ้นมาเอายาหม่องมานวด ต้องคุยกัน ปลอบกันเรื่อยๆ ณ เวลานั้น คือตี3 ยันเช้าไม่หลับ ปวด นอนร้องไห้

พี่เป็นมากี่ปีแล้ว?
อุ๋ม : จริงๆ เป็นตั้งแต่เมษายน เพิ่งไม่กี่เดือน แต่รักษาจริงจังเพิ่งเริ่ม 3-4 เดือนนี้

เห็นว่าจุดสังเกตอีกอย่างคือน้ำหนักตัวขึ้นผิดปกติ 1 เดือนขึ้นมา 10 กิโล?
อุ๋ม : ใช่ค่ะ
สมจิตร : ขึ้นมาตัวบวม ขานี่บวม
อุ๋ม : บวมหมดเลย ทั้งหน้าเรา ตัวเรา ขาเราบวม

สาเหตุหลักๆ เกิดจากอะไร?
อุ๋ม : คุณหมอบอกว่าจริงๆ มันหาสาเหตุไม่ได้ 1.คือกรรมพันธุ์ แต่ทางบ้านหนูไม่มีใครเป็น

การกินเกี่ยวไหม?
อุ๋ม : คุณหมอบอกว่าอาจจะเป็นไปได้ อาจจะมีส่วน

พอตรวจเจอโรคพุ่มพวงแล้วมีเจอโรคแทรกซ้อนไปอีก ตอนนั้นตรวจเจออะไรอีก?
อุ๋ม : คุณหมอกลัวจะเป็น SLE ลงที่ไต เพราะเราบวมเยอะ บวมผิดปกติ คุณหมอก็เลยตัดชิ้นเนื้อไตไปตรวจเพื่อว่าเราลงไตหรือเปล่า เพราะเจาะเลือดผลมันไม่ 100 ร้อยเปอร์เซ็นต์ คุณหมอเลยอยากเอาชิ้นเนื้อไตเราไปตรวจ เจาะไตไปตรวจ 2 ชิ้น ผลออกมายังไม่ลงไตก็โชคดีไป

ตอนนั้นรู้สึกยังไง?
อุ๋ม : ก็กลัวเหมือนกัน กลัวผลว่าจะลงไต เพราะตอนนั้นเราบวมมาก

เขาบอกว่าถ้าลงไต หรือขึ้นสมอง ถึงขั้นเสียชีวิตได้?
อุ๋ม : ใช่ๆ
สมจิตร :  ถ้าลงไตเหมือนที่เขาบอกโรคไตวายเฉียบพลัน มันสามารถตายได้เลย แต่พอตรวจแล้วไม่เจอเราก็ใจชื่นขึ้นมาหน่อย แต่สุดท้ายก็ต้องรักษาอย่างจริงจัง

ระหว่างที่รอผลตอนนั้นคิดอะไรอยู่?
อุ๋ม : ก็คิดหลายอย่าง ถามว่ากลัวไหมก็กลัว ผลออกมาถ้าเราเป็นเราจะทำยังไง ก็คิดเยอะอยู่

ได้บอกลูกไหม?
อุ๋ม : ก็ไม่กล้าบอกเขาว่าคุณหมอว่าเราจะหนักหรือไม่หนัก

แล้วตอนเข้าโรงพยาบาลพี่บอกลูกว่ายังไง?
สมจิตร : เข้าโรงพยาบาลจุฬา วันแรกที่มารักษาจริงจังตัวเขาเนี่ยเต็มไปด้วยแผลพุพองที่ขา น้ำที่พองออกมาก็จะไหลออกมา กางเกงยีนที่เขาใส่มันจะเปียกด้วยน้ำ ก็เดินไปหาหมอ ตรวจเลือด ตรวจทุกอย่าง หมอสั่งแอดมิทได้ไหมวันนี้ ผมบอกเอาก็เอาถ้าหมอสั่ง คือมาเสื้อผ้าตัวเดียวมาจากต่างจังหวัดก็แอดมิทไป หลังจากนั้นร่างกายเขาก็ดร็อปลงมาเลย ขาที่เคยเดินได้ เดินไม่ได้เลย ผมคิดว่าน่าจะแย่ลงเรื่อยๆ ดีนะถึงมือหมอแล้ว เขาไม่สามารถก้าวขาลงจากเตียงได้เลย
อุ๋ม : คือเท้าเราโดนพื้นไม่ได้เลย คือมันเจ็บเหมือนใครเขาเข็มมาทิ่มเราตลอดเวลา เราก็ถามหมอว่านี่หนูเป็นอะไร

แล้วตอนไหนที่หมอทราบว่าเราเป็นโรค SLE?
อุ๋ม : คุณหมอเจาะเลือดไปตรวจทั้งหมดหลายโรค ซึ่งที่คุณหมอคาดว่าน่าจะเป็น ก็ผลออกมาว่าเป็น SLE ร้อยเปอร์เซ็นต์ เราก็ถามคุณหมอว่าต้องรักษายังไง หนูจะหายไหม คุณหมอบอกว่ารักษาได้ไหม ได้ แต่ว่าเราต้องรักษากันแบบละเอียดอ่อนพอสมควร
สมจิตร : ก็เรียกหมอทั้งหมดมาหลายๆ โรค ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ที่มันพุพองออกมา เขาบอกว่าติดเชื้อในผิวหนังเขาด้วย เขาเรียกหมอศัลยกรรม หมอผิวหนัง หมอไต ทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มาทีละหมอ ก็เจาะเลือดไปทีละหมอ แบบหนักมาก

มันท้อขนาดไหน?
อุ๋ม : ก็คิดว่าทำไมแจ็คพอตมาลงที่เรา
สมจิตร : วันที่อยู่โรงพยาบาลกันสองคนลูกๆ ไม่ได้มาครับ อยู่บ้าน ก็โทรบอกว่า แม่ไม่ได้กลับบ้านนะ แม่ต้องรักษาอยู่นี้ ก็โทรบอกเขา แต่สิ่งที่เด็กๆ เข้าใจว่าแม่ไม่สบาย แม่ป่วย แต่ ณ เวลาที่เราอยู่ 2 คน วินาทีนั้นร่างกายเขามันดร็อปลงๆ เราก็ใจไม่ค่อยดี
อุ๋ม : แล้วก็บอกว่าเดี๋ยวก็หาย เดี๋ยวแม่ก็กลับบ้าน
สมจิตร : แล้วเขาก็จับมือเราเหมือนสังเสียแล้ว เราก็ใจหาย
อุ๋ม : เราก็คุยกันบอกว่าถ้าเป็นอะไรไป คือ ห่วงลูกมากกว่า

เด็กๆ รู้ยังว่าตอนนั้นแม่ไม่สบายมาก?
กำปั้น : ตอนนั้นรู้แล้วครับ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นหนักขนาดนี้ ผมก็โทรถามอาการแม่ทุกวันว่าหมอมาตรวจวันนี้แล้วแม่เป็นยังไงบ้าง จะโทรทุกช่วง 3 เวลา

ตอนนั้นห่วงขนาดไหน?
กำปั้น : มากเลยครับ
จันทร์เจ้า : ห่วงค่ะ แต่ไม่ได้ไปเยี่ยมคุณแม่
สมจิตร : เขาไม่ให้ใครเข้าเลย เพราะว่าช่วงนั้นช่วงโควิดระบาดหนักมาก คนที่เฝ้าได้ผมแค่คนเดียว แล้วห้ามผมออกไปไหนด้วย ต้องอยู่กับเขาตลอด เพราะว่าถ้าออกไป ไปติดเชื้อโรคมานี่จบเลย

พี่สมจิตรมีโอกาสสื่อสารกับลูกไหม?
สมจิตร : ก็โทรคุยกันทุกวัน ตอนนี้ถึงมือหมอแล้ว หมอเขาดูแลดี ไมต้องห่วง ไม่ต้องเครียด เดี๋ยวหมอจะอัปเดตอาการให้เราฟัง พอหาหมอได้ 2-3 วัน รู้สึกว่ารักษามาถูกทาง ร่างกายก็ตอบสนองเยอะขึ้น แต่สิ่งที่เราเห็นคือแฟนโดนหมอเจาะทั้งสองฝั่งเลย มันเยอะมาก ครั้งนี้เป็นครั้งที่หนักสำหรับเขามาก หนักที่สุด แล้วสิ่งที่เราเคยเจอ สัมผัสได้ว่าถ้าเขาไม่เจ็บมาก เขาจะไม่พูด หัวใจเกินร้อย

วันนั้นคิดว่าตัวเองจะเดินไม่ได้ เป็นห่วงลูก ถึงขั้นจับมือพี่สมจิตรสั่งเสียเลย?
อุ๋ม : ส่วนใหญ่ก็ห่วงลูก
สมจิตร : เขาบอกว่าถ้าไม่ไหวจะทำยังไง ผมบอกว่าถึงมอหมอแล้ว เดี๋ยวต้องดีขึ้น ก็ให้กำลังใจ ผมคิดอย่างเดียวถ้าเขาตาย ผมนี่หนัก ผมตายดีกว่า

เสี่ยวนึงในใจคิดไหมว่ามีโอกาสที่จะเสียเขาไป?
อุ๋ม : มี เพราะตัวเขาเอง เขาจะรู้ว่าเป็นยังไง เขาจะสื่อสารบอกเรา จับมือแล้วบอกกันว่าเหมือนร่างกายรับไม่ได้แล้ว หลายอย่าง มันเยอะมาก สายอะไรทุกอย่าง เขารักษาด้วยการกินยาขับปัสสาวะ ต้องดูแลตลอด พอวันนึงเหมือนเขาไม่ไหว เขาก็จับมือแล้วบอกว่าเป็นอย่างนี้ๆ ผมนี่หนัก ผมอยู่ ผมยิ่งหนักกว่าเขา เพราะผมไม่รู้จะดูแลเขายังไง ปกติผมเป็นคนทำงานนอกบ้าน คิดไป คิดมา ผมตายลูกจะสบายกว่า คิดในใจ แต่สุดท้ายก็พยายามให้กำลังใจเขา เราอยู่ด้วยกันให้กำลังใจกัน บอกเขาว่าไม่เป็นไรถึงมือหมอแล้ว ขอให้สู้อย่างเดียว ก็ผ่านพ้นอาทิตย์นึง ผ่านจุดอันตรายมา

ในความรู้สึกเรา เราอยู่ในนรกอาทิตย์นึง?
สมจิตร : ครับ

ตอนนั้นหมอรักษายังไงเราถึงสามารถเดินได้?
อุ๋ม : คุณหมอก็ดูแลอย่างดี ดูแลอย่างละเอียดอ่อน ผลเลือดเราผิดปกตินิดนึงไม่ได้ คุณหมอบอกไม่เป็นไร คุณหมอบอกว่ารักษาได้ คือรักษาแบบละเอียดอ่อนไม่ต้องกลัวนะ จะดูแลเต็มที่

เรานอนโรงพยาบาล 1 สัปดาห์?
อุ๋ม : 12 วันคะ
สมจิตร : 1 สัปดาห์ทำให้เขารู้สึกดีขึ้น ร่างกายเริ่มตอบสนองยา
อุ๋ม : อสทิตย์แรกเราไม่สามารถเดินจากเตียงได้ จนเรารู้สึกบางทีเราก็ท้อ จนอาทิตย์นึงเราดีขึ้น เราก็เลยโอเค เราตอบสนองกับยา ตอนที่หาหมอท่านแรกเราไม่ตอบสนองกับยา พอมาหาหมอคนที่สองคือตอบสนองกับยาทุกอย่าง ทุกอย่างก็เริ่มดีขึ้น เราก็โอเค

ตอนนี้ต้องทานยาทุกวัน?
อุ๋ม : ต้องทานทุกวัน วันละ 10 กว่าเม็ด คุณหมอบอกว่าถ้าโรคไม่กำเริบ 1 ปี ทานยากดภูมิไว้ 1 ปี ถึงมันจะดีขึ้น แต่เราก็ต้องทานยาประมาณ 1 ปีก่อน แต่ถ้าโรคมันยุติไม่กำเริบก็อาจจะต้องพักการทานยาไปตามภูมิเรา ถ้าภูมิเราแข็งแรงก็อยู่ได้โดยไม่ต้องทานยา แต่ถ้าวันไหนมันกำเริบขึ้นมาเราก็ต้องทานยา กลับไปนับ 1 ใหม่ตามภูมิเรา

วันไหนที่พี่รู้ว่าพี่รักภรรยามากกว่ากัน วันที่รู้ว่าจะเสียเขาไป หรือวันที่รู้ว่าเขาจะดีขึ้น?
สมจิตร : ผมว่าวันที่ดีขึ้น ผมว่าวันที่เหมือนจะเสีย ผมว่าทุกคนมันต้องจากกันอยู่แล้ว แต่วันที่ดีขึ้นรู้สึกว่าเราจะได้อยู่กันอีกยาว เขาดีขึ้น ความรักมันยิ่งมากขึ้น เพราะเราเห็นความทุกข์ เห็นเหมือนเราจะจากกัน เรารู้ใจกันแล้ว พอดีขึ้นเราต้องใส่ใจซึ่งกันและกัน ทุกครั้ง ทุกชั่วโมงเรียกพ่อๆ ผมก็ต้องช่วยตลอดทุกเวลา พอมัยดีขึ้นหมอก็เริ่มนัดทุกอาทิตย์ เป็นทุกเดือน เดือนละครั้ง ลดตัวยา แล้วต้องกินอันนี้เสริมนะ ผมก็พยายามหาให้เขากิน รู้สึกว่าได้ดูแลซึ่งกันและกันในยามทุกข์ยาก ถึงแม้ในยามที่เราดีขึ้น เราก็ต้องดูแลกันต่อไป รู้สึกว่ารักเขาขึ้นครับ

เด็กๆ ให้กำลังใจคุณแม่ยังไงบ้าง?
จันทร์เจ้า : บอกว่าหายไวๆ แล้วก็กินยาให้ครบทุกมื้อ
กำปั้น : ก็เหมือนที่น้องบอก ให้หายไวๆ กินยาให้ครบ แล้วรีบกลับมาที่บ้านครับ

วันที่เห็นแม่กลับบ้านวันแรกรู้สึกยังไง?
กำปั้น : วันนั้นรู้สึกดีใจมากครับ ที่แม่เรากลับมาได้แล้ว

ณ วันนี้อาการเป็นยังไงบ้าง?
อุ๋ม : ตอนนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 80-90 เปอร์เซ็นต์
สมจิตร : คุณหมอห้ามไปเจอคนเยอะๆ เพราะภูมิเขาอ่อน ตั้งแต่ออกจากโรงพยาบาลนี่เป็นรายการแรกที่ผมพาเขามา เพราะผมมั่นใจสุขภาพเขาดีขึ้น ทุกอย่างดีขึ้น ก็เลยได้มาพร้อมหน้า พร้อมตากันครั้งนี้

พี่ได้อะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง?
อุ๋ม : ได้เรียนรู้ว่าอะไรมันก็เกิดขึ้นได้ทุกอย่าง เราเหมือนประมาทตัวเองมาตลอด ทุกสิ่ง ทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้
สมจิตร : ผมเรียนความไม่ประมาทของชีวิตคนเรา เกิดขึ้นอยู่ แล้วก็ดับลงได้ แต่สิ่งที่เรามี ณ ปัจจุบัน อย่างช่วงนี้เป็นช่วงที่โควิดระบาดมา 2 ปี แล้วร่างกายก็มีปัญหาอีก ต้องรักษา ต้องพยาบาลอีก ทีนี้ผมเรียนรู้ตัวเราคือว่าในวันที่เราพอมีเงิน เราก็เก็บมันไว้ พอเราทุก เราเหนื่อย เราหาหมอก็ใช้เงินตรงนั้นแหละมาดูแลรักษา รู้สึกเลยว่าความไม่ประมาทในชีวิตสำคัญที่สุด มีสติในทุกๆ เรื่อง ความพอเพียงก็เป็นส่วนนึงที่เรานำมาใช้ ถึงแม้ยามลำบากเราก็ยังพออยู่ได้

ถ้าจำไม่ผิดพี่มีร้านโรตี ตอนนี้ยังเปิดอยู่ไหม?
สมจิตร : เปิดอยู่ ผมเปิดร้านครั้งแรกตอนช่วงมันระบาดรอบแรก สิ่งที่ลงทุนก่อนหน้านั้น ซื้อที่ ซื้ออะไรก็ลงไปเยอะ ก็มีปัญหาเรื่องนั้นอยู่

เห็นว่าธุรกิจอื่นพี่ปิดเลย เพราะไม่อยากให้พี่อุ๋มทำอะไร?
สมจิตร : หลังจากที่ป่วยช่วงมีนา-เมษา ทุกอย่างปิดหมดเลย ปิดค่ายมวย ปิดร้านทุกอย่าง เพราะเขาต้องดูแลร้าน ต้องดูแลยิม เดี๋ยวจะมีอันตรายกับตัวเขา ก็ต้องทำใจปิด ต้องยอมแลกครับ

แสดงว่าอินคำที่เข้ามาจากพี่สมจิตรจากการที่เราไปถ่ายหนัง ถ่ายละคร?
สมจิตร : ครับ แต่ตอนนี้ก็หยุดหมด ผมเองก็มีผลกระทบเหมือนทุกๆ คน เรื่องของวงการบันเทิง ออกถ่ายต่างจังหวัดไม่ได้  ก็ต้องหยุดมาปีกว่า เราก็ขาดรายได้ตรงนั้นไป สิ่งที่ผมไม่ประมาทก็คือซื้อที่เก็บไว้ ซื้อทองเก็บไว้ ก็ต้องเอามาใช้ เอามาขายในยามที่เราลำบาก

ยังไหวอยู่?
สมจิตร : ยังได้อยู่
น้องกำปั้นอายุ 20 ปี แต่สมองเท่ากับ 15 ปี พี่เริ่มสังเกตอาการลูกตอนไหน?
อุ๋ม : ตอนอายุประมาณ 9-10 ขวบ เรามองลูกฉีกกระดาษจากแผ่าน A4 จากแผ่นใหญ่ๆ ก็นั่งฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ เขาจะฉีกเล่น ไม่เคยร้องเอาของเล่น เราก็เอ๊ะ…ลูกเราเป็นอะไร ตามวัยไม่เคยมีอยากได้ของเล่นเลย เราก็เห้ย ผิดปกติแล้วข้อนี้ ข้อแรก ข้อที่2 เริ่มนั่งฉีกกระดาษเล่น เราก็บอกพี่จิตรกำปั้นน่าจะแปลกๆ แล้ว
สมจิตร : ดูทีวีเขาก็จะดูอะไรซ้ำๆ ก็เลยพาไปหาหมอ เพราะผมมองว่าเขามีเรื่องผิดปกติทางความคิดอะไรสักอย่าง
อุ๋ม : ไปหาคุณหมอจิตเวช ก็ไปตรวจ คุณหมอก็มีวิธีการตรวจของเขา ผลออกมาว่า น้องมี ไอคิวสมอง ช้ากว่าอายุจริง4-5 ปี แต่อีคิวสูง ไอคิวต่ำ เราบอกเราต้องรักษายังไง คุณหมอบอกไม่ต้องทานยา แต่ว่าบำบัติโดยการที่เราต้องคุยกับเขาบ่อยๆ ต้องอยู่กับเขา ให้เวลาเขา
สมจิตร : เด็กสมาธิสั้นมีอยู่ 2 ประเภท คือ ก้าวร้าว รุนแรง อีกประเภทก็จะอยู่คนเดียวเงียบๆ ไม่ก้าวร้าว

เห็นบอกว่าสาเหตุมาจากตอนที่น้องเล็กๆ เข้ารับการผ่าตัดด้วย?
สมจิตร : ตอน 3 เดือนเขาเป็นไส้เลื่อน
อุ๋ม : เป็นตั้งแต่เกิดเลย
สมจิตร : 3 เดือนเรามาสังเกตว่าลูกเราร้องงอแงมาก แล้วเวลาร้องไส้มันจะเลื่อนออกมา ผมก็เอามือดันตรงไข่ ช่องท้อง ดันไปมันก็หายเข้าไป เขาก็หยุดร้อง วันดี คืนดีก็ร้องอีก มันก็เป็นอีก ผมก็เอามือดันหายเข้าไปอีก สุดท้าย 3 เดือนพาไปหาหมอ หมอต้องรมยา เพื่อผ่าตัด เขาดูอาการเด็กก่อนว่าเด็กแข็งแรงไหม โอเคกำปั้นแข็งแรงก็ดมยา วันนั้นมี 2 คนที่ไปผ่าตัดคู่กันเลย อีกคนนึงเป็นเจ้าชายนิทรา  กำปั้นฟื้น แต่เขาก็ช้าตั้งแต่วันนั้นมา ผมก็เลยคิดว่าเกิดจากตอนผ่าตัดไหม หรืออาจจะเป็นตัวเขาเอง

โรคนี้สามารถรักษาได้ไหม?
อุ๋ม : ไม่ได้
สมจิตร : เขาเป็นสมาธิสั้น มันจะมีพรสวรรค์บางสิ่ง บางอย่าง รักษาคงไม่รักษาหรอก อะไรที่เขาชอบปล่อยให้เขาทำไป แต่ความคิดเขาอาจจะช้าหน่อย แต่การใช้ชีวิตกับสังคม เขามองสังคมดี คุยกับคนโตรู้เรื่องทุกอย่าง แต่เพียงแค่การเรียนแค่นั้นเองที่มันช้า

ตั้งแต่เราโตมากับโรคนี้ มันทำให้ชีวิตเรามีอุปสรรคไหมในการใช้ชีวิต?
กำปั้น : ไม่มีปัญหาในการใช้ชีวิตนะครับ คือเราใช้ชีวิตในแบบที่เราเป็น แล้วก็ใช้ชีวิตในแบบที่เราเข้าใจครับ

กำปั้นรู้ตัวเองไหมว่าชอบทางไหน?
กำปั้น : รู้ครับ เป็นแนวร้องเพลงกับนักแสดง

เวลาเราไปโรงเรียน เพื่อนๆ มีพูดอะไรกับเราบ้างไหม?
กำปั้น : น่าจะเคยมีนะครับ แต่ผมจำไม่ได้แล้ว น่าจะเด็กมาก แต่ผมก็ไม่ได้คิดอะไร เพื่อนก็มีแกล้งบ้าง เราก็มีแกล้งกลับบ้าง    

โควิดหนักไหม?
สมจิตร : หนักครับ ผมสร้างร้าน เงินที่ลงร้าน เงินที่ซื้อที่ ก็ต้องขายที่ที่เรามีเล็กๆ แล้วก็ทอง  2 อย่าง

เงินไปลงทุนกับร้านเท่าไหร่?
สมจิตร : รอบหลังมี 2-3 ล้าน รอบแรกไปเช่าเขา แล้วเราต้องย้ายมาอยู่กับที่เราเอง ต้องรื้อถอนย้าย มาก่อสร้างใหม่อีก
อุ๋ม : ซื้อที่ใหม่ด้วย

เปิดมาปุ๊บเจอโควิดเลย?
สมจิตร : เจอ แต่ก็ต้องมาปลูกสร้างใหม่ ที่ก็ซื้อไปล็อตนึงแล้ว ก็หมดไปแล้ว สร้างใหม่ก็ต้องเริ่มต้นใหม่ ซึ่งตอนนี้ยิมมวยปิด เปิดร้านโรตี

ช่วงปลายโควิดร้านโรตีขายได้ไหม?
สมจิตร : พอได้ๆ
ติดตามชมรายการคุยแซ่บShow ทุกวันจันทร์-วันศุกร์  เวลา13.05-14.05 น. ทางช่อง one31 Facebook Page : คุยแซ่บShow รับชมย้อนหลังได้ที่ Youtube Channel : Orange Mama


คลิปสัมภาษณ์ สมจิตร จงจอหอ และ ครอบครัว

About Author